49 ปี 'ไอศกรีมทิพย์รส' เสริมอัตลักษณ์ไทยให้ตำนานไอศกรีมไทย
ทายาทรุ่นที่สาม 'ไอศกรีมทิพย์รส' สานต่อตำนานไอศกรีมไทยชื่อดังแห่งย่านเตาปูนด้วยการนำขนมไทยที่เริ่มหาของอร่อยรับประทานยาก ขนมไทยโบราณ มาจับคู่กับไอศกรีมรสชาติดั้งเดิม ต่อยอดเป็นเมนูชุด 'ทิพย์รส อะเมซซิ่ง เมนู' 10 รายการใหม่
ผลึกความเย็นรสหวานชื่นใจ ที่พอกัดเข้าไปแล้วละลายเย็นซ่านในกระพุ้งปาก เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของ ‘ไอศกรีม’ หรือที่เรียกกันตามภาษาปาก ‘ไอติม’ ของหวานในฝันของเด็กๆ ที่แม้เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังนึกถึงความเย็นที่เคลือบไว้ด้วยรสชาติสุดโปรด
ร้านไอศกรีม ทิพย์รส ย่านเตาปูนในกรุงเทพฯ ก็เช่นกัน ตลอดทั้งวันจะเห็น ‘ลูกค้าวัยผู้ใหญ่’ ถ้าไม่นั่งกินไอศกรีมอยู่ในร้าน ก็เดินเข้ามาซื้อกลับบ้าน ว่าจ้างมอเตอร์ไซค์ให้มาซื้อ ยิ่งตอนเที่ยงโต๊ะเต็มทุกที่นั่ง ล้วนแต่ผู้ใหญ่ทั้งนั้น บางโต๊ะมีเด็กๆ มาด้วย ก็เป็นลูกหลาน
มีโอกาสพูดคุยกับลูกค้าบางโต๊ะ ทำให้ทราบว่า ส่วนใหญ่เคยกินไอศกรีมร้านนี้ตั้งแต่เด็กๆ พ่อแม่พามากิน มีโอกาสก็กลับมากินอยู่เรื่อยๆ ถึงวันที่ตนเองมีลูก ก็พาลูกมากินด้วย
ปัจจุบัน ร้านไอศกรีม ทิพย์รส ตั้งอยู่ในซอย ‘กรุงเทพ-นนทบุรี 2’ ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2513 ขณะนี้มีอายุ 49 ปีแล้ว
ร้านไอศกรีม ‘ทิพย์รส’ ปัจจุบันอยู่ในซอย ‘กรุงเทพ-นนทบุรี 2’
"ร้านไอศกรีมทิพย์รสเกิดจากอาเหล่ากู๋(คุณตา) อาเหล่ากู๋ชอบทำอาหาร ชอบทำขนม ก็เริ่มผลิตไอศกรีมด้วยการคิดค้นสูตรด้วยตัวเอง" เสาวลักษณ์ โสภณธนวัฒน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านไอศกรีมทิพย์รส เล่าที่มาของการเกิดร้านทิพย์รส ซึ่งสมัยนั้นยังสะกดชื่อร้านด้วยคำว่า ‘ไอสครีมทิพย์รส’
รสชาติไอศกรีมที่อาเหล่ากู๋ของคุณเสาวลักษณ์ทำขายครั้งแรก คือ กะทิรวมมิตร เผือก กะทิแมงลัก ประกอบกับเมื่อประมาณ 40-50 ปีที่แล้วยังไม่ค่อยมีใครทำไอศกรีมขาย ยังไม่มีร้านไอศกรีม หรืออาจจะมีแต่ก็ค่อนข้างน้อย ดังนั้นเมื่อ ‘ทิพย์รส’ เปิดตัวเป็นร้านไอศกรีม ขายไอศกรีมรสชาติที่ร้านอื่นไม่มี ก็ประสบผลสำเร็จในทันที..และเกินความคาดหมาย
บรรยากาศร้านไอศกรีม ‘ทิพย์รส’ ช่วงแรกก่อตั้ง ลูกค้าวัยผู้ใหญ่มานั่งกินไอศกรีมไม่ต่างจากร้านอาหาร
"ร้านแรกของอาเหล่ากู๋อยู่ริมถนน(กรุงเทพ-นนทบุรี)ฝั่งตรงข้ามกับร้านปัจจุบัน เป็นห้องแถวหนึ่งห้อง พอเปิดหน้าร้าน คนก็มาเอง อาจจะเมื่อก่อนยังไม่มีร้านแบบนี้ ส่วนแบ่งการตลาดยังไม่มาก...
