แนะผู้สูงอายุออกกำลังกายสมองป้องกันสมองเสื่อม
สถาบันเวชศาสตร์ฯ ผู้สูงอายุ แนะผู้สูงอายุออกกำลังกายสมองป้องกันสมองเสื่อม
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โดยปกติเซลล์ประสาทของมนุษย์มีการเจริญเติบโตจนถึงอายุ 5 - 6 ปี หลังจากนั้นจะไม่มีการเพิ่มจำนวนของเซลล์ประสาท แต่สามารถเพิ่มจำนวนของแขนงเซลล์ประสาทได้ตลอดชีวิต ทำให้มีการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทมากขึ้น แขนงเหล่านี้ทำหน้าที่ในการรับและส่งสัญญาณประสาทไปยังเซลล์ต่างๆ รอบเซลล์ประสาทเพื่อให้การทำงานของสมองเป็นไปตามปกติ การเพิ่มจำนวนของแขนงเซลล์ประสาทเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ ถ้าเรามีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากขึ้น จะมีการแตกแขนงของเซลล์ประสาทมากขึ้น ถ้าเรามีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ไม่ทำอะไรซ้ำซาก จะเป็นการกระตุ้นให้สมองมีการแตกกิ่งก้านสาขาเพิ่มขึ้น การทำงานของสมองจะดีขึ้น ดังนั้นผู้สูงอายุสามารถป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ด้วยการหมั่นออกกำลังกายสมองเพื่อกระตุ้นการทำงานของสมอง
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุต้องหมั่นออกกำลังกายสมองเพื่อกระตุ้นการทำงานของสมอง โดยวิธีการออกกำลังสมองแบบง่ายๆ ได้แก่ 1)ถ้าอยู่บ้านลองเปลี่ยนความเคยชินในการรับข้อมูลจากประสาทสัมผัสเดิมๆ เป็นการใช้ประสาทสัมผัสในด้านอื่น เช่นหลับตาแล้วใช้มือคลำวัตถุว่าเป็นอะไร เพื่อกระตุ้นประสาทในส่วนสัมผัส สลับกิจกรรมที่เคยทำเป็นประจำตั้งแต่ตื่นนอน เช่น จากที่อาบน้ำก่อนกินข้าวเปลี่ยนเป็นกินข้าวก่อนอาบน้ำ จะทำให้สมองใช้พลังงานในการทำสิ่งใหม่ๆมากกว่าตอนที่ทำกิจกรรมเดิมๆ 2)ระหว่างเดินทางให้บริหารสมอง โดยไม่เปิดแอร์แต่เปิดกระจกขณะขับรถ เลือกบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ เพื่อเชื่อมโยงประสาทรับกลิ่นและเสียงภายนอกให้ทำงานประสานกันมากขึ้น เปลี่ยนเส้นทางกลับบ้านหรือเปลี่ยนวิธีการเดินทาง เพราะวิวทิวทัศน์ กลิ่นและเสียงของเส้นทางใหม่จะช่วยกระตุ้นสมองให้สร้างแผนที่เส้นทางชุดใหม่ขึ้นในสมอง เป็นการเพิ่มการทำงานของสมองให้มากกว่าปกติ 3)ขณะทำงานสามารถฝึกสมองได้ โดยเปลี่ยนตำแหน่งสิ่งของบนโต๊ะทำงานเพื่อสร้างภาพใหม่ๆในสมอง เพิ่มการทำงานของสมองให้มากขึ้น เพราะไม่คุ้นชินทำให้สมองต้องเรียนมากขึ้น พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานใหม่หรือคนที่ไม่ค่อยคุยด้วย โดยจำใบหน้า น้ำเสียง หรืออุปนิสัยส่วนตัว เพื่อเติมข้อมูลใหม่ๆให้กับสมอง ทั้งนี้รวมถึงการชวนเพื่อนร่วมงานถกเถียง อภิปรายหรือพูดคุยในประเด็นที่ไม่เคยพูด เพื่อเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ นอกจากนี้ ควรหากิจกรรมสนุกๆทำเพื่อพัฒนาสมองทั้งซีกขวาและซีกซ้าย เช่น วาดรูป สเก็ตช์ภาพต่างๆ จะเป็นการฝึกด้านจินตนาการให้กับสมอง ทำงานฝีมือ หรือประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ฟังเพลงภาษาต่างๆ เพื่อฝึกความสามารถด้านภาษาของสมองเพิ่มเติม หรือแม้แต่การเล่นปริศนาอักษรไขว้