กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เดินหน้าตั้งหน่วยงานโต๊ะจีน จ่อเซ็นเอ็มโอยูหอการค้าไทยในจีน ผนึก 17 บริษัทใหญ่ หนุนความร่วมมือ 2 ประเทศ จับมือดึงธุรกิจจีนรายมณฑลมาลงทุน ถ่ายทอดเทคโนโลยีในไทย
นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งขยายความร่วมมือกับประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะการดึงดูดนักลงทุนจากจีนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และบริษัทที่อยากขยายฐานการผลิตในไทยเพื่อเจาะตลาดอาเซียน
ดังนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้ต่อยอดความสำเร็จจากหน่วยงานโต๊ะญี่ปุ่น (Japan Desk) ที่ประสบความสำเร็จขยายการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังได้ลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่น 21 จังหวัดของญี่ปุ่น โดยจะนำแนวทางดังกล่าวตั้งหน่วยงานโต๊ะจีน (China Desk) ขึ้น
ธุรกิจไทยในจีนร่วมหนุน
ทั้งนี้ ล่าสุดได้เข้าไปหารือกับหอการค้าไทยในประเทศจีน ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจรายใหญ่ของไทยที่เข้าไปลงทุนมีจำนวน 17 บริษัท เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งบริษัทคนไทยเหล่านี้มีบริษัทลูกในจีนอีกกว่า 100 บริษัท จึงมีความเข้าใจและสายสัมพันธ์กับภาครัฐและธุรกิจในจีนอย่างลึกซึ้ง
“ในเร็วๆนี้จะเดินทางไปหารือกับนักธุรกิจไทยกลุ่มนี้อีกรอบ เพื่อเตรียมการลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ที่คาดว่าจะมีการลงนามเอ็มโอยูภายในปีนี้ เพื่อร่วมดันจัดตั้งหน่วยงานโต๊ะจีนขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยเหล่านี้จะเข้ามาช่วยประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการของจีนทั้งระดับรัฐบาลกลาง รัฐบาลมณฑล และหน่วยงานภาคเอกชน กับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อดึงดูดการลงทุน ความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยี ระหว่างภาคอุตสาหกรรมของไทยและจีน”
นายภาสกร กล่าวว่า โมเดลของโต๊ะจีน จะไม่เหมือนกับโต๊ะญี่ปุ่น โดยจุดเริ่มต้นของโต๊ะญี่ปุ่นมาจากการที่รัฐบาลและเอกชนญี่ปุ่นต้องการขยายความร่วมมือกับไทยเพื่อบุกเบิกตลาดอาเซียน เพราะตลาดภายในประเทศญี่ปุ่นเล็กและค่าจ้างสูงจึงบีบให้ต้องลงทุนต่างประเทศ
รวมทั้งมีองค์กรภาครัฐและเอกชนของญี่ปุ่นร่วมมือเต็มที่ เช่น องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (เจซีซี) ที่ได้เข้ามาตั้งสำนักงานในไทย เป็นผู้ประสานความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศ รวมทั้งไทยก็ต้องการดึงดูดการลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น จึงทำให้โต๊ะญี่ปุ่น ดำเนินงานคืบหน้าอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศจีน มีตลาดภายในประเทศที่ใหญ่มาก ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเข้ามาพึ่งพาตลาดอาเซียนมากนัก รวมทั้งในขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานกลางของจีนเข้ามาประสานงานแบบเจโทร
เน้นชักจูงลงทุนเทคโนฯสูง
สำหรับแนวทางการดำเนินงาน จะประสานความร่วมมือกับรายมณฑลของจีนทั้งระดับผู้บริหารมณฑล และภาคเอกชนภายในมณฑลแบบที่ได้ลงนามความร่วมมือกับ 21 จังหวัดของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเน้นทั้งการดึงดูดการลงทุน การร่วมลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เนื่องจากเทคโนโลยีของจีนโดยเฉพาะด้านดิจิทัลได้ก้าวหน้าไปเร็วมาก
รวมทั้งโต๊ะจีนจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนจีนที่จะเข้ามาในไทย และเป็นที่ปรึกษาหาช่องทางโอกาสการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการจัดคู่ธุรกิจระหว่าง 2 ประเทศ ดึงดูดจีนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการนำนักธุรกิจจีนเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆในไทย
