สกพอ.ลุยแผนฟีดเดอร์ เชื่อมรถไฟความเร็วสูง
การขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ดำเนินมาครบ 2 ปี และถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่นโยบายนี้จะได้รับการขับเคลื่อนต่อ และได้เตรียมแผนงานสำหรับการขับเคลื่อนหลังจากนี้แล้ว
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า อีอีซีถูกกำหนดแผนงานที่กำหนดไว้ 4 ระยะ ได้ดำเนินการผ่านระยะที่ 1 การออก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีการประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2561
ระยะที่ 2 การผลักดันโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 5 โครงการ ซึ่งมี 2 โครงการ ที่เตรียมเข้าสู่การลงนาม คือ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ซึ่งคณะรัฐนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี)
2.โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ซึ่งจะมีการลงนามระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีทีแทงก์ โดยทั้ง 2 โครงการ จะเรียบร้อยภายในเดือน ส.ค.นี้
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้กำหนดให้ผู้ชนะประมูลเป็นผู้กำหนดที่ตั้งสถานีสถานีรถไฟความเร็วสูง ตั้งแต่สถานีฉะเชิงเทรา ชลบุรี พัทยาและศรีราชา ส่วนสถานีต้นทางจากดอนเมือง-สุวรรณภูมิใช้โครงสร้างของแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ อยู่แล้ว
การกำหนดให้เอกชนเป็นผู้เลือกที่ตั้งสถานีเพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งเอกชนจะเลือกที่ตั้งสถานีที่ใกล้ชุมชนเป็นหลัก แต่ประชาชนในชุมชนที่รถไฟความเร็วสูงต้องเข้าถึงได้ ซึ่งกำหนดให้มีระบบฟีดเดอร์เป็นระบบขนส่งมวลชนรองเพื่อขนคนเข้าสู่ระบบรถไฟความเร็วสูง โดยมีการกำหนดไว้หลายรูปแบบ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้าโมโนเรล รถไฟฟ้ารางเบาระดับพื้นดิน (แทรม) และหลังจากนี้จะมากำหนดรูปแบบว่าใครจะเป็นผู้ลงทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรอง
ขณะนี้มีข้อเสนอจากเมืองพัทยาให้มีการสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลหรือแทรมเป็นระบบขนส่งรอง เพื่อเชื่อมตัวเมืองพัทยากับสถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา ในขณะที่มีข้อเสนอให้มีการลงทุนรถไฟฟ้าโมโนเรลเข้าจากสถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภาเข้าไปตัวเมืองระยอง ระยะทาง 20-30 กิโลเมตร กำหนดสถานีรถไฟฟ้าโมโนเรลไว้ 4 สถานี
ทั้งนี้ ภาครัฐประเมินว่าระบบขนส่งมวลชนรองจะใช้งบประมาณไม่มาก เพราะเทคโนโลยีการก่อสร้างรถไฟฟ้ามีความก้าวหน้ามาก โดยบริษัท BYD ที่สนใจมาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย และเป็นบริษัทที่เข้าไปลงทุนสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลในหลายประเทศ และมีการประเมินต้นทุนการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลขณะนี้ถูกกว่ารถไฟฟ้าใต้ดินถึง 3 เท่า
ส่วนโครงการที่มีปัญหามี 2 โครงการ คือ 1.โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีปัญหาผู้ยื่นซองประมูลลงนามเอกสารไม่ถูกต้อง 2.โครงการสนามบินอู่ตะเภาเมืองการบินภาคตะวันออก มีปัญหาผู้ยื่นซองประมูลส่งเอกสารบางส่วนช้ากว่าเวลากำหนด และปัญหาของทั้ง 2 โครงการ นำมาสู่การร้องศาลปกครองกลางเพื่อยุติข้อขัดแย้งระหว่างผู้ยื่นซองกับคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน
“หากคณะกรรมการคัดเลือกฯ อะลุ่มอล่วยจะทำให้ผู้ประมูลอีกรายฟ้องได้ ทางออกที่ดีที่สุด คือ การยืนตามหลักเกณฑ์การประมูล”
สกพอ.ได้เตรียมแผนขับเคลื่อนในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ซึ่งมีแผนงานที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ 1.การผลักดันการพัฒนาด้านสาธารณสุข ชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงแผนการพัฒนาเมืองหรือสมาร์ทซิตี้ ซึ่งต้องมีการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชนมากขึ้น
2.การประกาศใช้ผังเมืองรวมอีอีซีภายในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำเสร็จแล้ว และเตรียมเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่จะแต่งตั้งขึ้นใหม่หลังการจัดตั้งรัฐบาล แต่ยังคงมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเช่นเดิม
3.การชักจูงการลงทุนภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยกลุ่มนักลงทุนที่จะดึงเข้ามาลงทุนจะมีทั้ง นักลงทุนญี่ปุ่น ที่เคยเข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในอีอีซีแล้วในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา ในขณะที่ นักลงทุนยุโรป ที่สนใจย้ายฐานการลงทุนจากจีนมาไทย ซึ่ง สกพอ.จะเน้นดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงและอากาศยาน
ในขณะที่ นักลงทุนจีน ที่จะดึงเข้ามามีเป้าหมายต้องไม่น้อยกว่านักธุรกิจญี่ปุ่นในช่วง 5 ปี ข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันนักธุรกิจจีนได้รับแรงกดดันให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศจึงเป็นโอกาสดีที่จะดึงมาลงทุนในไทย โดยที่ผ่านมา สกพอ.ได้ไปทำข้อตกลงร่วมมือการลงทุนรายมณฑล เช่น มณฑลเจิ้งโจวที่มีเมืองอุตสาหกรรมการบินขนาดขนาดใหญ่
เมื่อนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนจะมาพร้อมกับซัพพลายเชนเป็น 100 บริษัท ซึ่ง สกพอ.ได้ประสานให้นิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี เพื่อให้จัดเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนของนักธุรกิจจีน ซึ่งบริษัทอมตะ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ได้จัดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจีนไว้รองรับ ในขณะที่บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) เตรียมนิคมอุตสาหกรรมรองรับนักลงทุนจีนที่ จ.ระยอง
นักธุรกิจจีนที่จะดึงเข้ามาลงทุนจะเน้นอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูง ซึ่งบริษัทจีนในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนามาก โดยบริษัทหัวเว่ยมีงบประมาณลงทุนถึง 16% ของรายได้ และไทยก็ต้องการให้บริษัทหัวเว่ยเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่เน้นการนำสินค้ามาขายในไทย
นอกจากนี้ สกพอ.ได้หารือกับเผิง ฉุน ประธานบริษัท China Investment Corporation (CIC) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) ของจีนที่นำเอาเงินทุนสำรองของจีนออกมาบริหาร โดยมีเงินตั้งต้น 2 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 6 ล้านล้านบาท ปัจจุบันมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็น 8 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 24 ล้านล้านบาท และสนใจมาลงทุนในอีอีซี
รวมทั้งปัจจุบัน CIC มีการลงทุนที่หลากหลายทั้งการร่วมลงทุนกับบริษัทต่างๆ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์