กสทช.ฟื้นไอเดียเก็บภาษี“โอทีที”
ชงเข้าที่ประชุมเรกูเลเตอร์อาเซียนหาข้อสรุป
กสทช.คาดที่ประชุมเอทีอาร์ซีเตรียมร่วมพิจารณาแนวทางจัดเก็บรายได้จากโอทีที หลังแนวคิดในไทยเสนอไปก่อนหน้านี้ยังไร้วี่แววได้ข้อยุติ เนื่องจากโอเปอเรเตอร์ชี้เก็บได้ยาก ล่าสุดกระทรวงการคลัง ผุดแนวคิดตั้งเกตเวย์กลางร่วมระหว่างทุกประเทศ ทำหน้าที่บันทึกข้อมูล และหักรายได้ที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บเป็นรายได้รัฐของแต่ละประเทศ
นายสืบศักดิ์ สืบภักดี กรรมการสมาคมโทรคมนาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การประชุมผู้นำหน่วยงานกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน (ASEAN Telecommunication Regulator’s Council :ATRC ) โดยสำนักงานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในวันที่ 19 ส.ค.2562 ได้กำหนดหัวข้อในการประชุมเน้นไปที่กิจการโอเวอร์ เดอะ ท๊อป (โอทีที) โดยได้เชิญผู้ให้บริการเครือข่าย (เน็ตเวิร์ก โพรวายเดอร์) และผู้ให้บริการโอทีที มาหารือประเด็นปัญหา ความท้าทาย อุปสรรค และโอกาส ที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของโอทีทีในภูมิภาคอาเซียน และเมื่อพิจารณาหัวข้อที่ผู้จัดแจ้งผู้เข้าร่วมประชุม คาดว่าจะมีการนำประเด็นการพิจารณาจัดเก็บรายได้จากกิจการโอทีทีขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในการแสวงหาข้อยุติ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแนวคิดในการจัดเก็บรายได้จากกิจการโอทีทีที่เสนอขึ้นมาหลายแนวทาง แนวทางแรกคือการให้บริษัทผู้ให้บริการโซเชี่ยลมีเดีย และกิจการโอทีที มาลงทุนเปิดบริษัทในประเทศไทยโดยถือหุ้นในอัตรา 51% แนวคิดที่สอง ถูกเสนอโดยกสทช.ที่ให้จัดเก็บรายได้โดยคำนวณจากปริมาณข้อมูลที่วิ่งผ่านอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ โดยทั้งสองแนวคิดไม่ได้รับการยอมรับแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นแนวทางที่ปฎิบัติได้ยาก และแนวคิดล่าสุดที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง ด้วยการตั้งเกตเวย์กลางร่วมระหว่างทุกประเทศในอาเซียน เมื่อผู้ใช้บริการต้องการชำระค่าบริการให้ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียหรือผู้ให้บริการโอทีที จะต้องมาชำระผ่านเกตเวย์กลาง โดยเกตเวย์จะทำหน้าที่ในการบันทึกข้อมูล และหักรายได้ที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บส่วนหนึ่งเป็นรายได้เข้ารัฐของแต่ละประเทศ ซึ่งหากที่ประชุมมีความเห็นตรงกันเลือกแนวทางที่จะดำเนินการกับกิจการโอทีที จะเป็นข้อสรุปความร่วมมือในการจัดเก็บรายได้จากโอทีที ในทิศทางเดียวกันและปฎิบัติเหมือนกันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน แต่หากยังไม่ได้ข้อยุติหรือที่ประชุมเห็นไม่ต้องกันก็จะได้ความชัดเจนที่แต่ละประเทศจะต้องไปหารือกับรัฐบาลของตัวเพื่อดำเนินการต่ออย่างใดอย่างหนึ่งกับกิจการโอทีท่ี
นายสืบศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากประเด็นที่ผู้จัดงานส่งมาที่ต้องการหารือรือถึง การส่งเสริมธุรกิจให้บริการโอทีทีให้มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคม และผู้ให้บริการด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ , การคุ้มครองผู้บริโภค , ผลกระทบจากการส่งเสริมทางเศรษฐกิจผ่านบริการโอทีที และการจัดทำความร่วมมือระหว่างกัน เชื่อว่าน่าจะมีการพูดคุยเพื่อให้เห็นทิศทางที่ชัดเจนของการจัดเก็บรายได้จากกิจการโอทีที ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องดีที่จะมีความชัดเจนในประเด็นนี้ แม้ว่าในการปฎิบัติจะได้รับการยอมรับหรือไม่ก็ตามก็ถือว่ารัฐบาลและผู้กำกับดูแลของแต่ละประเทศได้มีความพยายามที่จะหากโซลูชั่นที่เหมาะสมให้กับประเทศแล้ว
อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. เคยให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า ประเทศไทยจะเสนอให้จัดเก็บภาษีกิจการโอทีที ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนิติบุคคล ซึ่งควรต้องมีการจัดเก็บภาษีโอทีทีทุกประเทศในอาเซียน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ในการหลอมรวมเทคโนโลยีกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม สู่แพลตฟอร์มออนไลน์ รูปแบบใหม่ๆ ซึ่งยังไม่ได้มีการจัดเก็บ ภาษี ดังนั้น ไทยจึงไม่ได้ประโยชน์ในการนำเงินมาพัฒนาประเทศ เพราะแพลตฟอร์มขนาดใหญ่มาจากผู้ให้บริการต่างประเทศ จึงควรมีการกำกับท่าทีและแนวทางการในดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม