ประเมินทิศทางพายุ 'โพดุล' ลุ้นน้ำไหลเข้าอ่างฯน้ำน้อยเพิ่ม หลังเข้าอีสานแล้ววันนี้

ประเมินทิศทางพายุ 'โพดุล' ลุ้นน้ำไหลเข้าอ่างฯน้ำน้อยเพิ่ม หลังเข้าอีสานแล้ววันนี้

ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจเกาะติดสถานการณ์พายุ “โพดุล” เข้าอีสาน-เหนือ ลุ้นน้ำไหลเข้าภูมิพล-สิริกิติ์เพิ่ม หลังประเมินพื้นที่ภาคเหนือ อีสานบน ที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงมีทิศทางดีขึ้น

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ ณ ห้องปฏิบัติการศูนย์ฯ ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง 11 หน่วยงานเพื่อติดตามสถานการณ์ และคาดการณ์อิทธิพลจากพายุ “โพดุล”ที่ส่งผลกับประเทศไทยในช่วงวันที่ 30 ส.ค.- 1 ก.ย.62 ว่า จากการติดตามการเคลื่อนตัวของพายุระดับ 3 (โซนร้อน) “โพดุล” ซึ่งเป็นลูกที่ 3 ของปีนี้ที่เข้าสู่ประเทศไทย ล่าสุดศูนย์กลางพายุอยู่ที่ จ.สกลนคร และลดระดับเป็นพายุดีเปรสชั่น ความเร็ว ลม 55 กม./ชม. เคลื่อนตัวไปในด้านทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 20 กม./ชม. คาดว่าจะเคลื่อนผ่านบริเวณจังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู และเลย และอ่อนตัวลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในช่วงเย็นวันนี้ จากนั้นจะค่อย ๆ สลายตัว และพ้นไปจากประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ อย่างไรก็ตามในช่วงที่ศูนย์กลางพายุกำลังลดลงนั้น กระแสลมและปริมาณฝนจะยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง สำหรับวันนี้จะมีฝนตกหนักในบริเวณภาคอีสาน โดยเฉพาะภาคอีสานตะวันตก และอีสานตอนล่างบางส่วน ส่วนในวันพรุ่งนี้จะมีฝนตกหนักบริเวณ ภาคเหนือตอนบน และภาคอีสานบางส่วน และตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 62 เป็นต้นไป จะยังคงมีฝนตกกระจายอยู่อย่างต่อเนื่อง จากอิทธิพลของพายุและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดเข้ามา ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดฝนตกหนักในภาคใต้ด้วย โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก

​​ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการประเมินแหล่งน้ำที่จะได้รับประโยชน์จากพายุลูกนี้ที่จะส่งผลให้น้ำไหลเข้าแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นในแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ที่ยังมีปริมาณน้ำเก็บกักน้อย แต่จากการประเมินเบื้องต้นก็คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯไม่มากนัก ก็น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบกับพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากฝนทิ้งช่วงในปัจจุบันที่มีอยู่ 14 จังหวัด 79 อำเภอ 527 ตำบลได้บางส่วน ​​

“จากการคาดการณ์ทิศทางของพายุเบื้องต้น พบว่า พายุลูกนี้จะเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณความจุน้ำน้อยกว่า 30% ประกอบด้วย ขนาดใหญ่ จำนวน 14 แห่ง ที่คาดว่าจะได้น้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอ่างฯ ที่มีปริมาณฝนไหลเข้าอ่างฯ น้อยในช่วงที่ผ่านมา อาทิ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นต้น ขนาดกลางน้ำน้อยกว่า 30% ปัจจุบันมีทั้งสิ้นจำนวน 130 แห่ง คาดว่าปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้น 92 แห่ง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่เคยมีปัญหาก็เริ่มมีน้ำไหลเข้าอ่างฯมากขึ้น เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง จ.สุรินทร์ ที่ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจนพ้นภาวะวิกฤตแล้ว และห้วยจระเข้มาก จ.บุรีรัมย์ แม้จะยังไม่มากนักแต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป โดยในวันจันทร์ที่ 2 ก.ย.นี้ สทนช.ได้กำหนดให้มีการประชุมศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจอีกครั้ง เพื่อสรุปสถานการณ์น้ำจากอิทธิพลของพายุ “โพดุล” และปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ ซึ่งจะนำไปคาดการณ์ปริมาณน้ำหลังสิ้นสุดฤดูฝน เพื่อการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 62/63 ต่อไปด้วย” นายสำเริงกล่าว

​อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงผลในทางบวกเท่านั้นที่ศูนย์ฯจะมีการติดตาม แต่ในส่วนผลกระทบของพายุลูกนี้กับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ลำน้ำสาขาต่างๆ ที่จะมีน้ำเพิ่มขึ้นและมีความเสี่ยงล้นตลิ่ง ทางศูนย์ฯ ได้กำชับทุกหน่วยงานให้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าจากฝนตกในช่วง 2-3 วันนี้ ตามที่ศูนย์ได้มีการออกประกาศแจ้งเตือนฉบับที่ 4/2562 ไปก่อนหน้านี้แล้ว ยังรวมถึงแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักมาก โดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดกลางบริเวณภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคตะวันออก ที่มีปริมาณน้ำเกินกว่า 100% แล้ว จำนวน 28 แห่ง และมีแนวโน้มที่จะเกิน 100% จากอิทธิพลของพายุอีก 13 แห่ง เนื่องจากตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีฝนตกมากขึ้นในหลายพื้นที่ทำให้ดินมีความชุ่มน้ำ เมื่อมีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่มจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลลงแหล่งน้ำต่างๆ ได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งศูนย์ฯ ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบแหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กที่จะได้รับอิทธิพลจากพายุลูกนี้ พิจารณาปรับแผนการระบายน้ำ รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำเพิ่มขึ้น และตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนเป็นรายเขื่อนอย่างใกล้ชิด เช่น หนองหาร ขณะนี้ได้เร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากในช่วงเวลาเดียวกัน ลำน้ำโขงมีปริมาณน้ำที่สูงขึ้น กรมชลประทานจึงได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งสูบน้ำในพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วมด้วย ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลสภาพอากาศในช่วงปลายเดือนสิงหาคมของปี 2561 จะเห็นได้ว่าขณะนั้นมีพายุแปซิฟิกเกิดขึ้นแล้วจำนวน 26 ลูก ในขณะที่ปีนี้ “พายุโพดุล” เป็นเพียงลูกที่ 13 เท่านั้น จึงคาดการณ์แนวโน้มว่ามีโอกาสที่หลังจากนี้อาจจะมีพายุลูกอื่นเข้ามาในประเทศไทยได้อีกในช่วงปลายเดือน ก.ย.-ต.ค. ซึ่งศูนย์ฯ จะยังคงต้องติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง.

10481414628821