คมนาคม ปลุก บอร์ดการบินไทยตื่นเผชิญความจริง ชี้ปีนี้เสี่ยงขาดทุนแตะหมื่นล้าน

คมนาคม ปลุก บอร์ดการบินไทยตื่นเผชิญความจริง ชี้ปีนี้เสี่ยงขาดทุนแตะหมื่นล้าน

“ถาวร” เรียกประชุมการบินไทยด่วน 10 ต.ค.นี้ สางปัญหาองค์กรขาดทุนสะสม พร้อมจี้รื้อแผนฟื้นฟูใหม่ หลังพบไม่มีเสถียรภาพ หวั่นปีนี้ฉุดขาดทุนเพิ่ม 1 หมื่นล้าน จี้ “เอกนิติ” ทำงานหนักขึ้น

         นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากปัญหาขาดทุนสะสมของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกอบกับการชะลอแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำของการบินไทย ตนยอมรับว่ามีความกังวลใจอย่างยิ่ง ในฐานะผู้กำกับดูแลหน่วยงานจึงนัดหารือร่วมกับนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย พร้อมด้วยฝ่ายบริหารองค์กรอีกหลายส่วน ในวันที่ 10 ต.ค.นี้ เพื่อหาทางออกขององค์กรร่วมกัน

         “ก่อนหน้านี้ผมก็เคยตั้งคำถามเกี่ยวกับแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ของการบินไทยไปแล้วแต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบกลับจากการบินไทย ซึ่งผมก็ไม่ต้องการคำตอบแล้ว เพราะตอนนี้ก็ทราบว่าได้ทบทวนแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ออกไปแล้ว แต่ผมขอยืนยันว่า ผมไม่ได้ขัดขวางการจัดหาเครื่องบิน เพราะอยากให้การบินไทยแข่งขันกับสายการบินอื่นได้ ดังนั้นตอนนี้เราต้องมาหารือร่วมกัน”

           โดยจุดประสงค์หลักของการหารือครั้งนี้ เนื่องจากตนเล็งเห็นว่าแผนฟื้นฟูองค์กรที่ถูกกำหนดมาก่อนหน้านี้ เป็นแผนที่ไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถทำได้จริง รวมทั้งไม่น่าจะทำให้การบินไทยมีกำไรได้ เนื่องจากแผนดังกล่าวถูกขับเคลื่อนมาแล้วระยะหนึ่ง ก็ยังไม่เห็นผลที่จะทำให้การบินไทยหยุดขาดทุนได้

          ในปัจจุบันยังทราบว่าแผนประกอบการของการบินไทยในรอบ 6 เดือน หรือไตรมาส 2 ปีนี้ ขาดทุนไปแล้ว 6 พันล้านบาท จึงมีความกังวลว่าปีนี้การบินไทยอาจจะขาดทุนถึง 1 หมื่นล้านบาท

  

            นายถาวร ยังกล่าวอีกว่า สิ่งแรกที่อยากให้การบินไทยดำเนินการ ภายหลังการหารือครั้งนี้ คือ 1. แผนฟื้นฟู จะต้องมีการทบทวนใหม่ เพราะแผนมนตราที่นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย ได้วางแผนไว้อาจจะใช้ได้เพียงส่วนหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ไม่ได้เป็นไปตามแผน และ 2.อาจให้การบ้านเพิ่ม เพื่อทำให้การขับเคลื่อนองค์กรครั้งนี้ สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ได้ โดยเบื้องต้นต้องการให้การทบทวนแผนฟื้นฟูธุรกิจแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

           “สิ่งที่ผมต้องการตอนนี้ คือการทำแผนฟื้นฟู และแผนธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เป้าหมายเพื่อลดขาดทุน เพิ่มกำไร เพิ่มยอดขาย สร้างความพึงพอใจให้กับผู้โดยสาร ปรับตัวกับการแข่งขันในอุตสาหกรรมได้ ณ วันนี้ ธุรกิจอยู่ในขั้นวิกฤติแล้ว เรามีวอรูมแก้ปัญหากันหรือยัง เรื่องนี้ฝากถึงท่านเอกนิติให้ตื่นขึ้นมา และทำงานหนักมากขึ้น ต้องทำงานวันละ 15 ชั่วโมง”

           อย่างไรก็ดี หากการบินไทยยังยืนยันที่จะใช้แผนฟื้นฟูองค์กรตามยุทธศาสตร์เดิม ก็ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบต่อข้อผิดพลาดในอนาคตด้วย เพราะขณะนี้ตนยืนยันว่าจากการที่พิจารณาแผนดังกล่าว ไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้จริง และไม่น่าจะทำให้มีกำไร

นายถาวร กล่าวถึงผลการหารือร่วมกับผู้บริหารสายการบินไทย แอร์เอเชีย ว่า เอกชนต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนใน 5 ประเด็นหลัก คือ 1.ขอนำระบบเช็คอินสแกนใบหน้าเข้ามาใช้ในท่าอากาศยานประเทศไทย เนื่องจากได้ทดลองระบบแล้วที่ประเทศมาเลเซีย พบว่ามีส่วนช่วยให้การอำนวยความสะดวกผู้โดยสารได้มาก 2.ต้องการให้ท่าอากาศยานขยายทางวิ่ง (รันเวย์) 2 สนามบินที่มีความต้องการเดินทางสูง คือ แม่สอด และเบตง

3.ต้องการให้ภาครัฐปรับปรุงหลุมจอดอากาศยาน รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ แอร์บัส A321 Neo โดยขณะนี้ทราบว่าทางกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้ของบประมาณปี 2563 เพื่อดำเนินการปรับปรุงหลุมจอดสนามบิน 5 แห่ง คือ สนามบินระยอง น่าน บุรีรัมย์ นครพนม และนราธิวาส 4.ให้วางแผนรองรับอากาศยานชนนก และ 5.ต้องการให้ช่วยเหลือภาระต้นทุนของสายการบิน เช่น ภาษีน้ำมัน และการต่อวีซ่าเข้าเมือง เป็นต้น

“เรื่องการนำระบบเช็คอินสแกนใบหน้า ตอนนี้ผมได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อช่วยกันศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะต้องมีความปลอดภัยสูง โดยให้ศึกษาแล้วเสร็จภายใน 31 ต.ค.นี้ ถ้าไม่เสร็จก็ให้ขยายได้ครั้งละ 15 วัน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีสายการบินไหนมาใช้ จะให้เริ่มศึกษาใช้ที่บุรีรัมย์ น่าน นครพนม และร้อยเอ็ด อาจจะเริ่มทดลองใช้ได้ก่อน 1 แห่งภายในปีนี้”