กสทช.ลุยเวิร์กช้อปเอไอหนุน5จี

กสทช.ลุยเวิร์กช้อปเอไอหนุน5จี

ถกไอทียูหน่วยงานต่างชาติกำหนดทิศทางเทคโนโลยี

กสทช.จัดสัมมนาหาโมเดลคนต้นแบบรับมือเอไอ-ไอโอที หนุน 5จีที่กำลังเปลี่ยนโลก เชื่อส่งผลกระทบด้านดีกับดิจิทัลอีโคโนมีของประเทศ เผยสาเหตุผลักดัน 5จีให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยใช้ “นายกฯ” เป็นประธานเพราะไม่อยากให้เรื่องนี้ล่าช้าหวั่นไทยเสียเปรียบ​ ชี้ภายในเดือนพ.ย.นี้จะต้องได้ข้อสรุปการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมดมาประมูล 5จีในทุกย่านความถี่

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการเอ็นบีทีซี-ไอทียู-เอ็นไอเอ เซ็นเตอร์ ออฟ เอ็กเซลเลนท์ 2019 ว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู​) และสถาบัน​เทคโนโลยี​แห่งชาติเกาหลี จัดงานสัมมนาเพื่อการพัฒนา​บุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในประเด็น​สำคัญ อาทิ 1.การใช้ประโยชน์​จากเอไอ 2.ปัญญา​อุปสรรคจากการนำไปใช้งาน

โดยการประชุมดังกล่าวมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกภูมิภาคต่าง ๆ ทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วโลก อาทิ อเมริกา ยุโรป แอฟริกา อาหรับ และเอเชียแปซิฟิก ที่มาร่วมเสนอ แนะแนว เกี่ยวกับนโยบาย หรือดำเนินโครงการความร่วมมือต่างๆ ตลอดจนร่วมกันพิจารณากำหนดแผนงานและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม และเพื่อกำหนดทิศทางของแนวนโยบายของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร และกำกับดูแลโทรคมนาคมขององค์กรแต่ละหน่วยงานที่ดูแล

เขา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ได้แก่ 5จี,อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที),บล็อกเชน,บิ๊ก ดาต้า,คลาวด์,ดิจิทัล แพลตฟอร์ม และ เอไอ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีบทบาทที่สำคัญต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงผ่านเทคโนโลยีไปสู่ดิจิทัล ที่จะเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กล่าวมานั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อภาคส่วนไอซีที และส่งผลต่อภาคส่วนสาธารณสุข เกษตรกรรม การคมนาคม การค้า และระบบการเงิน ที่จะมาเปลี่ยนแปลงช่วยพัฒนาศักยภาพและความสามารถของประชากรและองค์กรต่าง ๆ ภายในประเทศไทยให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

สำหรับสาเหตุที่ต้องผลักดันการขับเคลื่อน 5จี ให้เป็นวาระแห่งชาติ​ และมีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จีระดับชาติ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นั้น เนื่องจากหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย มีความพยายามผลักดันการขับเคลื่อน 5จี โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี ระดับชาติเช่นกัน จึงไม่อยากให้เรื่องนี้ล่าช้า ซึ่งไทยจะเกิดความเสียเปรียบ​

อย่างไรก็ดี การประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไป จะเกิดขึ้นในช่วงม.ค. 2563 ซึ่งเป็นจัดการประมูลล่วงหน้า ในรูปแบบการประมูลมัลติแบนด์​ ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 26-28 กิกะ​เฮิรตซ์​ ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 1800, 3500 เมกะเฮิรตซ์ จะจัดการประมูลลำดับถัดไป ภายในเดือนพ.ย.นี้ จะต้องได้ข้อสรุปการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมด โดยการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จากบมจ.อสมท​ จะได้ข้อสรุปแล้ว ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์​ ที่ปัจจุบัน​อยู่ในการถือครองของบมจ.ไทยคม เพื่อให้บริการในดาวเทียมไทยคม 5 จะสิ้นสุดสัญญา​สัมปทาน​ในวันที่ 11 ก.ย.2564 ทำให้คลื่นความถี่จะพร้อมใช้งานได้หลังจากนั้นและไทยคมจะต้องย้ายไปใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 3700-4200 เมกะเฮิรตซ์​แทนเพื่อไม่ให้ลูกค้าได้รับผลกระทบ