ดึงญี่ปุ่นยกระดับอุตฯ ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0
"สุริยะ" ดึง "ญี่ปุ่น" พัฒนาอุตสาหกรรม ยกระดับภาคการผลิต นำเทคโนโลยีหนุน "อีอีซี" เพื่อตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเยือนญี่ปุ่นเพื่อเจรจาความร่วมมือด้านการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอี เพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในวันที่ 24-28 ก.ย.ที่ผ่านมา
การเจรจาดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ Japan Thailand Economics Corporation Society (JTECS) รวมทั้งได้หารือกับนายทาเคชิ
นายอุชิยามาดะ ประธาน JTECS และประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ จำกัด เพื่อร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการผลักดันอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในไทย ซึ่งสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0
รวมถึงการพัฒนา System Integrator (SI) โดยกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าการสร้างระบบ SI ให้เกิดขึ้น 1,400 ราย ภายใน 4 ปี ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยผลักดันให้การจัดตั้งสมาคมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในเวลาอันใกล้
กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอบคุณบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ จำกัด ที่ได้สนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีด้วยการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้กับโรงงานในประเทศไทย ทำให้สามารถผลิตรถยนต์ได้ถึงปีละ 7.5 แสนคัน
บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ จำกัด ได้ชี้แจงถึงแผนการผลิตทั่วโลก โดยภายในปี 2568 จะผลิตรถยนต์ให้ได้ 15 ล้านคัน โดยในจำนวนนี้ 5.5 ล้านคัน เป็น รถยนต์ไฟฟ้า 5 แสนคัน และ ปลั๊กอินไฮบริด 5 ล้านคัน เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าอีวี ยังมีข้อจำกัดอยู่ คือ แบตเตอรี่มีราคาสูงเมื่อเทียบกับปลั๊กอินไฮบริดและต้องมีสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ครอบคลุมทั้งประเทศ ที่สำคัญคือความคล่องตัวของผู้ใช้เนื่องจากต้องมีการวางแผนเรื่องการชาร์จไฟตลอดเวลา
ส่วนการหารือกับ นายอิชชู ซึกะวะระ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (เมติ) เกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทย โดยทางเมติระบุว่าโครงการ อีอีซี จะเป็นแกนหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามเป้าหมาย ไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เชื่อมต่อ 3 สนามบินเข้าด้วยกัน
ญี่ปุ่นพร้อมให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มที่ อีกทั้งเมติพร้อมที่จะสนับสนุนในการดึงดูดการลงทุนด้านระบบอัตโนมัติ และระบบหุ่นยนต์ โดย เมติ ได้ตอบตกลงและยินดีจะเป็นผู้นำนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาเพื่อศึกษาความพร้อมและโอกาสในการลงทุนในประเทศไทยตามพื้นที่ต่างๆ เช่น อีอีซี ด้วยตนเองอีกด้วย