สวยใสด้วยเครื่องสำอางเกาหลี (เหนือ)
ขณะที่ “โคเรียนแคร์” ร้านขายสินค้าเกาหลีใต้ออนไลน์อีกเจ้าหนึ่งในรัสเซียเริ่มนำเข้าผลิตภัณฑ์ความงามจากโสมแดง สั่งตรงจากกรุงเปียงยางตั้งแต่ปีก่อน พุ่งเป้าไปที่กลุ่มลูกค้าหญิงชาวรัสเซีย ที่ตอนนี้มีกว่า 10,000 คนแล้ว
เครื่องสำอางเกาหลีใต้ได้รับความนิยมเทียบเท่าแบรนด์ฝรั่งมานานหลายปี กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกาหลีเหนือต้องการให้ผู้หญิงชนชั้นกลางในประเทศตน เลือกเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศ แทนที่จะไปนิยมใช้แบรนด์นอก เพื่อเพิ่มการพึ่งพาตนเองในช่วงที่ประเทศถูกนานาชาติคว่ำบาตรอย่างหนัก
เกาหลีเหนือใช้การโปรโมตเครื่องสำอางเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองมาตั้งแต่ยุคคิม อิล ซุงก่อตั้งประเทศ แต่พอมาถึงผู้นำรุ่นหลานอย่าง “คิม จองอึน” ผู้มีดีกรีนักเรียนนอก เขายิ่งให้ความสำคัญกับกลยุทธ์นี้มากขึ้น
ชาวเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์และเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านโสมแดงเผยว่า ยิ่งระยะหลังเทรนด์ความงามแบบเกาหลีใต้ได้รับความนิยมในต่างประเทศ เกาหลีเหนือยิ่งพยายามแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากคุณภาพ และหาส่วนผสมจากต่างประเทศไม่ได้เพราะประเทศถูกคว่ำบาตรจากโครงการนิวเคลียร์
แม้แต่คิม จองอึน ก็เคยบ่นอุบเรื่องเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศ
“อายไลเนอร์หรือมาสคาร่าแบรนด์ต่างประเทศ ติดทน โดนน้ำก็ไม่หลุด แต่ของเราแค่หาวก็เลอะเป็นตาแร็กคูนแล้ว”หนังสือพิมพ์โชซอน ซินโบ ในญี่ปุ่นรายงานอ้างคำพูดคิม ขณะเยือนโรงงานเครื่องสำอางในกรุงเปียงยาง เมื่อปี 2558
แต่หลังจากนั้นเขาควงคู่ภริยาตระเวนเยี่ยมโรงงานเครื่องสำอางหลายครั้ง เพื่อโปรโมทสินค้า ปีนี้สถานีโทรทัศน์เคอาร์ทีเผยแพร่ภาพประชาสัมพันธ์ เครื่องสำอางของเปียงยางคอสเมติกส์แฟคทอรี เนื้อหาในวีดิโอกล่าวถึงหญิงคนหนึ่งที่เลิกใช้แบรนด์ชาเนล หันมาใช้แบรนด์เกาหลีเหนือแทน
“ชาวต่างประเทศในเกาหลีเหนือมาซื้อของที่ร้านเราหลายคน แผ่นมาสก์หน้า ลิปสติก และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดขายดีมาก”ยาง ซูจงผู้ช่วยพนักงานขายที่เปียงยางคอสเมติกส์แฟคทอรีกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์
รอยเตอร์สอบถามไปยังชาเนลได้คำตอบว่า บริษัทไม่เคยส่งสินค้าไปขายยังเกาหลีเหนือ สินค้าที่ขายที่นั่นน่าจะเป็นของปลอมหรือของเลียนแบบ
สุภาพสตรีต้นแบบ
เกาหลีเหนือควบคุมภาพลักษณ์พลเมืองมานานแล้วสมัยคิม จอง อิล ห้ามทำสีผม สวมกางเกงยีนส์ และเสื้อผ้าสกรีนภาษาอังกฤษอย่างเด็ดขาด เพื่อพยายามขจัดอิทธิพลตะวันตกต่อดินแดนโดดเดี่ยวแห่งนี้แต่หลายสิ่งเปลี่ยนไปเมื่อคิม จองอึนขึ้นสู่อำนาจในปี 2554 และเริ่มออกงานสังคมคู่กับ “รี ซอลจู” ศรีภริยาอดีตนักร้องวงออเคสตรา
นัม ซงวุกอาจารย์ด้านเกาหลีเหนือศึกษา มหาวิทยาลัยเกาหลี กล่าวว่า สุภาพสตรีหมายเลข 1 ที่ยังสาวใส ไว้ผมสั้น สวมสูทสีสันสดใส บ่งบอกถึงความปรารถนาแสดงตัวตนในสังคมเกาหลีเหนืออันเคร่งเครียด
