‘อินเดีย’ เจ้าอวกาศโลว์คอสต์
อินเดียเดินหน้าลุยแข่งขันด้านอวกาศกับนานาชาติ ด้วยการเปิดตัวภารกิจต้นทุนต่ำ หวังเป็นประเทศที่ 4 ที่ส่งยานขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์
วันจันทร์ที่ 15 ก.ค. หรือ 5 วันก่อนครบรอบ 50 ปี มนุษย์คนแรกขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ อินเดียจะปล่อยจันทรายาน 2 ที่สร้างมานานนับ 10 ปี ออกจากเกาะนอกชายฝั่งรัฐอันตรประเทศ
นี่ไม่ใช่แค่การปล่อยยานสำรวจดวงจันทร์ธรรมดา แต่ยังตอกย้ำว่าการเดินทางไปในอวกาศก้าวหน้าไปมากขนาดไหน นับตั้งแต่นีล อาร์มสตรองเป็นมนุษย์คนแรกที่ไปเดินบนดวงจันทร์ด้วยยานอะพอลโล 11
อินเดียใช้งบประมาณราว 140 ล้านดอลลาร์ สร้างจันทรายาน 2 สำหรับปฏิบัติภารกิจระยะทาง 354,400 กิโลเมตร จากศูนย์อวกาศสาทิสตะวัน มีกำหนดไปลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ในวันที่ 6 ก.ย.
สหรัฐนั้นใช้งบฯ ราว 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ กับภารกิจของยานอะพอลโล 15 ครั้ง รวมถึงการนำอาร์มสตรองและนักบินอวกาศคนอื่นๆ ไปดวงจันทร์ 6 ครั้ง เทียบเป็นเงินปัจจุบันอยู่ที่กว่า 1 แสนล้านดอลลาร์
ขณะที่จีนส่งยานฉางเอ๋อ 4 ไปลงดวงจันทร์เมื่อเดือน ม.ค.ใช้งบฯกับโครงการอวกาศตลอดโครงการเมื่อปี 2560 จำนวน 8.4 พันล้านดอลลาร์
ส่วนรัสเซีย ประเทศแรกที่ส่งจรวดไร้มนุษย์ไปลงดวงจันทร์ เมื่อปี 2509 ใช้เงินกับภารกิจสำรวจดวงจันทร์ระหว่างทศวรรษ 60-70 คิดเป็นมูลค่าเงินในปัจจุบันที่กว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์
สำหรับจันทรายาน 2 ทั้งยานอวกาศ ยานจอด และยานสำรวจ เกือบทั้งหมดล้วนออกแบบและผลิตในอินเดีย โดยจะใช้ฐานยิงจรวด “จีเอสแอลวี เอ็มเค 3” ที่ทรงพลังที่สุด ปล่อยยานอวกาศหนัก 2.4 ตัน ระยะเวลาใช้งานราว 1 ปี
ยานอวกาศลำนี้บรรทุกยานจอด “วิกรม” หนัก 1.4 ตัน รองรับยานสำรวจ “ปรักยาน” หนัก 27 กิโลกรัม ไปสู่ที่ราบสูงระหว่างสองหลุมใหญ่บนขั้วใต้ของดวงจันทร์
เค สิวัน ผู้อำนวยการองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ไอเอสอาร์โอ) กล่าวว่า ช่วง 15 นาทีสุดท้ายที่ยานวิกรมละระดับลงมา “เป็นช่วงเวลาที่ลุ้นระทึกที่สุด เพราะเราไม่เคยทำภารกิจที่ซับซ้อนเช่นนี้มาก่อน”
ยานสำรวจพลังงานแสงอาทิตย์ลำนี้สามารถเดินทางได้ถึง 500 เมตร และคาดว่าจะทำงานได้นาน 1 วันของดวงจันทร์หรือเทียบเท่า 14 วันของโลก ยานจะสำรวจหาสัญญาณของน้ำ และฟอสซิลที่บ่งบอกถึงระบบสุริยะในยุคแรกๆ
แม้งบประมาณโครงการจะไม่มากมาย แต่ก็มีคำถามว่าโครงการดวงจันทร์จะหางบฯ มาจากไหน ก็ในเมื่ออินเดียยังต้องต่อสู้กับปัญหาความยากจนหิวโหย
แต่เมื่อเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ประกาศกร้าวจะส่งมนุษย์สู่อวกาศให้ได้ภายในปี 2565
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มองว่าเดิมพันด้านภูมิรัฐศาสตร์ไม่สำคัญกับอินเดียเท่ากับว่า โมเดลโลว์คอสต์ของอินเดียจะทำให้หลายๆ ประเทศสนใจดาวเทียมเชิงพาณิชย์จากแดนภารตมากขึ้น
“คำถามพื้นๆ ที่เราต้องถามตัวเองตอนนี้ไม่ใช่ถามว่า อินเดียควรทำโครงการอวกาศที่ยากเย็นหรือไม่ แต่ต้องถามว่าอินเดียจะทิ้งมันไปได้หรือไม่” เค คัสตุริรังกัน อดีต ผอ.ไอเอสอาร์โอกล่าวและว่า อินเดียต้องตั้งเป้าเป็นผู้นำอวกาศ
ด้านราเชษวารี พิลลาอี ราชโกปาลาน หัวหน้าฝ่ายนโยบาย จากมูลนิธินักสังเกตการณ์วิจัย กลุ่มคลังสมองในกรุงนิวเดลี กล่าวว่า จันทรายาน 2 จะยิ่งเสริมสร้างชื่อเสียงของชาติ “ในช่วงที่โลกโดยเฉพาะชาติเอเชียแข่งกันทำโครงการอวกาศเข้มข้นขึ้นทุกที”
อมิตาภา โกช นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการสำรวจดาวอังคารของนาซา กล่าวว่า ประโยชน์ที่ได้จากจันทรายาน 2 นั้นมากมายมหาศาลเมื่อเทียบกับต้นทุน
“ภารกิจอันซับซ้อนของจันทรายาน 2 สื่อความว่า อินเดียมีความสามารถทำเทคโนโลยียากๆ ให้เป็นจริงได้”
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนแย้งว่าหากใครต้องการไปอวกาศแบบราคาถูก ก็ให้นึกถึงความสะดวกสบายในการนั่งเครื่องบินโลว์คอสต์
สก็อต ฮับบาร์ด อดีตหัวหน้านักวิจัยนาา ปัจจุบันทำงานที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เคยทดสอบประสิทธิผลเทียบกับต้นทุนระหว่าง “มังคลายาน” ยานสำรวจดาวอังคารของอินเดียกับยานมาเวนของสหรัฐ ที่ปล่อยยิงในปี 2556 เหมือนกัน ยานมาเวนแพงกว่าถึง 10 เท่าแต่มังคลายานถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้เพียง 1 ปีเท่านั้น
“ภารกิจของสหรัฐต้องใช้เวลา 2 ปี ดังนั้นต้นทุนจึงแตกต่างกันมาก” ฮับบาร์ดให้ความเห็น อีกทั้งมังคลายานบรรทุกได้ 15 กิโลกรัม ขณะที่มาเวนบรรทุกเครื่ื่องมือได้ซับซ้อนกว่า และหนักถึง 65 กิโลกรัม
“ลองคิดดูแล้วกันว่าคุณจะจ่ายกับอันไหน” ผู้เชี่ยวชาญสรุป