ลุ้นทางรอด "4หุ้นการบิน" ปรับทัพธุรกิจพยุงฐานะ
4 แอร์ไลน์ปรับทัพหนี อุตฯการบินแข่งเดือด! หลังสารพัดปัจจัยลบรุมเร้า “ศก.โลกชะลอ ฉุดนักท่องเที่ยวทรุด-บาทแข็ง” ดิ้นหารายได้เสริม ลดขาดทุน หวัง“High Season”ปลายปี ต่อลมหายใจธุรกิจแผ่ว
หากอุตสาหกรรมการบินแย่ต่อไปอีก 3-4 ปี คงต้องเลิกทำ !!
วลีเด็ดของ “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (Bangkok Airways) บ่งชี้ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมสายการบินในปี 2562 อาการน่าเป็นห่วง
สะท้อนผ่าน ตัวเลขผลประกอบการครึ่งปีแรกของ “4 หุ้นสายการบิน” ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่า มีผลการดำเนินงาน “ไม่สดใส” กำไรสุทธิลดลงไปจนถึงขาดทุนสุทธิ อย่าง บมจ.การบินกรุงเทพ หรือ BA บมจ.การบินไทย หรือ THAI บมจ.สายการบินนกแอร์ หรือ NOK และ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น หรือ AAV
โดย BA มีตัวเลขครึ่งปีแรก “ขาดทุนสุทธิ” 189.57 ล้านบาท THAI มีขาดทุนสุทธิ 6,438.37 ล้านบาท NOK มีขาดทุนสุทธิ 979.42 ล้านบาท และ หุ้น AAV มีกำไรสุทธิลดลงเหลือ 14.39 ล้านบาท (แต่หากคิดเฉพาะไตรมาส 2 ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 482 ล้านบาท) จากสารพัดปัจจัยลบกดดัน“ฐานะการเงิน” ของแต่ละธุรกิจสายการบิน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ฉุดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ,ค่าเงินบาที่แข็งค่า , การแข่งขันอุตสาหกรรมการบินที่รุนแรง , ต้นทุนราคาน้ำมันที่ผันผวน เป็นต้น
หากอนาคตผู้ประกอบการสายการบินต่างๆ ไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง ให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมการบิน“ขาลง” โดยยังคงยึดติดอยู่กับการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิม โอกาสการเติบโตย่อมยาก !! ดังนั้นที่ผ่านมาจึงเริ่มเห็นหลายสายการบิน “แตกไลน์” หรือหารายได้ใหม่ๆ เข้ามาพยุงธุรกิจ
สอดคล้องกับ “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ ที่ออกมายอมรับว่าปี 2562 สถานการณ์อุตสาหกรรมการบินค่อนข้างเหนื่อยจากปัจจัยลบดังกล่าว แม้ว่าในครึ่งปีหลังประเมินว่า สถานการณ์น่าจะฟื้นตัวขึ้น เพราะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น)
ฉะนั้น แนวทางการลงทุนของบางกอกแอร์เวย์สต้องมองหา “การลงทุนใหม่” โดยเฉพาะการแตกไลน์ดำเนินธุรกิจอื่นๆเพื่อสร้างรายได้เสริมธุรกิจการบินที่ไม่สดใส แทบจะมองไม่เห็นโอกาสเติบโตเหมือนในอดีต
อาทิ การผนึกพันธมิตรเข้าร่วมประมูลสัมปทานร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ทั้งที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานภูมิภาค แม้ว่าจะไม่สามารถคว้าประมูลมาได้ แต่ก็ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสจะเข้าร่วมประมูลอื่นๆที่จะตามมาในอนาคต เช่น การประมูลเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) ในสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น
โดยในปีนี้ บริษัทมีแผนการลงทุนใหม่ ได้แก่ “ธุรกิจสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน” โดยจัดตั้งบริษัทย่อยชื่อ บริษัทบางกอกแอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่งเซ็นเตอร์ จำกัด โดยจะลงทุนเฟสแรกที่ 200-300 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะผลิตนักบินปีแรกจำนวน 10-20 คน และคาดจะเปิดรับสมัครได้ในต้นปี 2563
ใน“ธุรกิจโรงซ่อมอากาศยาน” บริษัทอยู่ระหว่างการลงทุนโรงซ่อมอากาศยานที่จังหวัดสุโขทัย คาดว่าใช้เงินลงทุน “พันล้านบาท” ซึ่งตอนนี้อยู่ขั้นตอนจัดทำรายงาน “ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” (EIA) คาดว่าปี 2563 จะเริ่มลงทุนได้
ส่วนโครงการร่วมทุนขนาดใหญ่อย่าง “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก” ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาจากคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งบริษัทร่วมยื่นซองประมูลในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ถือหุ้น 45% บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ถือหุ้น 35% และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) ถือหุ้น 20%
“เราต้องมองหาการลงทุนใหม่ๆอย่าง โรงเรียนการบิน โรงซ่อมอากาศยานสุโขทัย เป็นต้น เพื่อจะสร้างรายได้มาเสริมในส่วนของธุรกิจสายการบินที่ไม่สดใส และต้องใช้รัดเข็มขัด เนื่องจากไม่ต้องการเห็นตัวเลขปีนี้ขาดทุน”
“กัปตันพุฒิพงศ์” ยังเล่าถึงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจปีนี้ว่า นอกจากการหารายได้เสริมผ่านธุรกิจอื่นๆแล้ว บริษัทยังต้องใช้ความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ รัดเข็มขัดด้วยการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมัน โดยบริษัทได้ทำประกันความเสี่ยงไว้ 70% แล้ว ซึ่งมองว่าราคาน้ำมันปีนี้ผันผวน ส่วนไตรมาส 2 ปี 2562 บริษัทได้ตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพนักงานถึง 200 ล้านบาท หากปีนี้บริษัทขาดทุนก็จะเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 5 ปี
รวมทั้งได้ทำการหยุดบินในเส้นทาง เช่น กรุงเทพ-กวางโจว ที่บินประจำก่อน และลดทำการบินเส้นทางกรุงเทพ-เฉิงตู ลดเที่ยวบินเป็น 2 เที่ยวบิน/สัปดาห์จาก 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และกรุงเทพ-ชงฉิ่ง ลดจาก 2 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เหลือ 1 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เนื่องจากภาพรวมความต้องการเดินทาง “ลดลง 4%” จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ขณะที่ประเทศไทยยังเจอ “เงินบาทแข็ง” ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง เพราะค่าใช้จ่ายในการมาเที่ยวเมืองไทยมีต้นทุนที่สูงขึ้นมาก ทำให้นักท่องเที่ยวหันการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางใหม่ โดยจะเห็นได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวสนามบินสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครึ่งปีแรก “ลดลง 4%” ถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ามาบริหารธุรกิจ ทำให้บางกอกแอร์เวย์สต้องอัดโปรโมชั่นแรงด้วยการขายตั๋วเครื่องบินไป-กลับ กรุงเทพ-เกาะสมุย ในราคา 4,000 บาท จาก 8,000 บาท
จากหลากผลกระทบดังกล่าว ทำให้ในปีนี้บริษัทได้ปรับลดประมาณจำนวนผู้โดยสารจากเดิม 6.16 ล้านคน มาอยู่ที่ 5.8 ล้านคน ลดลงจาก 5.9 ล้านคนในปีก่อน โดยครึ่งปีแรกมีจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 3.02 ล้านคน ส่วนอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร ยังคงเป้าหมายไว้ที่ 70%
กัปตันพุฒิพงศ์ ยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันเส้นทางบินในประเทศมีการ “แข่งขันรุนแรง” อย่างมาก ซึ่งยอมรับว่า การแข่งขันสูงกว่าปีที่แล้ว สอดคล้องกับภาพรวมความต้องการเดินทางลดลง 4% ก็ยิ่งมีการแข่งขันราคาลงมาอีก
โดยปี 2562 บริษัทได้ปรับเป้าหมายลงโดยรายได้จากตั๋วโดยสาร คาดว่าจะลดลงไม่เกิน 5% จากเดิมเดิมที่คาดเติบโต 3.5% เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้จากตั๋วโดยสาร 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ยอ่อนตัวลง โดยในช่วงครึ่งปีแรกราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 3,355 บาท ลดลง 3% ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะสามารถตรึงราคาขายเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าครึ่งปีแรก ทำให้ประเมินว่าราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ยลดลง 3-4% จากปีก่อน
ปัจจุบันรายได้ตั๋วโดยสารหลักๆ มาจากเส้นทางสมุย 49-50% เส้นทาง CLMV สัดส่วน 22-25% เส้นทางในประเทศ สัดส่วน 22-24% เส้นทางมัลดีฟส์และอินเดีย 3-5%
อย่างไรก็ตาม บริษัทจะเน้นเครือข่ายการบินในภูมิภาค CLMV (กัมพูชา-ลาว-เมียนมา-เวียดนาม)ที่ยังมีจำนวนผู้โดยสารเติบโต และ Yield (รายได้ต่อหน่วย) ถัวเฉลี่ยได้ดี
"Yield ของเรายังดูดี และพยายามไปหา Blue Ocean ไปจะทำให้มีแนวโน้มขยับขึ้นได้...ครึ่งปีหลังเราพยายามตรึงราคาขายเฉลี่ยหรือลดลง 3-4% จากปีก่อน เพราะเรามีเส้นทางภูมิภาค CLMV เป็นเส้นทางที่น่าสนใจ ทั้งจำนวนผู้โดยสาร ทั้ง yield ก็คิดว่ารายได้จะกระทบไม่เกิน 5%"
สำหรับแผนการลงทุนในปีนี้ บริษัทชะลอแผนการปรับปรุงฝูงบิน ที่ก่อนหน้านี้เคยมีแผนอยู่ ที่จะนำเครื่องบินแอร์บัส เอ220 หรือเครื่องบินโบอิ้ง 737 Max7/Max8 มาทดแทน เครื่องบินแอร์บัส เอ319 และแอร์บัส เอ320 รวม 25 ลำ แต่เห็นว่าจากสถานการณ์ตลาดเป็นเช่นนี้ บริษัทไม่ต้องเร่งดำเนินการดีกว่าเพราะจะเป็นต้นทุนการดำเนินการเข้ามา อาจจะต้องดูจังหวะที่เหมาะสม
โดยบริษัทมีฝูงบิน 40 ลำ อายุเฉลี่ย 9.7 ปี การใช้เครื่องบิน (Utilization) 8.6 ชั่วโมง/วัน ซึ่งจากเครือข่ายการบินที่มีอยู่ยังใช้เครื่องบินไม่ได้ประโยชน์สูงสุด และในปีนี้จะปลดระวางเครื่องบินอาร์ที อาร์ท 72-500 จำนวน 2 ลำ เพื่อลดแบบเครื่องบินลง จะทำให้สิ้นปีนี้ฝูงบินเหลือ 38 ลำ และปีหน้ายังไม่มีแผนรับมอบเครื่องบิน
----------------------
THAI-NOK-AAV อ่วม พลิกกลยุทธ์รอด..!
ก่อนหน้านี้ “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บมจ.การบินไทย หรือ THAI บอกว่า ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ส่งผลกระทบกับผลประกอบการโดยรวมของทุกสายการบิน โดยบริษัทจึงร่วมกันกำหนด 6 กลยุทธ์ “การลดรายจ่ายเพิ่มรายได้” คือ
1.กลยุทธ์ SaveTG Co-Creation เป็นกลยุทธ์การควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ
2.กลยุทธ์ Zero Waste Management โดยจะเริ่มที่ Food Waste ก่อน เป็นโครงการที่จะช่วยประหยัดและสร้างมูลค่าเพิ่ม (Circular Economy) ให้ทั้งกับองค์กรและประเทศชาติโดยรวม ขณะนี้ ได้เริ่มมีการศึกษาร่วมกันกับทาง FoodInnoPolis เพื่อกำหนดแผนงานปฏิบัติ
3.กลยุทธ์การรุกตลาดใหม่ ในไตรมาส 4 ของปีนี้ คือ บินตรงสู่เซนได อีกหนึ่งเมืองใหญ่ที่สวยงามทุกฤดูกาลในภูมิภาคโทโฮคุของญี่ปุ่น
4.กลยุทธ์การเพิ่มรายได้ โดยใช้ Digital Marketing อาทิ การออกโปรโมชั่นผ่านสื่อดิจิทัลทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงฐานลูกค้ากลุ่ม Online มากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการเพิ่มรายได้เสริม อาทิ โครงการการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ (E-Commerce) ซึ่งบริษัทได้คัดเลือกผู้จัดจำหน่าย (eCommerce Vendor) ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในด้านการดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้กับสายการบินชั้นนำของโลกเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนต.ค. 2562
5.กลยุทธ์ THAI Synergy การบินไทยมีสินค้าและบริการที่สามารถผสานพลังกับพันธมิตร โครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ คือ การผสานพลังกับ Café Amazon ในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชีย และ 6.กลยุทธ์ TG Group การบินไทยผนึกไทยสมายล์ เสริมความแข็งแกร่งในทุกมิติเพื่อให้เครือข่ายการบินเชื่อมต่ออย่างเป็นระบบ
“ดีดีการบินไทย” บอกต่อว่า คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังผลประกอบการน่าจะขาดทุนลดลง หรือ พลิกกลับมามีกำไร หลังจากครึ่งปีแรกมีผลขาดทุน 6,400 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทจะการปรับกลยุทธ์ และลดความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ อาทิ การทำประกันความเสี่ยงค่าเงินบาทไว้ระดับหนึ่ง ประกอบกับคาดว่าจะได้รับผลดีจากการเข้าสู่ไฮซีซั่นในไตรมาส 4 ปี 2562
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลักที่ทำให้ผลประกอบการครึ่งปีแรกขาดทุนมาก โดยเฉพาะไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบเงินบาทแข็งค่าขึ้น 5% ตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2562 ทำให้รายได้ของบริษัทลดลง 5% เพราะบริษัทมีรายได้หลักจากต่างประเทศถึง 95% ส่วน 5% เป็นรายได้จากในประเทศ แม้ว่าค่าใช้จ่ายในรูปเงินดอลลาร์ต่ำลงแต่ก็ไม่สามารถช่วยชดเชยได้ อีกทั้งจากการแข็งค่าของเงินบาททำให้บริษัทต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ปรับลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน หลังจากเงินหยวนอ่อนค่าและเงินบาทแข็งค่า !!
ขณะที่ “วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ หรือ NOK เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเดินไปตามแผนพลิกฟื้นธุรกิจ (Turnaround Plan) ที่วางได้อย่างต่อเนื่อง โดยเร่ง “เพิ่มรายได้และลดรายจ่าย”สิ่งสำคัญที่กำลังดำเนินการคือ การจัดการฝูงบินและการบิน (Aircraft Utilization) ให้บินไกลขึ้น ใช้เครื่องบินให้คุ้มค่าและลดต้นทุนลง รวมทั้งเตรียมเพิ่มบริการใหม่ๆ ในรูปแบบ segmentation by lifestyle ให้ผู้โดยสารเลือกได้ตามความต้องการ
ด้วยการสร้างประสบการณ์ในการเดินทางที่เหนือกว่า นำพานกแอร์ไปสู่การเป็น Premium Budget Airlines หลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาในธุรกิจสายการบินราคาประหยัดที่ทวีความรุนแรงขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการของนกแอร์อีกครั้ง
ปัจจุบัน สายการบินนกแอร์มีเส้นทางบินครอบคลุมทั้งเมืองหลักและเมืองรองมากที่สุดทั่วประเทศไทยถึง 51 เส้นทาง และเส้นทางบินระหว่างประเทศที่รวมบริการแบบเช่าเหมาลำถึง 10 เส้นทาง ซึ่งเส้นทางบินล่าสุดคือ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-กูวาฮาติ โดยการเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศบริษัทมีความตั้งใจที่จะเพิ่มจำนวนเส้นทางบินอย่างต่อเนื่องเพื่อการจัดการเครื่องบินและฝูงบิน (Aircraft Utilization) นั้นเกิดประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุด
“สันติสุข คล่องใช้ยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น หรือ AAV กล่าวว่า ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกได้รับแรงกดดันหลักมาจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาพรวมที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยเติบโตน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งยังอยู่ในระยะสร้างความเชื่อมั่น แต่ก็เริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ตามไทยแอร์เอเชียก็ยังเดินกลยุทธ์เชิงรุก ขยายเครือข่ายเส้นทางบินไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ ในตลาดสำคัญ ได้แก่ ภูมิภาคอินโดจีนและอินเดีย รวมถึงพิจารณาเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางอื่นๆ ที่ได้รับความนิยม เพื่อสร้างความสมดุลและเสถียรภาพ ทำให้ในไตรมาส 2 ปี 2562 บริษัทมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการเติบโตสูงกว่าการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในช่วงเวลาเดียวกัน
“สำหรับตลาดภายในประเทศยังรักษาส่วนแบ่งการตลาดที่แข็งแกร่งในฐานะผู้นำ พร้อมกับเพิ่มการเติบโตในตลาดระหว่างประเทศ ผ่านการขยายเส้นทางบินตรงและคว้าโอกาสใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากฐานปฏิบัติการบินดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย และภูเก็ตซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ทำให้เชื่อมั่นว่าไทยแอร์เอเชียจะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ตลอดปีนี้”
อย่างไรก็ตาม ปีนี้บริษัทยังจะเดินหน้าต่อไปตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะการเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่ได้รับความนิยมและขยายเครือข่ายเส้นทางสู่ตลาดใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพานักท่องเที่ยวชาติใดชาติหนึ่งมากเกินไป โดยตลอดปีนี้ตั้งเป้ายอดจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 23.15 ล้านคน และอัตราขนส่งผู้โดยสาร 86% พร้อมรับเครื่องบินใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานมากขึ้น เข้าประจำการฝูงบินอีก 1 ลำ รวมเป็น 63 ลำ ณ สิ้นปีนี้