ร้องนายกฯ 'ทอท.' กลั่นแกล้งขวางเปิดทางเข้า 'เซ็นทรัลวิลเลจ'

ร้องนายกฯ 'ทอท.' กลั่นแกล้งขวางเปิดทางเข้า 'เซ็นทรัลวิลเลจ'

"เซ็นทรัล" ร้องนายกฯ ชี้ "ทอท." กลั่นแกล้งไม่ยอมให้เปิดคันหินทางเท้า เพื่อทำทางเข้า "ลักซูรี่ เอาท์เล็ต" ทั้งๆที่กรมทางหลวง-ธนารักษ์ อนุญาตแล้ว



บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ทำหนังสือร้อขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับการขออนุญาตตัดคันหินทางเท้าเพื่อทำทางเชื่อมโครงการ​​ศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่เอาท์เล็ต เข้า-ออกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ซีพีเอ็นระบุว่า เป็นผู้ประกอบธรุกิจเกี่ยวกับการพัฒนาและบริหารศูนย์การค้า และได้ดำเนินการที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่เอาท์เล็ต (Central Village Bangkok Luxury Outlet) ซึ่งเป็นศูนย์การค้ารูปแบบใหม่ (New Shopping Platform) ที่เป็นศูนย์การค้าประเภทเอาท์เล็ต (Factory Outlet Mall) ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดการจ้างงานแก่บุคลากรของบริษัทฯ คู่ค้าและคู่สัญญาในโครงการจำนวนมาก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยว แต่ในระหว่างการดำเนินการโครงการ บริษัทฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ บริษัทฯ จึงขอเรียนขอความเป็นธรรมจากท่าน ตามรายละเอียดที่ปรากฏ ดังต่อไปนี้

บริษัทฯ ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานท้องถิ่นให้ก่อสร้างและได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่เอาท์เล็ตตามแผนงานที่วางไว้มาโดยตลอด โดยที่โครงการศูนย์การค้าดังกล่าวตั้งอยู่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งเป็นทางหลวงแผ่นดินที่มีประชาชนทั่วไปใช้ผ่านทางวันละไม่ต่ำกว่า 20,000 คัน ซึ่งบริษัทได้มีการลงทุนในการก่อสร้างไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งการก่อสร้างเกือบจะแล้วเสร็จโดยจะพร้อมเปิดดำเนินการในปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 นี้ และต่อมาบริษัทฯ ได้ยื่นขออนุญาตตัดคันหินทางเท้าในเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ตอนทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้านถนนบางนา–บางวัว จากที่ตั้งโครงการศูนย์การค้า เพื่อเชื่อมทางเข้า-ออกกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งเป็นทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิเป็นทางที่ 3 ต่อหมวดทางหลวงบางพลี และแขวงทางหลวงสมุทรปราการ โดยหมวดทางหลวงบางพลี และแขวงทางหลวงสมุทรปราการได้ตรวจสอบแล้ว เห็นว่า ไม่เป็นอุปสรรคต่องานบำรุงรักษาทาง แต่ได้แจ้งให้บริษัทขอความยินยอมจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ต่อไป

และต่อมา บริษัทฯ ได้มีหนังสือถึงบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)เพื่อขออนุญาตตัดคันหินทางเท้าเปิดทางเชื่อมในเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ตอนทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้านถนนบางนา–บางวัว (ที่ กม. 1+927 และ กม. 2+127 ด้านขวาทาง เพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออกของโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่เอาท์เล็ต และ ทอท. ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของ ทอท. ไม่อนุญาตให้บริษัทฯ ทำทางเชื่อมดังกล่าวในเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 และต่อมา ทอท. ได้มีหนังสือแจ้งบริษัทฯ ว่า ได้มีการตรวจพื้นที่ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 พบว่าโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่เอาท์เล็ต ได้มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำ และใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ โฉนดเลขที่ 484 เลขที่ดิน 33 หน้าสำรวจ 115 ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่อยู่ในความครอบครองดูแลของ ทอท. โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ทอท. และธนารักษ์พื้นที่สมุทรปราการ ซึ่งบริษัทฯ เห็นว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นธรรมต่อบริษัทฯ ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการของบริษัทฯ โดยปราศจากเหตุอันสมควร และไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แนวความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และบรรทัดฐานของศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดที่เกี่ยวข้อง ตามรายละเอียดและเหตุผลที่บริษัทฯ จะขอกราบเรียนโดยสังเขป ดังต่อไปนี้

1) จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง พบว่า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 (เดิมเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34) ได้รับการอนุมัติตามโครงการปรับปรุงระบบหมายเลขทางหลวง ระยะที่ 2 และลงทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดิน เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 รายละเอียดปรากฏตามทะเบียนทางหลวง สิ่งที่ส่งมาด้วย 5 ดังนั้น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 จึงมีสถานะเป็นทางหลวงแผ่นดิน ตามมาตรา 6 ประกอบมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 (“พ.ร.บ. ทางหลวงฯ”) และอยู่ในอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ตรวจตรา และควบคุม ของอธิบดีกรมทางหลวง ตามมาตรา 15 (1) และมาตรา 19 แห่งพ.ร.บ. ทางหลวงฯ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ขอเรียนว่า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ยังเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังจะเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เป็นทางสาธารณะเพื่อสัญจรไปมาโดยไม่มีการหวงกั้นหรือปิดกั้น มาโดยตลอด ดังนั้น บุคคลทั่วไป รวมถึงบริษัทฯ จึงย่อมมีสิทธิใช้ประโยชน์ในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เพื่อเป็นทางสัญจร และมีสิทธิในการขอรับอนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

2) การขออนุญาตตัดคันหินทางเท้าเพื่อทำทางเชื่อมเข้า-ออกทางหลวง เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกับเขตทางหลวง ตามมาตรา 37 แห่งพ.ร.บ. ทางหลวงฯ ซึ่งในกรณีของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 นั้น จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ในปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวงให้ตัดคันหินทางเท้าเพื่อทำทางเชื่อมเข้า-ออกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 แล้ว ถึง 37 ราย โดยการพิจารณาอนุญาตครั้งแรกหลังจากกรมทางหลวงได้รับมอบพื้นที่จากกรมการขนส่งทางอากาศ (ซึ่งปัจจุบันคือ “กรมท่าอากาศยาน”) เมื่อปี พ.ศ. 2550 และครั้งล่าสุดได้กระทำในปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ทำทางเชื่อมเข้า-ออกอีกกว่า 50 รายที่ดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีจึงเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า การขออนุญาตเพื่อทำทางเชื่อมเข้า-ออกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 นั้น เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้โดยชอบตามกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับมติของกรมทางหลวง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ว่า ไม่ขัดข้องและเห็นชอบหากบริษัทฯ จะดำเนินการขออนุญาตเพื่อทำทางเชื่อมเข้า-ออกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370

บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการหารือไปยังกรมธนารักษ์ และได้รับแจ้งจากกรมธนารักษ์ว่า กรมธนารักษ์ไม่ขัดข้องกับการดำเนินการดังกล่าว เช่นเดียวกัน

3) การขออนุญาตของบริษัทฯ เป็นไปเพื่อการดำเนินโครงการศูนย์การค้าของบริษัทฯ ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจการค้าตามปกติ โดยบริษัทฯ ขอเรียนว่า ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่เอาท์เล็ต ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงบริษัทฯ พนักงานของบริษัทฯ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และประชาชนจำนวนมากที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่เอาท์เล็ต จะมีส่วนช่วยให้เกิดการสร้างงานจำนวนมาก ส่งเสริมการท่องเที่ยว และมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ดังนั้น หากโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ ไม่สามารถดำเนินการขออนุญาตเพื่อทำทางเชื่อมเข้า-ออกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งเป็นสิทธิที่บริษัทฯ พึงมีตามกฎหมาย ได้ ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบริษัทฯ อีกทั้งยังอาจมีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งบริษัทฯ ให้ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ตามปกติ และกระทบต่อบริษัทฯ ข้ามชาติรายใหญ่จำนวนมากซึ่งเป็นคู่สัญญาในการลงทุนในโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่เอาท์เล็ต และอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การลงทุนของประเทศ

ในวันเดียวกันเซ็นทรัลฯยังได้ร้องเพิ่มต่อศาลนอกจากคุ้มครองชั่วคราว โดยขอศาลได้โปรดมีคำสั่ง
1. ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งกีดขวางใด ๆ ออกไปจากทางหลวงแผ่นดิน 370 ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ บริเวณเข้า-ออก หน้าโครงการฯ
2. ห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีรบกวนการใช้ประโยชน์ใด ๆ บนทางหลวงแผ่นดิน 370 ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ บริเวณเข้า-ออก หน้าโครงการฯ
3. ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดียุติดำเนินการใด ๆ อันเป็นการขัดขวาง รบกวน หรือก่อให้เกิดอุปสรรค บนทางหลวงแผ่นดิน 370 ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ บริเวณเข้า-ออก หน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจฯ ต่อการดำเนินการของหน่วยงานสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับโครงการเซ็นทรัล วิลเลจฯ