กสทช. เร่งเดินหน้า 5G ตั้งเป้าเปิดบริการปี 63
กสทช. เดินหน้า 5G เสนอตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ พร้อมรับข้อเสนอปรับหลักเกณฑ์ประมูล ตั้งเป้าเปิดใช้ได้ภายในปลายปี 2563 หวั่นช้าทำไทยเสียโอกาส ด้านเอกชนรอดูความชัดเจนก่อนตัดสินใจลงทุน
เทคโนโลยีสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณการใช้งานและการรับส่งข้อมูลมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดการณ์ว่าจะเพิ่มมากกว่ายุคเทคโนโลยี 4G มากถึง 100 เท่า ทำให้ต้องจัดสรรคลื่นความถี่มารองรับเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการแข่งขันทางธุรกิจมีเพิ่มมากขึ้น หากประเทศไทยไม่ตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงและไม่ปรับมาใช้เทคโนโลยี 5G อาจทำให้ตามประเทศอื่นไม่ทัน ซึ่งจะทำให้เสียโอกาสและขีดความสามารถในการทำธุรกิจ เพื่อแข่งขันกับนานาประเทศ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุ แผนการจัดสรรคลื่นความถี่ ยังเป็นไปตามแผนโดยจะมีการจัดสรร 2600,700 เมกะเฮิรตซ์ 26-28 กิกะเฮิรตซ์ เริ่มกระบวนการประมูลในปี 2563 ซึ่งเป็นจัดการประมูลล่วงหน้า ในรูปแบบการประมูลหลายย่านความถี่พร้อมกัน และจะเปิดใช้บริการได้ปลายปี 2563 ตามโรดแมปที่กำหนดไว้
โดยจะผลักดันให้พร้อมเปิดใช้ 5G ให้ได้ภายในเดือนตุลาคม 2563 นำร่องในภาคอุตสาหกรรม ก่อนขยายสู่ด้านอื่นๆ ต่อไป เพื่อเตรียมพร้อมและลดความเสียเปรียบการแข่งขันด้านการลงทุน ซึ่งจะได้รับผลกระทบทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น (มีกราฟฟิก) ประเมินมูลค่าว่าหาก 5G ไม่เกิดจะทำให้สูญเสียในภาคการผลิต โลจิสติกส์ เกษตรกรรม รวมมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี จึงจำเป็นที่ต้องขับเคลื่อน 5G ในเกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะหากล่าช้าจะเกิดผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศได้
ต้องยอมรับว่าปัจจัยเรื่องราคาประมูลที่สูง เงื่อนไขการประมูล การลงทุนปรับระบบที่โอเปอเรเตอร์ต้องแบกรับ และความไม่แน่นอนด้านการต่อยอดในภาคอุตสาหกรรม เป็นสิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของโอเปอเรเตอร์ ซึ่งได้เสนอให้ปรับหลักเกณฑ์ผ่อนผันในการขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายก่อน เช่นเดียวกับจีน และเวียดนาม ที่เปิดให้โอเปอเรเตอร์นำคลื่นความถี่ไปใช้งานก่อน แล้วชำระเงินภายหลัง
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G เพื่อนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปแก้ไข เป็นวาระแห่งชาติ 5G ประกอบด้วย 1. มูลค่าคลื่นความถี่ 2. การลงทุนของโอเปอเรเตอร์ 3. การต่อยอดการทำงาน การนำไปใช้งาน การตั้งคณะกรรมการช่วยขจัดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยดึงหน่วย งานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการต่อยอดทันที เพื่อช่วยให้โอเปอเรเตอร์เกิดความมั่นใจในการลงทุนเพิ่มขึ้น
ด้านอเล็กซานดรา ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น ระบุ บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในเรื่อง 5G แต่ต้องดูผลด้วยว่าจะเกิดอย่างไร ดังนั้นจึงควรมีโรดแมปการพัฒนาที่ขัดเจนเพื่อให้เกิดการลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งดีแทคยืนยันที่จะพัฒนา 5G โดยอยากให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วน เพราะที่สุดแล้ว 5G จะเกิดขึ้นได้ต้องมีความพร้อมในทุกๆ ด้านโดยเฉพาะต้องมีการลงทุนทางธุรกิจที่สมเหตุสมผล