พอปีที่สองพูดได้เลยว่าร้านมีชื่อเสียง ไม่ว่าเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ ตรุษจีน คือต่อคิว ไอศกรีมไม่แข็ง ก็เอากลับบ้าน เดี๋ยวไปแช่ต่อเอง แพ็คเกจยังไม่มีอะไร แค่ใส่ถุงพลาสติกแบบถุงแกง มัดปากถุง แล้วห่อหนังสือพิมพ์กลับบ้าน ผลิตไม่ทันกันทั้งวันทั้งคืน...
พอร้านดังมาก ที่นั่งไม่พอ ก็ข้ามถนนมาฝั่งนี้ เป็นห้องแถวสามห้อง ขายไอศกรีมอย่างเดียว เพิ่มเค้กเข้ามากินกับไอศกรีม เป็นเค้กชิ้นสี่เหลี่ยม เช่น เค้กมะพร้าว เค้กวานิลลา เค้กกล้วยหอม ทำเอง...
รุ่นคุณตา ไม่มีโปรโมตเลย 49 ปีที่แล้วไม่มีสื่อเหมือนทุกวันนี้ คือปากต่อปากอย่างเดียว ช่วงปีใหม่..ตำรวจล็อคล้อกันเป็นแถว ลูกค้ายอม ลงมาเอาไอติมก่อน แล้วไปเสียค่าปรับ" คุณเสาวลักษณ์ กล่าวจากที่ฟังผู้ใหญ่ในครอบครัวเล่า
จากห้องแถว 3 ห้องริมถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ร้านไอศกรีมทิพย์รสย้ายทำเลอีกครั้ง โดยขยับเข้ามาอยู่ในซอย ‘กรุงเทพ-นนทบุรี 2’ ห่างจากปากซอยประมาณ 30 เมตร ดำเนินธุรกิจต่อโดย ‘น้าชาย’ เป็นผู้บริหารรุ่นที่สอง พร้อมกับเพิ่มรสชาติไอศกรีมให้เข้ากับยุคสมัยในเวลาต่อมารวมทั้งสิ้น 18 รสชาติ คือ กะทิรวมมิตร เผือก กะทิแมงลัก ช็อกโกแลต สตรอว์เบอร์รี วานิลลา วานิลลาชิพ นมสด นมชิพ ข้าวโพด ชาเย็น ชาเขียว กาแฟ รัมลูกเกด ลิ้นจี่ มะนาว งาดำ โดยเฉพาะ ทุเรียน ที่เป็นอีกหนึ่งรสชาติซิกเนเจอร์อันโด่งดังของร้าน
เมื่อเสาวลักษณ์ ซึ่งเป็นหลานสาวของบ้าน สำเร็จการศึกษาคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ตัดสินใจเข้ามารับช่วงดูแลร้านไอศกรีมทิพย์รสต่อเป็นรุ่นที่สาม เธอมองถึงความเป็น ‘แบรนด์’ ที่สามารถพัฒนาต่อได้ จึงปรึกษากับเพื่อนๆ ว่าจะทำอย่างไรได้บ้างให้แบรนด์เติบโตต่อไปในทิศทางของยุคสมัย และชวนเพื่อนอีก 6 คนร่วมทุนบริหาร
หุ้นส่วนทั้ง 7 คนใช้เวลาคุยกันอยู่นานเพื่อกำหนด กลยุทธ์ทางธุรกิจ (roadmap) ในการพัฒนาแบรนด์ไอศกรีมทิพย์รสซึ่งมีอายุเข้าสู่ปีที่ 49
ตรีทศพล วิจิตรกุล, เสาวลักษณ์ โสภณธนวัฒน์
“ร้านนี้ผมกินมาตั้งแต่เด็ก คุณแม่ผมทำงานธนาคารกรุงไทย สาขาเตาปูน มาหาคุณแม่ตอนเย็น คุณแม่ก็พามาทานประจำ เรามีความ ‘อิน’ อยู่แล้ว รู้ว่าอร่อยแน่ พอมีโอกาส ก็ไม่อยากปล่อยไป” ตรีทศพล วิจิตรกุล ครีเอทีฟบริษัทโฆษณา หนึ่งในหุ้นส่วน กล่าว
“เรามองเห็นทิศทางในการเติบโตของร้านแบรนด์นี้ไปอีกไกล ในตลาดยังไม่ค่อยมีไอศกรีมไทยที่เป็น ‘ไอศกรีมเรสเตอรองต์’ จริงๆ” คือภาพที่คุณตรีทศพลปรึกษากับหุ้นส่วน และขยายความให้ฟังว่า
“ด้วยความที่ตลาดปัจจุบันมี ‘คาเฟ่’ เกิดขึ้นมากมาย การรับรู้ของคนที่มองคาเฟ่เป็นอีกแบบหนึ่งด้วย ‘บรรยากาศ’ เช่น นั่งแฮงก์เอาท์ ถ่ายรูป แต่เรามั่นใจในรสชาติสินค้าของเรา วาง ‘โพสิชัน’ ของเราว่าเป็นภัตตาคารไอศกรีม คือเป็นร้านไอศกรีมจริงๆ ที่ไม่ใช่เป็นคาเฟ่ เราขายรสชาติความอร่อยมากกว่าบรรยากาศ”
บรรยากาศภายในร้านไอศกรีม ‘ทิพย์รส’ ในซอยกรุงเทพ-นนทบุรี 2
หลังจากศึกษาและทำความรู้จักผลิตภัณฑ์ หุ้นส่วนทั้ง 7 คนก็สรุปร่วมกันว่า จุดแข็งของไอศกรีมทิพย์รสคือมั่นใจได้ใน รสชาติไอศกรีมทั้ง 18 รส จึงจะยังไม่คิดรสชาติไอศกรีมใหม่ แต่จะนำไอศกรีม 18 รสชาติดั้งเดิมมาต่อยอดเพิ่มมูลค่า
กลยุทธ์แรกที่เผยโฉมออกมา คือการสร้างสรรค์ ทิพย์รส อะเมซซิ่ง เมนู (Thipparot Amazing Menu) 10 รายการใหม่ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา
"คอนเซปต์ในการดีไซน์ ‘ทิพย์รส อะเมซซิ่ง เมนู’ เราไม่ได้ผลิตไอศกรีมรสชาติใหม่ เราใช้ไอศกรีมเดิมที่เรามี แต่เราเพิ่มความเป็นไทยและจีนของผู้ก่อตั้ง เราทำงานร่วมกับเชฟให้ได้เมนูเหมือนไฟน์ไดน์นิ่ง มีการจัดจาน คิดสูตรซอส-มูส ใส่สิ่งที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน" ตรีทศพล กล่าว
(บน)วิจิตรไข่ฝอย หมี่กรอบส้มซ่า, (ล่าง)หอมหมื่นไมล์
‘ทิพย์รส อะเมซซิ่ง เมนู’ ทั้ง 10 รายการ ได้แก่ หอมหมื่นไมล์ (109 บาท) ปกติเราจะได้ยิน ‘หอมหมื่นลี้’ ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามความหอมของการชงชาชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นหอมมาก แต่ที่ตั้งชื่อ ‘หอมหมื่นไมล์’ เพราะเป็นการดัดแปลงเมนูขนมปังโทสต์แบบตะวันตกให้มีความเป็นคล้ายๆ ‘ไอศกรีมขนมปังไทย’ โดยใช้ขนมปังปิ้งแบบไทยๆ ทาเนยสด ที่สุดของความหอมของขนมปังทาเนยปิ้งที่คนไทยคุ้นเคย ไฮไลต์อยู่ที่ ‘ซอสใบเตยเมเปิล’ ทำจากเมเปิลไซรัปผสมน้ำใบเตย ใช้จิ้มกับขนมปังปิ้ง เลือกเสิร์ฟกับไอศกรีมรส 'นมสด’ ของแบรนด์
วิจิตรไข่ฝอย หมี่กรอบส้มซ่า กลิ่นไข่ฝอยทอดกรอบหอมกรุ่น โรยบนไอศกรีม ‘กะทิรวมมิตร’ ล้อมด้วยหมี่กรอบส้มซ่าอมเปรี้ยวอมหวานตามตำรับสมัยรัชกาลที่ห้า
ถังทอง
อีกหนึ่งเมนูที่เต็มไปด้วยกลิ่นหอม ถังทอง (99 บาท) ทิพย์รสนำ ‘ขนมถังแตก’ ที่เหมือนเป็นขนมประจำงานวัด เดี๋ยวนี้คนในเมืองหากินยาก เพราะงานวัดไม่ค่อยมี กลับมาสู่คนเมืองอีกครั้ง จัดวางขนมถังแตกบนภาชนะที่ออกแบบพิเศษอย่างสวยเพื่อเมนูนี้โดยเฉพาะ ครบเครื่องด้วยการโรยน้ำตาลทราย งาขาว-งาดำคั่ว เสิร์ฟคู่กับไอศกรีมซิกเนเจอร์ ‘กะทิรวมมิตร’ โรยมะพร้าวขูดใหม่ทุกครั้งที่มีออร์เดอร์ ไม่มีการขูดมะพร้าวเก็บไว้ เพราะเนื้อมะพร้าวที่ขูดใหม่ๆ จะฉ่ำน้ำและมีกลิ่นหอม เชฟลงมือปรุงแป้งขนมถังแตกให้เป็นสูตรของทิพย์รส คนทำขนมจะโรยน้ำแป้งลงในแม่พิมพ์ทำสดใหม่ร้อนๆ เสมอ ไม่ได้ทำตัวขนมทิ้งไว้เช่นกัน ร้านจึงมีกลิ่นหอมของแป้งขนมถังแตกอบทุกครั้งที่มีออร์เดอร์
ปลากริมไข่เต่ากะทิหอม
เมนูที่คุณตรีทศพลใช้คำว่า ‘ม้ามืด’ เพราะกลายเป็นเมนูยอดนิยมอย่างรวดเร็วคือ ปลากริมไข่เต่ากะทิหอม (89 บาท) รสชาติที่กลมกลืนกันพอดีจากความหวานของปลากริมต้มน้ำตาลมะพร้าวจนนิ่มพอดี กับความเค็ม-มันจากไข่เต่าต้มน้ำกะทิ สุดยอดของความกลมกล่อมจากสูตรของเชฟ ทิพย์รสเลือกเสิร์ฟกับไอศกรีม ‘เผือก’ และเผือกทอด
(บน)แตงโมปลาแห้ง สังขยาเคี่ยว, (ล่าง)รสแห่งสยาม
รสแห่งสยาม (119 บาท) เกิดจากความต้องการนำอาหารไทยที่โลกรู้จัก ‘ต้มยำกุ้ง’ มาเสิร์ฟร่วมกับไอศกรีม เมื่อคิดจากต้มยำน้ำข้น เชฟจึงสร้างสรรค์องค์ประกอบในจานให้มี วุ้นตะไคร้ใบเตย พริกทอด กินกับไอศกรีม ‘นมสด’ เมื่อกินรวมกันแล้ว ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังกินต้มยำใส่นมสดให้กลายเป็นต้มยำน้ำข้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ดูเหมือนธรรมดา แต่มีเอกลักษณ์อีกหนึ่งเมนู แตงโมปลาแห้ง สังขยาเคี่ยว (99 บาท) ทิพย์รสนำของว่างไทยโบราณ ‘ปลาแห้งแตงโม’ มาให้กินกับข้าวเหนียว เพิ่มความหวานมันด้วยไอศกรีม ‘นมสด’ เพิ่มความหอมด้วยการราด ‘สังขยาเคี่ยว’ สูตรเฉพาะ
(ซ้าย)จตุมงคลจารึก, (ขวา)น้ำเต้าหู้โบราณ
เมนูที่นำเสนอคุณค่าอัตลักษณ์ความเป็นไทย จตุมงคลจารึก (119 บาท) ได้แรงบันดาลใจมาจากขนมมงคลโบราณ 4 ชนิด ไข่กบ-เม็ดแมงลัก, นกปล่อย-ลอดช่อง, บัวลอย-ข้าวตอก, อ้ายตื้อ-ข้าวเหนียวดำ มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกไว้ในศิลาจารึก นิยมทำรับประทานในงานเลี้ยงประเพณีสมัยโบราณเพื่อความเป็นสิริมงคล ทิพย์รสเลือกไอศกรีม ‘กะทิแมงลัก’ ของร้านเป็นตัวแทน ‘ไข่กบ’ โรยหน้าด้วยฝอยทอง ก่อนรับประทานราดด้วยน้ำกะทิทรงเครื่อง รสชาติไม่หวานมาก ลงคลุกเคล้า
น้ำเต้าหู้โบราณ (109 บาท) เป็นการผสมผสานรสชาติคลาสสิกของน้ำเต้าหู้เข้ากับไอศกรีม ‘งาดำ’ หอมกลิ่นงาคั่ว ค่อยๆ ละลายปนเครื่องเคียงหลายชนิด เช่น แปะก๊วย วุ้น สาคู ลูกเดือย ถั่วแดง เม็ดบัว โก๋กรอบ คนครัวของทิพย์รสต้มน้ำเต้าหู้สดใหม่ทุกวัน ถ้าไปถึงร้านช้าหรือวันนั้นลูกค้ามาก เมนูนี้อาจหมดก่อน
(บน)บานาน่าไทยสไตล์, (ล่าง)เหินห่าวชือ
ทิพย์รสนำ ‘ขนมยิ้มเสน่ห์’ ขนมไทยเชื้อสายจีนซึ่งเป็นขนมโบราณอีกชนิดหนึ่งกลับมาทำเป็นเมนูชื่อ เหินห่าวชือ (109 บาท) เป็นการกินรวมกันระหว่าง ‘ขนมยิ้มเสน่ห์’ ทำจากแป้งปรุงรสแล้วนำไปทอด ไข่แดงของไข่เค็มชนิดที่ไม่ได้ทำไว้กินกับข้าวต้ม และไอศกรีม ‘ชาเย็น’ สูตรต้นตำรับทิพย์รส กลิ่นหอมละมุนจากการชงชาไทยด้วยถุงชงแบบโบราณ วางบนซอสไข่เค็มที่เชฟคิดสูตรเฉพาะสำหรับทิพย์รส ชื่อเมนูนี้แปลว่า ‘อร่อยมาก’
บานาน่าไทยสไตล์ (89 บาท) กล้วยตากชุบแป้งทอดที่มีทั้งความกรอบและหนุบหนับ แนมด้วยกล้วยฉาบกรุบกรอบ เลือกให้เข้าคู่กับไอศกรีม ‘วานิลลา’ ราดด้วยน้ำที่ใช้จิ้มกล้วยปิ้ง
“นอกจากเราอยากอนุรักษ์ของดีๆ ที่ไทยมีไว้ อีกประเด็นที่ 'ทิพย์รส อะเมซซิ่ง เมนู' ออกมาในรูปแบบนี้ เพราะเรามีแท็กไลน์(tagline การอธิบายว่าสิ่งที่แบรนด์เป็นคืออะไร มีเป้าหมายอย่างไร)ของร้าน ว่าเป็นไอศกรีมระดับตำนาน เราพยายามใช้คำนี้เข้าไปอยู่ในแบรนด์เอสเซนส์ (Brand Essence สาระสำคัญของแบรนด์) เพราะฉะนั้นเราจะเอาตำนานขนมไทยมาเป็นแกนในการดีไซน์เมนู” ตรีทศพล กล่าว
ไอศกรีมทิพย์รสมีจุดแข็งเรื่อง ‘รสชาติ’ ขณะเดียวกันก็มี ‘จุดอ่อน’ เช่นกัน แต่เป็นจุดอ่อนที่ปนไปด้วยทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภค
"ตัวไอศกรีมของทิพย์รส ข้อดีคือมั่นใจได้ในรสชาติ แต่จุดอ่อนคือเก็บได้ไม่นาน ละลายเร็ว เพราะเราไม่ใช้สารช่วยคงตัว ไม่ใช้วัตถุกันเสีย ถ้าซื้อกลับบ้าน อย่าเอาไว้นาน เพราะไอศกรีมจะโดนความเย็นกัด สีและเท็กซ์เจอร์จะเปลี่ยน ไอศกรีมทิพย์รสเก็บได้ไม่ควรเกินสามอาทิตย์ แต่เป็นข้อดีอีกอย่างสำหรับผู้บริโภคเลือกกินไอศกรีมโฮมเมดสดๆ ที่ไม่มีวัตถุกันเสีย ไม่มีสารคงตัว"
ข้าวเหนียวทุเรียน : ข้าวเหนียวมูนกับไอศกรีมรสทุเรียน
คุณเสาวลักษณ์กล่าวเสริมว่า อีกองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ไอศกรีมทิพย์รสมีจุดเด่นในเรื่องรสชาติ คือการใช้ ‘วัตถุดิบคุณภาพ’ เช่น ไอศกรีมทุเรียน ทำจากเนื้อทุเรียนหมอนทองจริงๆ ไม่แต่งกลิ่นเพิ่ม, ไอศกรีมรสชาเย็น ทำจากการชงใบชาจริงๆ ไม่ใช้ผงชาหรือแต่งรสเพิ่ม
เครื่องเคียงสำหรับรับประทานกับไอศกรีมที่ทิพย์รสเตรียมไว้ให้เลือกมากมาย
ตั้งแต่เปิดร้านครั้งแรก ทิพย์รสตักไอศกรีมขายสคูป(scoopp)ละ 2 บาท ปัจจุบันสคูปละ 30 บาทสำหรับนั่งกินที่ร้าน โดยมี เครื่องเคียง หลายประเภทให้กินคู่กับไอศกรีม อาทิ ข้าวเหนียวมูน ลูกชิด ถั่วลิสง เยลลี่ เม็ดบัวเชื่อม มะยมเชื่อม มะม่วงเชื่อม ซุปข้าวโพด ป๊อกกี้ ช็อกโกแลตซันเดย์ สตรอว์เบอร์รีซันเดย์ ราคาประเภทละ 5 บาท ซื้อกลับบ้านประเภทละ 20 บาท
รวมทั้งจัดทำไอศกรีมเป็นกล่องเล็กครึ่งกิโลกรัม กับกล่องใหญ่หนึ่งกิโลกรัม สำหรับการซื้อกลับบ้าน และเป็นการขายแบบโบราณคือ ห่อหนังสือพิมพ์กลับบ้าน คุณเสาวลักษณ์บอกว่ากระดาษหนังสือพิมพ์ไทยนี่ล่ะเก็บความเย็นได้ดีนัก หากลูกค้าต้องการกล่องโฟมก็ซื้อแยกต่างหากได้ ขณะเดียวกันก็มีร้านชาบูและร้านอาหารไทยบางร้านรับไอศกรีมทิพย์รสไปจำหน่ายเป็นเมนูของร้าน
ทิพย์รสไข่แข็ง : หนึ่งในเมนูระดับตำนานของทิพย์รส
กะทิทรงเครื่อง : ไอศกรีมกะทิรวมมิตร กับเครื่องเคียงที่เลือกได้
“ไอศกรีมกะทิรวมมิตรยังเป็นรสชาติขายดีที่สุด คือผสมลอดช่อง-ขนุน เราไม่มีไอศกรีมกะทิล้วน คนชอบถามกันเยอะมาก ถ้ากะทิล้วน..เราแนะนำให้ทานไอศกรีมนมสดแทน” คุณเสาวลักษณ์กล่าว
นอกจากไอศกรีม 18 รสชาติดั้งเดิมที่มีจำหน่ายตลอดปี ทิพย์รสยังมีชื่อเสียงด้านไอศกรีมรสชาติตามฤดูกาล เช่น ไอศกรีมน้อยหน่า ไอศกรีมลำไย ที่จะกลับมาในช่วงเวลาที่ผลไม้ชนิดนั้นๆ ออกผล โดยเฉพาะ ‘ไอศกรีมน้อยหน่า’ ที่แฟนทิพย์รสตัวจริงตามหากันมาก
ทิพย์รสใช้ ‘ไอศกรีมกะทิ’ เป็นพื้นฐานในการทำไอศกรีมแต่ละรสชาติ และใช้เฉพาะ ‘หัวกะทิ’ ที่มีทั้งความหวาน-มัน-หอม เจาะจงใช้ มะพร้าวทับสะแก เท่านั้นตามสูตรที่ ‘อาเหล่ากู๋’ สั่งมะพร้าวจากที่นี่มาใช้ตั้งแต่ดั้งเดิม
49 ปีของไอศกรีมไทยย่านเตาปูน..สิ่งที่รักษาไว้คือแก่นความเป็นทิพย์รส.. สิ่งที่จะพัฒนาต่อไปคือ 'ตัวแบรนด์'
ร้านไอศกรีมทิพย์รส เลขที่ 50/2-3 ซอยกรุงเทพ-นนทบุรี 2, ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี สามแยกเตาปูน บางซื่อ กรุงเทพฯ สอบถามและสั่งซื้อสินค้าปลีก-ส่ง โทร.0 2585 0415 Line ID : @thipparot
#ทิพย์รส #ไอศกรีมทิพย์รส #ไอศกรีม
---------------------------------
ภาพ : กอบภัค พรหมเรขา, ทิพย์รส