จีนเดินหน้าซื้อน้ำมันอิหร่านเมินสหรัฐคว่ำบาตร

จีนเดินหน้าซื้อน้ำมันอิหร่านเมินสหรัฐคว่ำบาตร

จีนนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านในเดือนก.ค.เป็นเดือนที่2 ติดต่อกัน เมินมาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจอิหร่านของสหรัฐ แม้สหรัฐเพิ่งคว่ำบาตรบริษัทน้ำมันรัฐบาลปักกิ่งฐานสั่งซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่าน

บริษัทวิจัย3แห่งระบุตรงกันว่า เมื่อเดือนที่แล้ว จีนสั่งซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านในปริมาณระหว่าง 4.4 ล้านบาร์เรลและ11 ล้านบาร์เรล หรือประมาณวันละ 142,000-360,000 บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งหนึ่งของระดับการสั่งซื้อในปีก่อนหน้าแม้ว่าสหรัฐจะใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน

การเดินหน้าสั่งซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านของจีน มีขึ้นในช่วงที่ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนย่ำแย่ลง อีกทั้งการสั่งซื้อน้ำมันอิหร่านของจีนยังเป็นอุปสรรคสกัดกั้นความพยายามของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐที่ต้องการตัดทอนรายได้ของอิหร่านด้วยมาตรการคว่ำบาตร

ขณะที่คณะเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสในทำเนียบขาว ประเมินว่าอิหร่านส่งออกน้ำมันไปจีนประมาณ 50-70%ของปริมาณส่งออกน้ำมันดิบโดยรวม และส่งไปขายให้ซีเรียประมาณ 30%

ทั้งนี้ จีนเป็นผู้สั่งซื้อน้ำมันรายใหญ่สุดของอิหร่านและท้าทายมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ แต่ยอดนำเข้าน้ำมันดิบในเดือนมิ.ย.ประมาณ 210,000 บาร์เรลถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบทศวรรษ แบะต่ำกว่ายอดสั่งซื้อของปีก่อนหน้านี้ประมาณ60%

ที่ผ่านมา สหรัฐ ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อบริษัทแห่งหนึ่งที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ จากกรณีที่บริษัทดังกล่าวซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่าน ซึ่งเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ

นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ระบุว่า สหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตรนี้กับบริษัทจูไห่ เจิ้งหรงและหัวหน้าผู้บริหารของบริษัท ด้วยการอายัดสินทรัพย์ของบุคคลและบริษัทนี้ในสหรัฐและห้ามมิให้บริษัทและกลุ่มคนดังกล่าวทำธุรกรรมกับพลเมืองชาวสหรัฐ

นายปอมเปโอ กล่าวด้วยว่า มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการกดดันระดับสูงสุดต่ออิหร่าน และว่าสหรัฐไม่สามารถยอมรับได้ที่มีการจ่ายเงินจำนวนมากให้กับผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ซึ่งทำให้ชีวิตของทหารสหรัฐมีความเสี่ยง

นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐลงโทษบริษัทจีนที่ละเมิดการคว่ำบาตรเรื่องน้ำมันอิหร่านของสหรัฐ

ในส่วนของจีน ออกแถลงการณ์คัดค้านการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านแต่เพียงฝ่ายเดียวของสหรัฐ ที่ไม่ผ่อนปรนให้ประเทศผู้ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน ซึ่งมีกระแสคัดค้านเรื่องนี้จากหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งญี่ปุ่น จีน อินเดีย ตุรกี และเกาหลีใต้ ที่ต่างก็นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะตุรกี ที่นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านเมื่อปี 2560 ในสัดส่วนกว่า 40 %

ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย คู่อริอิหร่านแถลงว่าจะประสานกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆเพื่อรักษาสมดุลในตลาดน้ำมันโลก ซึ่งขณะนี้จับจ้องไปที่ซาอุดีอาระเบียและผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆว่าจะยอมเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันหรือไม่ เพราะซาอุฯต้องการลดการผลิตลงเพื่อผลักราคาน้ำมันให้สูงขึ้น

นายโมฮัมเหม็ด เรซา ฟายัด ทูตอิหร่านประจำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เปิดเผยว่า จีนเป็นผู้ซื้อน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของอิหร่าน ซึ่งบริษัทน้ำมันของจีนที่เป็นลูกค้าหลักของอิหร่าน คือ ยูนิเป็ก บริษัทในเครือซิโนเป็ก รัฐวิสาหกิจของจีน และจูไห่ เจิงหรง ขณะที่อิหร่านนำรายได้จากการขายน้ำมันดิบ ในการซื้อสินค้าและบริการจากจีน

ในแต่ละปี จีน ซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านเป็นเงินประมาณ 20,000-30,000 ล้านดอลลาร์ แต่ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐพยายามกดดันรัฐบาลจีนให้ร่วมใช้มาตรการคว่ำบาตรที่นานาชาติมีต่ออิหร่าน เพื่อตอบโต้โครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน ส่งผลให้การชำระเงินด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นไปได้ยากขึ้น จีนจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้เงินหยวนในการชำระค่าน้ำมันดิบแทน โดยทำธุรกรรมผ่านธนาคารของรัสเซีย