“สุภาพสตรีหมายเลข 1 ไม่เคยมีบทบาทในยุคคิม จองอิล แต่ถึงยุคคิม จองอึน บทบาทของรี ซอลจูโดดเด่นขึ้น ทำให้รัฐบาลสนใจเครื่องสำอางมากกว่าเดิม”
คัง นาราผู้แปรพักตร์อีกหนึ่งคน เล่าว่า เคยซื้อเครื่องสำอางเกาหลีใต้จากตลาดเอกชนที่เรียกว่า “จังมาดัง” มาใช้ ตลาดแบบนี้คือกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจระบบตลาดแบบไม่เป็นทางการ
“ตอนอยู่เกาหลีเหนือ ฉันอยากแต่งหน้าสไตล์เดียวกับไอดอลเคป็อบมากๆ เลย” เจ้าตัวยอมรับ
วันนี้ผู้หญิงโสมแดงได้แรงบันดาลใจให้แต่งตัวตามแนวสุภาพสตรีหมายเลข 1 หรือ วงโมรันบง เกิร์ลกรุ๊ปสไตล์เคป็อบ
“เกาหลีเหนือเป็นสังคมที่ยังเข้มงวดอยู่มาก สไตล์การแต่งกายจึงมีจำกัด เลือกได้แค่แต่งตามรี ซอลจู หรือโมรันบงเท่านั้น ”คัง วัย 21 ปี ที่หนีมาแดนโสมขาวเมื่อปี 2557 เล่า ตอนนี้เธอทำรายการในช่องยูทูบ แชร์เคล็ดความงามและวัฒนธรรมเกาหลีเหนือ
สื่อรัสเซียรายงานว่า เปียงยางคอสเมติกส์แฟคทอรี ส่งสินค้าแบรนด์ “อึนฮาซู” ชุดแรกไปยังบูติกใหม่ในกรุงมอสโก เมื่อเดือน พ.ค.
ขณะที่ “โคเรียนแคร์” ร้านขายสินค้าเกาหลีใต้ออนไลน์อีกเจ้าหนึ่งในรัสเซียเริ่มนำเข้าผลิตภัณฑ์ความงามจากโสมแดง สั่งตรงจากกรุงเปียงยางตั้งแต่ปีก่อน พุ่งเป้าไปที่กลุ่มลูกค้าหญิงชาวรัสเซีย ที่ตอนนี้มีกว่า 10,000 คนแล้ว
โคเรียนแคร์ เผยว่าจุดขายของผลิตภัณฑ์เกาหลีเหนือคือส่วนผสมจากธรรมชาติ ใส่สารกันบูดน้อยมาก
“ฉันชอบเครื่องสำอางใหม่ๆ ทุกชนิด ที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็เพราะเป็นสินค้าเกาหลีเหนือ แถมคุณภาพก็น่าพึงพอใจมาก”มาร์การิตา คิเซลโยวาลูกค้ารัสเซียวัย 45 ปีเผยความประทับใจ เธอมาซื้อมอยส์เจอไรเซอร์สูตรอโลเวรา และครีมลดเลือนริ้วรอย
อย่างไรก็ตาม นัม ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาเกาหลี และ “อะมอร์แปซิฟิก” บริษัทเครื่องสำอางชั้นนำจากเกาหลีใต้ ทดสอบสินค้าเกาหลีเหนือ 64 ชนิด พบปัญหาในสินค้า 7 ชนิด เช่น พบส่วนผสมที่อาจเป็นอันตราย ทั้งเมทิลพาราเบน, โพรพิลพาราเบน และทัลก์ แต่อะมอร์แปซิฟิกไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องการทดสอบ
เปียงยางคอสเมติกส์แฟคทอรีชี้แจงว่า การผลิตอึนฮาซูได้ใบรับรองมาตรฐานองค์การระหว่างประเทศ (ไอเอสโอ) และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียน (อีอียู) ที่มีรัสเซียเป็นแกนนำแล้ว
“การพัฒนาเครื่องสำอางใหม่ๆ จำเป็นต้องมีส่วนผสมและวัตถุดิบใหม่ๆ จากต่างประเทศ แต่มาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติห้ามเกาหลีเหนือนำเข้าสารเคมี การพัฒนาเครื่องสำอางจึงทำได้ยาก” นัมกล่าว
คัง มิจินผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มักพูดคุยกับชาวเกาหลีเหนือที่ทำงานให้กับเว็บไซต์ข่าวเดลีเอ็นเค ดำเนินการโดยผู้แปรพักตร์ฟังเสมอว่า ชาวโสมแดงส่วนใหญ่ยังชื่นชอบสินค้าเกาหลีใต้ที่ราคาแพงกว่า โดยเฉพาะของขวัญ
“แม้จะหายาก แต่คนก็ยังหาซื้อเครื่องสำอางเกาหลีใต้มาให้คู่หมั้นไว้เป็นของขวัญแต่งงาน เพราะเป็นของดี เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง”คัง มิจิน สรุปถึงความนิยมใช้เครื่องสำอางในแดนโสมแดง