‘ออสเตรเลีย’ ส่อผงาดผู้ส่งออกแอลเอ็นจีเบอร์ 1 โลก

‘ออสเตรเลีย’ ส่อผงาดผู้ส่งออกแอลเอ็นจีเบอร์ 1 โลก

“กาตาร์” อาจจะสูญเสียตำแหน่งผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) รายใหญ่ที่สุดของโลกภายในปีหน้า ในขณะที่ออสเตรเลียกำลังเพิ่มการผลิตในโครงการส่งออกแอลเอ็นจีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

“ออสเตรเลียและกาตาร์ยังคงแข่งขันกันเพื่อชิงตำแหน่งผู้ส่งออกแอลเอ็นจีรายใหญ่ที่สุดในโลกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562” รัฐบาลออสเตรเลียระบุในรายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้

ออสเตรเลียส่งออกแอลเอ็นจีมากกว่ากาตาร์ในเดือน พ.ย. 2561 และ เม.ย. 2562 แต่ข้อมูลจากสำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐ (อีไอเอ) ระบุว่าปัจจุบัน ออสเตรเลียมีแนวโน้มที่จะส่งออกแอลเอ็นจีแซงหน้ากาตาร์อย่างถาวร เนื่องจากโครงการแอลเอ็นจีที่ได้รับการอนุมัติเมื่อไม่นานนี้ เช่น วีทสโตน, อิคธิส และพรีลูด ต่างเพิ่มการผลิต

พรีลูดซึ่งเป็นโครงการแอลเอ็นจีลอยน้ำของบริษัท“รอยัลดัตช์เชลล์” ในแหล่งก๊าซห่างไกลทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบรูมรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ส่งออกก๊าซแอลเอ็นจีรอบแรกให้กับลูกค้าในเอเชียเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

โครงการนี้ซึ่งสามารถรองรับถังเก็บแอลเอ็นจีในปริมาณเทียบเท่าสระว่ายน้ำที่แข่งขันในโอลิมปิก 175 สระ ถือเป็นโครงการสุดท้ายใน 8 โครงการใหม่ที่เริ่มดำเนินการระหว่างปี 2555-2561 นอกจากนั้นพรีลูดทำให้กำลังการส่งออกแอลเอ็นจีของออสเตรเลียเพิ่มขึ้นจาก 2,600 ลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2554 มาอยู่ที่กว่า 1.14 หมื่นลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2562

อีไอเอระบุว่า ออสเตรเลียได้แซงหน้ากาตาร์เรื่องกำลังการผลิตแอลเอ็นจีไปแล้วในปัจจุบัน

ซัพพลายพุ่งกดดันราคา

การเพิ่มกำลังการผลิตและการส่งออกใหม่ ประกอบกับความต้องการที่ผันผวนจากบรรดาลูกค้าสำคัญในญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ส่งผลให้ราคาซื้อขายแอลเอ็นจีลดลงอย่างหนักตั้งแต่ปลายปี 2561

ขณะที่กระแสวิตกเกี่ยวกับการเติบโตโลกที่ชะลอตัว และสงครามการค้ายืดเยื้อระหว่างสหรัฐกับจีนยังคงกดดันราคาแอลเอ็นจีเช่นกัน

"เราอาจเผชิญกับราคาต่ำที่สุดแล้วสำหรับปีนี้“ นิโคลัส บราวน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยก๊าซและแอลเอ็นจีเอเชีย บริษัทวูดแมคเคนซี เผยกับซีเอ็นบีซี

บราวน์เสริมว่า มีอุปทาน (ซัพพลาย) เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงจากออสเตรเลียและโครงการพรีลูดและอิคธิสที่กำลังเพิ่มกำลังการผลิตเท่านั้น แต่ยังมาจากสหรัฐที่โครงการคาเมรอนของเชลล์ผลิตแอลเอ็นจีจากเกาะเอลบามากขึ้น เช่นเดียวกับจากโครงการฟรีพอร์ต คาดว่าจะเกิดสถานการณ์ซ้ำรอยปีนี้อีกครั้งในปีหน้า

แข่งราคาหนุนดีมานด์

แม้ออสเตรเลียกำลังเพิ่มการผลิตแอลเอ็นจี แต่กาตาร์ก็คงไม่อยู่เฉย สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลโดฮามีแผนกระตุ้นกำลังการผลิตแอลเอ็นจีของตนเป็น 110 ล้านตันต่อวันภายในต้นปี 2567 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 77 ล้านตันต่อปีในปัจจุบัน

“จีนคงรับแอลเอ็นจีที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดทั้งหมดไม่ได้” บราวน์กล่าว และว่า “เมื่อเรามองไปถึงหลังช่วงซัพพลายล้นเกินนี้แล้ว ผมคิดว่าความต้องการพื้นฐานในเอเชียนั้นแข็งแกร่งมาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่เราคาดว่าจะมีหลายบริษัทพุ่งเป้าไปที่ตลาดเอเชียและหาทางพัฒนาโครงการแอลเอ็นจีใหม่ในขณะนี้”

ผลกระทบศึกการค้า

บรรดาผู้บริหารที่มีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมนี้ ต่างเตือนเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อชิงความเป็นหนึ่งด้านแอลเอ็นจี

“ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การขยายการผลิตแอลเอ็นจีของออสเตรเลียนั้นเป็นตัวแปรสำคัญในตลาดนี้” ปีเตอร์ บอทเทน กรรมการผู้จัดการฝ่ายน้ำมันและก๊าซในออสเตรเลียและปาปัวนิวกินีของบริษัทออยล์ เสิร์ช ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นออสเตรเลียเผย

บริษัทรายนี้ดำเนินการในแหล่งน้ำมันทุกแห่งในปาปัวนิวกินี และมีผลประโยชน์มหาศาลและเป็นพันธมิตรในหลายโครงการเกี่ยวกับแอลเอ็นจี

“ผมคิดว่าใน 2-3 ปีข้างหน้าจะเกิดความสมดุลระหว่างอุปทานกับอุปสงค์ และความต้องการอาจยิ่งตึงตัวในช่วงปี 2564-2566” บอทเทนระบุ และว่า “นอกจากนั้นจะมีอีกหลายโครงการเริ่มดำเนินงานในปี 2567 และ 2568 ผมคิดว่าตลาดจะเฟื่องฟูมากในช่วงนั้น และช่วงครึ่งหลังของทศวรรษหน้า”

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารรายเดิมชี้ว่า ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ราคาแอลเอ็นจียังคงมีการแข่งขันสูง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตด้านความต้องการในตลาด