แม่น้ำโขงแห้งขอดคุกคามพืชเศรษฐกิจกัมพูชา

แม่น้ำโขงแห้งขอดคุกคามพืชเศรษฐกิจกัมพูชา

การดำเนินชีวิตของชาวกัมพูชาถูกคุมคามจากปัญหาปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ผลพวงจากการสร้างเขื่อน ฝนตกน้อย และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้เกิดความวิตกกังวลในวงกว้างว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าว ตลอดจนพืชเศรษฐกิจของกัมพูชา

ขณะที่บรรดาผู้นำจากทั่วโลกกำลังหารือกันเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่นิวยอร์กในช่วงที่ผ่านมา ไกลออกไปหลายพันกิโลเมตร ชาวกัมพูชาจำนวนมาก กำลังรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระบบนิเวศน์วิทยาของประเทศ ที่ครอบคลุมถึง การที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

นิค เบเรสฟอร์ด ตัวแทนของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นดีพี) ให้ความเห็นว่า ในฐานะที่ยูเอ็นดีพี เป็นหุ้นส่วนกับรัฐบาลกัมพูชาในการบริหารจัดการด้านสภาพอากาศ เห็นว่า กัมพูชามีความเปราะบางที่สุด3 ด้านคือ 1. มีความสามารถด้านการปรับตัวค่อนข้างต่ำ 2.พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ของประเทศต้องการน้ำในการหล่อเลี้ยง และโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ในกัมพูชายังไม่แข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับผลพวงจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ภัยแล้ง หรือ น้ำท่วม

เมื่อเดือนกรกฎาคม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี)รายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งขยายพื้นที่ออกไปประมาณ 4,500 กิโลเมตรตั้งแต่ในจีนไปจนถึงเมียนมา ไทย ลาว และกัมพูชาและจนมาถึงทะเลจีนใต้ในเวียดนามที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงถือว่า“เหือดแห้ง”

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เป็นองค์การร่วมมือระหว่างรัฐบาล เพื่อส่งเสริมและประสานงาน จัดการและพัฒนาแหล่งน้ำและทรัพยากรอื่น ที่เกี่ยวข้องอย่างยั่งยืน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก และประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยแผนยุทธศาสตร์และกิจกรรมต่าง ๆ และให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และให้คำแนะนำด้านนโยบาย

เอ็มอาร์ซี ระบุว่า การที่ฝนทิ้งช่วงอย่างรุนแรงในฤดูแล้ง ประกอบกับเขื่อนจำนวนมากที่อยู่เหนือแม่น้ำโขงขึ้นไปทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงอยู่ในระดับต่ำสุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณน้ำใน“โตนเลสาบ” ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บริเวณตรงกลางของประเทศกัมพูชา มีพื้นที่ประมาณ 7,500 ตารางกิโลเมตร เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมพื้นที่บริเวณรอบ ๆ ทำให้โตนเลสาบขยายตัวออกกว้างมากถึง 6 เท่า

ทะเลสาบแห่งนี้มีปลาอาศัยอยู่หลายร้อยสายพันธุ์ และแต่ละปีมีผลผลิตปลาจากทะเลสาบแห่งนี้ราว 300,000 ตันแต่ความอุดมสมบูรณ์ของโตนเลสาบ กำลังถูกคุกคามจากปัญหาน้ำน้อย การประมงเกินขีดจำกัด มลพิษ และการสร้างเขื่อน

ไบรอัน อายเลอร์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง“ลาสต์ เดย์ ออฟ เดอะ ไมตี้ แม่โขง”(Last Days of the Mighty Mekong) และเป็นหัวหน้าโครงการนโยบายแม่น้ำโขงของสติมสัน เซนเตอร์ ที่ติดตามระดับน้ำในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด กล่าวว่า ปัจจุบันมีเขื่อนกว่า 100 แห่งที่ทำงานอยู่เหนือแม่น้ำโขง หรือแม่น้ำสาขา ซึ่งเขื่อนมากมายเหล่านี้ปิดกั้นการอพยพของฝูงปลาสายพันธุ์ต่างๆและสกัดกั้นการไหลของน้ำที่มีความสำคัญต่อการเกษตรในกัมพูชา

“ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้ช่วงเวลาของฤดูฝนสั้นลง ทำให้บางพื้นที่เกิดภาวะฝนแล้ง และเมื่อเกิดฝนตกลงมามากในบางพื้นที่จึงทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน”อายเลอร์ กล่าว

นอกจากนี้ อายเลอร์ ยังเตือนว่า ปัญหาเรื่องปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดลงจะสร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศน์วิทยา ตลอดจนพื้นที่ทางการเกษตรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจของกัมพูชาจะได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง

แต่นายอายเลอร์ ก็กล่าวชื่นชมรัฐบาลกัมพูชาที่พยายามหันไปพึ่งพาพลังงานจากแสงอาทิตย์และเลี่ยงที่จะสร้างเขื่อนใหม่ๆบริเวณริมแม่น้ำโขง แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็เห็นว่า รัฐบาลกัมพูชาควรเตรียมทางเลือกอื่นๆสำหรับแหล่งอาหารไว้ด้วยเช่นกัน

"มีความเป็นไปได้สูงมากที่กัมพูชาจะเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหารจากแหล่งน้ำ เพราะวิกฤติปริมาณน้ำจากทะเลสาบน้ำจืดโตนเลสาบที่ได้รับผลพวงจากปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง"อายเลอร์ เตือน

แต่กัมพูชาไม่ได้เจอแค่ปัญหาปริมาณน้ำในโตนเลสาบอย่างเดียวเท่านั้น การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิกำลังส่งผลเสียต่อสุขภาพและความสามารถด้านการผลิตของแรงงานในกัมพูชาด้วย โดยเฉพาะแรงงานในภาคการเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งต้องทำงานกลางแจ้ง

เบเรสฟอร์ด กล่าวว่า กัมพูชาให้สัตยาบันรับรองแผนรับมือกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงระยะ 10 ปีเมื่อปี 2556 และทุ่มงบประมาณเพื่อรับมือกับปัญหานี้เป็นเงินเกือบ 200 ล้านดอลลาร์

“กองทุนสาธารณะเข้ามาสนับสนุนการทำกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบชลประทาน สร้างถนนที่สามารถต้านทานสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง สนับสนุนการเกษตร และการเข้าถึงน้ำสะอาดและระบบสาธารณสุข”เบเรสฟอร์ด กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับซัน มาลา นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวกัมพูชา กลับเห็นต่างว่า บรรดานักการเมืองและนักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมือง อยู่เบื้องหลังกิจกรรมต่างๆที่ทำลายสภาพแวดล้อม ทั้งการดูดทรายและการลักลอบตัดไม้

“เราไม่คาดหวังว่ารัฐบาลกัมพูชาจะแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าหรือแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้จริงๆ เพราะผู้ทรงอิทธิพลในกัมพูชาต่างได้รับประโยชน์จากกิจกรรมทำลายทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้” มาลา กล่าวทิ้งท้าย