คพ. แจง ดำเนินมาตราการควบคุมฝุ่นละอองตามวาระแห่งชาติ
ระบุ ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนและฝนน้อย ทำให้ฝุ่นละอองสะสมเพิ่มขึ้น
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้แจ้งประสาน กทม. บก.จร. กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว
นอกจากนี้ ยังได้แจ้งขอความร่วมมือประชาชนงดการเผาในที่โล่งทุกชนิด บำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดควันดำ ใช้ระบบขนส่งสาธารณะทดแทนการใช้รถส่วนบุคคล ตรวจสอบและไม่ใช้รถขนส่งสาธารณะที่มีควันดำ และขอความร่วมมือสถานที่ก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรมควบคุมและลดการระบายฝุ่นและมลพิษทางอากาศ
จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรุงเทพมหานคร ประจำวันที่ 30 กันยายน 2562 พบปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 40 - 78 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินเกณฑ์มาตรฐาน 33 สถานี (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่:
เขตบางขุนเทียน เขตปทุมวัน เขตธนบุรี เขตวังทองหลาง เขตดินแดง เขตสัมพันธวงศ์ เขตพญาไท เขตบางรัก เขตสาทร เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตจตุจักร เขตคลองสาน เขตบางกอกน้อย เขตภาษีเจริญ เขตคลองเตย เขตบางซื่อ เขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตบึงกุ่ม เขตบางพลัด และบริเวณถนนสิริธร / จังหวัดนนทบุรี บริเวณ อ.บางกรวย และ อ.ปากเกร็ด / จังหวัดปทุมธานี บริเวณ อ.คลองหลวง / จังหวัดสมุทรปราการ บริเวณ อ.พระประแดง และ อ.เมือง / จังหวัดสมุทรสาคร บริเวณ อ.กระทุ่มแบน และ อ. เมือง / จังหวัดนครปฐม บริเวณ อ.เมือง
ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าเกือบทุกพื้นที่ คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
คพ. ระบุว่า แนวโน้มของฝุ่นละอองที่เพิ่มขึ้นนี้ ตามการรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2562 เป็นต้นมา มีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุม กทม. และปริมณฑล ทำให้ช่วงเช้าเกิดสภาวะลมสงบ ประกอบกับระยะนี้มีฝนตกน้อยลง จึงทำให้ฝุ่นละอองสะสมเพิ่มขึ้น
จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 สูงเกินมาตรฐานดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งเตือน ให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ในพื้นที่ที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง
หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านเป็นเวลานาน ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อเป็นการป้องกันฝุ่นละออง รวมถึงป้องกันโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นไปตามหลักการป้องกันไว้ก่อน
จากรายงานกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 20 ของพื้นที่ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ปริมาณ PM2.5 ที่สะสมในบรรยากาศลดลง คพ.ระบุ
เช้าวันนี้ ข้อมูลจากแอปพลิเคชั่น Air Visual ระบุว่า สภาพอากาศโดยทั่วไปของกรุงเทพมหานคร ตามมาตรฐาน US AQI อยู่ที่ 179 (PM 2.5 อยู่ที่ 57.8 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ติดอันดับที่ 2 เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก
ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) คือระบบสำหรับการรายงานความรุนแรงของระดับคุณภาพอากาศ โดยระดับ 0-50 แสดงถึงอากาศดี ระดับ 51-100 ปานกลาง 101-150 ไม่ดีต่อสุขภาพสำหรับกลุ่มที่อ่อนไหว 151 – 200 ไม่ดีต่อสุขภาพ 201 – 300 ไม่ดีต่อสุขภาพมาก และ 301 – 500 เป็นอันตราย
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมด่วน หลังจากกรมควบคุมมลพิษได้รายงานคุณภาพอากาศ (ค่าPM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล