เฝ้าระวัง!! พายุลูกใหม่เข้าไทยช่วงก.ย.-ต.ค.
"เฉลิมชัย" สั่งเฝ้าระวัง พายุลูกใหม่เข้าไทยช่วงก.ย. - ต.ค. ชี้พื้นที่เสี่ยง ลุ่มเจ้าพระยา ภาคใต้ เจอแนวพายุร่องดีเปรสชั่น เผยนายกฯห่วงน้ำท่วมภาคกลาง
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการประชุมร่วมกับนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และวิดีโอคอนเฟอเรนท์กับสำนักชลประทานทั่วประเทศ
โดยบอกว่า ได้เน้นย้ำให้ดูแลอย่างรอบด้าน เพราะมีทั้งภัยแล้งและอุทกภัยพร้อมกัน เพราะฉะนั้นความเสียหายจะลดลงได้จากการเตรียมความพร้อม การเฝ้าระวังและวางแผน ดังนั้นขอฝากทุกผู้บริหารกรมทุกท่านที่จะดำเนินการบรรเทาและยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น และจะช่วยทุกคนทำอย่างเต็มที่ เพราะที่ผ่านมารู้ว่าเหนื่อยกันมาก และที่ผ่านมาทราบดีว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ยาก และให้เตรียมรับมือพายุที่คาดว่าอาจจะมีอีก 1 ลูก อาจจะเข้าภาคกลางและใต้เพราะร่องฝนในเดือนต.ค.ฝนจะอยู่ในแนวนี้
“การบริหารน้ำที่ดีและมีอยู่ในนโยบายอยู่แล้ว ทั้งแล้งและอุทกภัย ให้เตรียมทั้งคน เครื่องมือให้ดี รู้ว่าทำงานกันหนัก ผมจะไม่ทำงานเอาเปรียบพี่น้องข้าราชการ แต่จะทำงานเคียงข้างกัน และจะช่วยเติมเต็มทุกอย่างขาดเหลืออะไรให้บอก และท่านนายกรัฐมนตรีก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ โดยเฉพาะการป้องกัน เพราะจะทำให้ลดความเสียหายได้มาก เราจะช่วยกันทำงานเชิงรุก “ นายเฉลิมชัยกล่าว
รมว.เกษตรฯกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ฝากให้ช่วยดูแลในเรื่องของการจูงน้ำเพื่อนำไปเก็บในที่ลุ่ม หรือแก้มลิง ที่ดินประชาชน และที่ของรัฐ นายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะช่วยเหลือโดยให้ไปดูว่าจะคิดอัตราค่าเช่าให้เกษตรกรหรือประชาชนอย่างไร เพราะต้องหยุดทำนาตลอดเวลาประกาศกฤษฎีกาเขตการเช่าที่ดินเพื่อกักน้ำไว้สำหรับฤดูแล้งถัดไปจะได้มีน้ำใช้
ระหว่างที่มีน้ำเข้าทุ่งให้ปล่อยพันธุ์กุ้งปลา ให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงนั้นด้วยเหมือนทุ่งระกำ จะมีพื้นที่เท่าไหร่อย่างไรให้แจ้งจำนวนเพราะต้องเสนอนายกรัฐมนตรี ในเร็วๆนี้
รมว.เกษตรฯกล่าวอีกว่า ขอให้รายงานปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งหมดที่กักน้ำมาเกิน 20 ปี เพื่อที่จะดูว่าจะสามารถขุดลอกได้หรือไม่ จะได้เพิ่มศักยภาพการเก็บน้ำเพิ่มโดยที่ไม่ต้องสร้างเขื่อนเพราะ 20 ปีขึ้นไปอาจมีตะกอนลึกเป็นเมตร หากขุดลอกจะเก็บน้ำได้อีกมากขอให้เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเขื่อนสร้างยาก
สำหรับการเตรียมรับมืออุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ รมว.เกษตรฯกล่าวว่า ขอให้กรมตรวจสอบเร่งรัดโครงการบรรเทาอุทกภัยในภาคใต้ทุกจังหวัดว่าดำเนินการคืบหน้าอย่างไรและที่ดำเนินการไม่เสร็จเพราะอะไร ทิ้งงานหรือไม่ ก็ต้องไปดำเนินการ และให้เร่งดำเนินการจำกัดสิ่งกีดขวางทางน้ำทั้งหมด โดยเฉพาะพื้นที่ท่วมซ้ำซาก ทั้งบางสะพาน ชุมพร นครศรีธรรมราช และหาดใหญ่ จ.สงขลา ที่เป็นห่วงมากเพราะเมื่อท่วมแล้วธุรกิจเสียมาก และที่ห่วงที่สุดคือนครศรีธรรมราช ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ครบทั้งระบบ แต่ทั้งนี้ให้ดูว่าหากมีน้ำมากจะมีวิธีการอย่างไรที่จะลดความเสียหายได้
"ได้ฝากให้กรมชลฯเตรียมเรื่องสะพานแบริ่งสำหรับ ไว้ช่วยในพื้นที่ภาคใต้เพราะภาคใต้ฤดูฝนจะมาประมาณปลายเดือน ก.ย. และเริ่มมากช่วง ต.ค. ถึง พ.ย. ให้เตรียมพร้อม หากสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ฉับไว ผลกระทบที่จะเกิดจะลดลงได้ "
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-พายุแรงขึ้น 'คาจิกิ' ถล่มอีสาน-ตะวันออก ฝนตกหนักถึงหนักมาก
-เตือนรับมือ 'พายุคาจิกิ' ชี้ 55 จังหวัดระวังฝนตกหนัก
-จับตา 'พายุดีเปรสชั่น' แรงขึ้น เตือนภาคอีสานรับมือฝนตกหนัก
-อุตุฯ ประกาศ ฉบับที่ 6 'พายุดีเปรสชัน'