นักค้ายาเปิดตลาดทวิตเตอร์ จัดโปรไฟไหม้
ผลวิจัยตลาดยาเสพติดบนโลกออนไลน์ พบทวิตเตอร์กลับมาบูม คาดมีนักค้ายารายใหม่-รายใหญ่ เปิดใช้งาน 79% จัดโปรไฟไหม้ลดแลกแจกแถม ขณะที่ไปรษณีย์ยังเป็นช่องทางกลักในการขนส่ง
เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในการประชุมวิชาการสารเสพติดระดับชาติครั้งที่ 11 จัดโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในหัวข้อเรื่อง “ตลาดยาเสพติดและอาชญากรรมบนโลกออนไลน์”
น.ส.กนิษฐา ไทยกล้า อาจารย์สถาบันวิจัยสุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตนได้รับทุนจาก สสส.ให้ศึกษาวิจัยเรื่องตลาดยาเสพติดบนโลกออนไลน์ในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 เม.ย.-1 ก.ค.62 ซึ่งผลการศึกษาวิจัยพบว่า ปี 2561 มีการซื้อขายยาเสพติดผ่านเฟซบุ๊กค่อนข้างมาก สัดส่วนการสั่งซื้อขายยาเสพติดบนโลกออนไลน์มากกว่าการซื้อยารักษาโรคทั่วไป โดยเฉพาะกัญชา กระท่อม และไอซ์ นิยมสั่งซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต ขณะที่การเฝ้าระวังผู้ขายยาบนโลกออนไลน์ พบการพัฒนาซอฟต์แวร์ และการผลิตถ้อยคำแสลงและภาษาที่ใช้ในกลุ่มกว่า 4,000 คำ เช่น สายเขียวคือกัญชา สายเหลืองคือซูโดเอฟีดีล กระท่อม ไอซ์ เฮโรอีน ยาบ้า ยาอี ยาเค และกระดาษเมา
จากการวิเคราะห์เครือข่ายผู้ใช้ยาเสพติดบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตพบว่ามีประมาณ 330 ยูสเซอร์ ประกอบด้วย เฟซบุ๊ก 107 บัญชี ทวิตเตอร์ 223 บัญชี และมีการซื้อขายยาผ่านไอดีไลน์ 109 ไอดี ซึ่งการซื้อขายจะใช้ข้อความสั้นๆ โดยกลุ่มที่ขายยาไอซ์มีผู้ติดตาม 10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ในปี 2561 พบการซื้อขายยาเสพติดแพร่หลายผ่านไลน์และเฟซบุ๊ก ขณะที่ข้อมูลในปี 2562 จากการเฝ้าระวัง 4 เดือนพบว่าทวิตเตอร์ที่เคยซบเซากลับมาเป็นที่นิยม โดยมีผู้ใช้งานทวิตเตอร์กว่า 200 รายเป็นผู้ขายยา และพบผู้ค้ารายใหม่ที่เพิ่งลงทะเบียนใช้งานทวิตเตอร์ 79 เปอร์เซ็นต์ มีทั้งการขายไอซ์ กัญชา ยาบ้า กระท่อม และยาแก้ปวดทามาดอล
"เจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและปราบปรามต้องให้ความสำคัญกับคำแสลงหรือแฮชแท็กต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำที่เกี่ยวกับยา บริบทของการใช้ยา และอาการของยา ทั้งนี้ การติดต่อซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์จะจบการขายด้วยการโอนเงินและนัดรับสินค้าผ่านไอดีไลน์ สำหรับการขนส่งยาเสพติดจะใช้ทุกช่องทาง โดย 20 เปอร์เซ็นต์ใช้ช่องทางไปรษณีย์ และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ส่งผ่านบริการเคอร์รี่ ส่วนที่เหลือกระจายส่งผ่านบริการของเอกชนต่างๆ เช่น ไลน์แมน ลาลาร์มูฟ วินมอเตอร์ไซค์" น.ส.กนิษฐา กล่าว
น.ส.กนิษฐา กล่าวอีกว่า จากการเข้าไปติดตามพฤติการณ์ซื้อขายยาในกลุ่มลับต่างๆ ผู้ซื้อจะต้องบอกชื่อเล่นพร้อมอายุ และซื้ออย่างน้อย 3 ครั้งจึงจะสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือการซื้อขายออนไลน์มีแนวโน้มเป็นการซื้อขายรายใหญ่มากขึ้น มีการสต็อกสินค้าจำนวนมาก เช่น ขายกัญชาตั้งแต่ 1 กิโลกรัมขึ้นไป ยาบ้าและยาไอซ์เป็นมัด นอกจากนี้ ยังมีการจัดโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม เช่น โปรไฟไหม้ ลดราคาจาก 1,000 บาท เหลือ 800 บาท ส่งฟรี โปรโมชั่นเข้าพรรษาซื้อ 1 แถม 1 ซึ่งผลการสำรวจพบว่าปัจจุบันคนไทยใช้งานทวิตเตอร์ 12 ล้านบัญชี ประมาณการณ์ว่าผู้ใช้ 1 แสนบัญชีเป็นผู้ค้ายา 2 บัญชี ภาครัฐจึงต้องให้ความสำคัญกับการลักลอบซื้อขายยาเสพติดผ่านสังคมออนไลน์ เพราะเยาวชนสามารถเข้าถึงแบบอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านนายอเล็กซ์ซานเดอร์ คาคิวเลียส (Alexandru Caciuloiu) ผู้แทนจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าวว่า โลกออนไลน์ทำให้การซื้อขายยาเสพติดมีช่องทางการขายหลายรูปแบบ ไม่ต้องเข้าไปในซอยมืดๆ เพื่อซื้อขายยา โดยการซื้อผ่านอินเตอร์เน็ตมีทั้งการซื้อขายอย่างเปิดเผยและหลบซ่อน ในกรณีที่กระทำอย่างปกปิดแหล่งที่มาผ่านโปรแกรมธอร์ และดาร์กเน็ต ซึ่งผู้ใช้งานจะใช้ซอฟต์แวร์หรือมัลแวร์พิเศษเพื่อซ่อนบัญชีผู้ใช้งาน โดยพบว่ามีคนเข้าใช้บริการดาร์กเน็ตเพื่อซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ แฮกเกอร์ระบบคอมพิวเตอร์ บิทคอยน์ อาวุธปืน และยาเสพติดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีรูปแบบการส่งเสริมการขายด้วยการสร้างความไว้วางใจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายด้วยการให้คะแนนคนขาย โดยผู้ขายที่มีการตอบรับดีจะถือเป็นผู้ขายที่มีผลิตภัณฑ์ที่ดีและมีคุณภาพ ในประเทศไทยแม้จะยังตรวจสอบไม่พบการใช้งานดาร์กเน็ต แต่ก็ยังน่ากังวล เพราะไทยมีการซื้อขายไอดีและพาสปอร์ตปลอม ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตบางรายอาจไม่รู้ว่าตัวตนในโลกอินเตอร์เน็ตถูกนำไปขายให้กับผู้ใช้งานรายอื่นในอินเตอร์เน็ต