“การดำเนินงานจะเป็นเชิงรุก โดยนในช่วงแรกจะเข้าไปเปิดความร่วมมือที่ปักกิ่งก่อน จากนั้นจะขยายความร่วมมือกับมณฑลโดยรอบ และมณฑลที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยการนำคณะนักธุรกิจและภาครัฐของไทยไปหารือกับผู้บริหารรายมณฑลของจีน"
เตรียมนำคณะเยือนจีน
ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงสินปีจะเห็นความชัดเจนของแผนการนำคณะไปเยือนผู้ว่าการมณฑลต่างๆ รวมทั้งจะหาหน่วยงานของจีนที่ทำงานในลักษณะเดียวกับเจโทรของญี่ปุ่นในไทย เพื่อเป็นตัวกลางในการดำเนินการร่วมกัน เพื่อผลักดันความร่วมมือให้เดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ความคืบหน้าของโต๊ะญี่ปุ่น หลังจากที่ได้ลงนามความร่วมมือกับ 21 จังหวัดของญี่ปุ่นแล้ว ล่าสุดได้เตรียมที่จะลงนามความร่วมมือกับจังหวัดโอซาก้าภายในปีนี้เป็นจังหวัดที่ 22 โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 10 ปี ของโต๊ะญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ส่งผลให้เกิดการลงทุนทางตรงจากประเทศญี่ปุ่น และการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทยส่งผลให้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมไทยเพิ่มขึ้น จากเดิมมีผู้ประกอบการญี่ปุ่นมาลงทุน 2,100 บริษัท เพิ่มขึ้นอีก 500 บริษัท รวมเป็น 2,600 บริษัท คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 70,000 ล้านบาท
หอการค้าหนุนเชื่อมจีน
นายไกรสินธุ์ วงศ์สุรไกร ประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวคิดที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะตั้งหน่วยงานโต๊ะจีนขึ้น เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนลงลึกรายมณฑลเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้นักธุรกิจ 2 ประเทศทำงานใกล้ชิด มีช่องทางในการติดต่อประสานงานสะดวก
ส่วนการเริ่มต้นจัดทำหน่วยงานโต๊ะจีนนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมควรหารือกับสำนักงาน China Council for the Promotion of International Trade (CCPIT) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลจีนที่ได้เข้ามาตั้งสำนักงานในไทยเมื่อปี 2561 โดยหน่วยงานนี้มีภารกิจหลักในการส่งเสริมการลงทุนกับต่างประเทศ และช่วยคัดกรองเลือกบริษัทของจีนในแต่ละจังหวัดแต่ละมณฑลของจีนเข้ามาเยือนไทย รวมทั้งหาข้อมูลเชิงลึกของไทยป้อนให้กับนักธุรกิจจีน
“หน่วยงาน CCPIT ของจีน ไม่ได้ตั้งทุกประเทศ แต่จะเลือกเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่จะขยายการค้าและการลงทุน ซึ่งการเข้ามาตั้งสำนักงานในไทยในปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าจีนให้ความสำคัญในการขยายการค้าการลงทุนกับไทยเป็นพิเศษ โดย CCPIT จะทำงานคล้ายๆกับเจโทรของญี่ปุ่น ซึ่งหากโต๊ะจีนได้เข้ามาร่วมมือกับ CCPIT ก็จะทำให้ความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว และลงลึกในจีน เพราะ CCPIT มีสกนักงานในทุกมณฑลของจีน”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา CCPIT สำนักงานใหญ่ในปักกิ่ง และมณฑลต่างๆ ได้นำนักธุรกิจจีนเข้าเยือนไทยอยู่หลายครั้ง หากกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งโต๊ะจีน เพื่อประสานความร่วมมือกับนักธุรกิจชาวจีนอย่างเฉพาะเจาะจง ก็มั่นใจว่าจะทำให้การค้า การลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ ขยายเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-4 เมกะเทรนด์..อสังหาฯ ยุคเปลี่ยนโครงสร้างรับมือแข่งเดือด
-อสังหาฯมาเลย์-ไทยส้มหล่นจากเหตุประท้วงฮ่องกง
-อสังหาริมทรัพย์ต่างแดน - CEO Blogs
-เดิมพันอสังหาฯแสนล้าน ลดยาแรง LTV