สำรวจ ‘ภูเก็ต สมาร์ทซิตี้’ สะท้อน ‘ปัญหาพัฒนาเมือง’
ความท้าทายหลัก 2 ประการคือความล่าช้าและการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
รายงานเชิงลึก “Smart City Framework and Guidance for Thailand : แผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในจังหวัดภูเก็ต 2019” โดยบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) และ บริษัท โรแลนด์ เบอร์เกอร์ จำกัด ประเทศไทย ระบุว่า การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในประเทศไทยเผชิญความท้าทายหลัก 2 ประการได้แก่ ความล่าช้า และ การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
ที่ผ่านมา แผนการพัฒนาจำนวนมากได้ถูกกำหนดไว้และวางแผนไว้เรียบร้อยแล้ว ทว่ากระบวนการก่อนการเปิดตัวมักจะเกิดความล่าช้า โดยสาเหตุหลักคือความล่าช้าในการอนุมัติของรัฐบาล ความช่วยเหลือและงบประมาณจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญที่มีจำกัด และขาดผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จำเป็น
ข้อมูลชี้ว่า หน่วยงานภาครัฐผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเช่นดีป้า ไม่สามารถทำงานเพียงลำพังได้ และจำต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งรัฐบาลท้องถิ่น หน่วยงานที่รับผิดชอบภาคส่วนเฉพาะเช่น พลังงาน ขนส่ง ฯลฯ ภาคเอกชน และธุรกิจในท้องถิ่นนั้นๆ
รัฐ-เอกชนต้องร่วมมือกัน
เติ้ง เฟิง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย เผยว่า ยังมีอุปสรรคอีกประการหนึ่งคือการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด โดยปัญหาบางประการเป็นปัญหาเฉพาะท้องถิ่น จึงไม่ได้รับการแก้ไขตามแผนที่กำหนดไว้
โดยปัญหานี้มาจากการขาดการวิเคราะห์เชิงลึกด้านการทำความเข้าใจกับความต้องการเฉพาะของคนเมือง ดังนั้นบริการที่จะเปิดตัวในอนาคตจำต้องอยู่บนพื้นฐานความต้องการ เพื่อที่จะสามารถสร้างรายได้และมีความยั่งยืนในระยะยาว
“แต่ละเมืองต้องการแผนการพัฒนาที่แตกต่างกัน อันดับแรกๆ ควรตระหนักว่าสมาร์ทซิตี้มีอยู่หลายประเภท โดยทั่วไปในไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ 1.เมืองมรดก หรือเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอยู่แล้ว 2.เมืองใหม่ และ 3.เขตอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ”
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นเมืองประเภทใด ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชน เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ เนื่องจากความชำนาญของภาคเอกชนในการบริการบวกกับโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ โดยภาครัฐเป็นกุญแจสำคัญที่ผลักดันให้การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ประสบความสำเร็จได้
6 บริการตอบโจทย์ท้องถิ่น
สำหรับภูเก็ต จากการศึกษาพบว่า มีบริการสมาร์ทซิตี้ 6 บริการ ที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาที่เฉพาะเจาะจงภายในจังหวัด พร้อมสามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ภูเก็ตได้ในทันที ประกอบด้วย Smart Electric Metering, Smart Traffic Light, Smart Public Transport, Smart Waste Management, Integrated CCTV System และ Smart Tourism
“บริการสมาร์ทซิตี้ที่ใช้โครงการพื้นฐานเทคโนโลยีขั้นสูงจะช่วยให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงการท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ปัจจัยที่จะมีส่วนสำคัญในการสรับสนุนการดำเนินงานคือ สมาร์ทกอฟเวอร์แนนซ์, สมาร์ทพีเพิล, และสมาร์ทอินฟราสตรักเจอร์”
ข้อมูลระบุว่า แม้ว่าจะมีขนาดเล็กแต่ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีเอกลักษณ์และเติบโตเร็วที่สุดในแง่ของพื้นที่เมืองและจำนวนนักท่องเที่ยว ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดอุปสรรคจากทั้งการที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ การเข้ามาของนักท่องเที่ยว และแรงงานต่างชาติที่มีจำนวนมากกว่าคนในพื้นที่
นอกจากนี้ มีความท้าทายที่ต้องแก้ไขอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น ตัวเลือกการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะจำกัดทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง การจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณจากส่วนกลางไม่สอดคล้องกับต้องการจริง นำไปสู่ความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
ขณะเดียวกัน ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าและน้ำประปามีจำกัด ทำให้ไม่สามารถรองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้ มากกว่านั้นมีความท้าทายจากการแข่งขันจากเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ในภูมิภาคที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
ตัวอย่างโครงการที่กำลังดำเนินการได้แก่ การจัดการขยะแบบอัจฉริยะ การวิเคราะห์ข้อมูลรถบัสอัจฉริยะ การวิเคราะห์ข้อมูลเมือง ฯลฯ ทว่ายังมีช่องโหว่ที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม
โมเดลต้องยั่งยืน-แผนต้องชัดเจน
ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า ในฐานะจังหวัดนำร่อง ภูเก็ตต้องมีแผนการทำงานที่ชัดเจนและโมเดลการจัดการที่ยั่งยืน จึงจะสามารถพลิกโฉมเป็นเมืองอัจฉริยะได้ภายในปี 2563
ปัจจุบัน การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเกิดขึ้นแล้วใน 6 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น และ 3 จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา
สำหรับในภาพรวมประเทศไทยกำลังเผชิญกับการขยายตัวของพื้นที่เมือง การใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น และจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มากขึ้น การผนวกรวมสมาร์ทซิตี้จึงมีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศจากรูปแบบเดิมๆ ไปสู่รูปแบบใหม่
ชาญชัย ถนัดค้าตระกูล หัวหน้าสำนักงาน บริษัท โรแลนด์ เบอร์เกอร์ จำกัด ประเทศไทย เสริมว่า ผลสำเร็จจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการนำแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดตามมาตรฐานระดับโลกมาปรับใช้เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและข้อกำหนดต่างๆ ขณะที่การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่ายจะช่วยให้สามารถเสนอข้อแนะนำได้ตรงกับความต้องการของเมืองและประชาชนในพื้นที่