ดีเดย์ 1 ต.ค.62 ผู้ป่วยบัตรทองรับยาร้านขายยาแทนรพ.

ดีเดย์ 1 ต.ค.62 ผู้ป่วยบัตรทองรับยาร้านขายยาแทนรพ.

ดีเดย์ 1 ต.ค.62 ผู้ป่วยบัตรทองรับยาร้านขายยาแทนรพ. เปิดทางเลือกให้ประชาชน นำร่องรพ.50 แห่ง- 500 ร้านทั่วประเทศ เบื้องต้นเน้น 4 โรค ชงบอร์ดบัตรทองเคาะ 2 ก.ย.นี้ เพิ่มความสะดวกให้ประชาชน-ประสิทธิภาพในการใช้ยา ลดความแออัดในรพ.

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านยาแผนปัจจุบัน(ข.ย.1)ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า การให้ผู้ป่วยในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองนำใบสั่งยาจากรพ.ไปรับยาที่ร้านขายยาคุณภาพที่มีเภสัชกรประจำเข้าร่วมโครงการแทนการรอรับยาที่รพ. เป็นทางเลือกให้กับประชาชนได้เข้าถึงบริการสะดวกมากขึ้น เพราะเป็นการรับยาจากร้านยาในชุมชนใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งจะเป็นยาแบบเดียวกันกับรพ.ทุกอย่าง อีกทั้ง มีเวลามากขึ้นในการที่จะให้เภสัชกรได้อธิบายการใช้ยากับผู้ป่วย โดยจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ต.ค.2562 ในโรงพยาบาล 50 แห่งที่ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.)ซึ่งมีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวนมาก และ 500 ร้านยาทั่วประเทศ เบื้องต้นจะดำเนินการในส่วนของโรคที่ป่วยต้องรับยาต่อเนื่องและโรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง จิตเวช และหอบหืด ประมาณการว่าจะมีผู้ป่วยเลือกมารับยาที่ร้านยาราว 2 ล้านครั้ง จากที่มีการใช้บริการที่รพ.7 ล้านครั้ง โดยคาดว่าจะผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยาร้านละ 15 คนต่อวัน


นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของการบริหารจัดการ ในระยะแรกคือในปีงบประมาณ 2563 จะใช้งบฯที่เหลือจากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพในปีที่ผ่านมา จำนวน 150 ล้านบาท ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว โดยน่าจะจ่ายเพิ่มเติมให้รพ.ที่เข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นค่าบริหารจัดการยาแห่งละ 30,000 บาทต่อปี และให้ร้านยา 70 บาทต่อผู้ป่วย 1 คน อย่างไรก็ตามจะต้องมีการหารือรายละเอียดในหลักเกณฑ์อีกครั้งว่าเป็นตัวเลขที่ทุกฝ่ายพอใจหรือไม่ ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)ในวันที่ 2 ก.ย.2562 เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ในการดำเนินการ ส่วนงบประมาณที่จะดำเนินการโคงการในปีต่อๆไปอาจจะต้องตั้งเป็นงบประมาณเฉพาะที่ขอเพิ่มเติมประมาณการว่าจะอยู่ที่ 800 ล้านบาทต่อปี


“การที่ผู้ป่วยจะมารับยาที่ร้านยาที่เปรียบเสมือนห้องยาของรพ.ได้นั้น ผู้ป่วยจะต้องเข้าระบบของรพ.ก่อนในการตรวจวินิจฉัยยโดยแพทย์แล้วมีใบสั่งยามาแสดงที่ร้านยา หรือเป็นผู้ป่วยที่แพทย์มั่นใจแล้วว่าสามารถคุมโรคหรืออาการที่เป็นได้ ซึ่งจะมีเกณฑ์ในการพิจารณาหลังจากผู้ป่วยไปรับการตรวจที่รพ.แล้ว ครั้งต่อไปก็อาจจะมารับยาที่ร้านยาได้เลย โดยที่ร้านยามีการเชื่อมต่อข้อมูลออนไลน์กับรพ. ซึ่งคนไข้ที่ไปรพ.100 คนจะเป็นกลุ่มโรคเรื้อรัง 60-70 % และประเมินว่าในจำนวนนี้จะเลือกมารับยาที่ร้านยาใกล้บ้านราว 30 % ก็จะช่วยลดความแอออัดของรพ.ไปได้ และผู้ป่วยก็มีความสะดวกมากขึ้นในการรับบริการ”นพ.ศักดิ์ชัยกล่าว