เครือข่ายต้านสารพิษเกษตรตั้งคำถามเบื้องหลังสมาคมเกษตรฯ หลังพบเคลื่อนไหวค้านการแบนสารพิษเกษตร
สงสัยบริษัทยักษ์ใหญ่สารเคมีเกษตรของโลกอยู่เบื้องหลัง
มูลนิธิชีววิถี (BioThai) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรนำของเครือข่าย 600 กว่าองค์กรที่ลงชื่อสนับสนุนการแบนสารพิษเกษตร 3ชนิดคือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เปิดเผยว่า ได้พบยุทธวิธีใหม่ของกลุ่มค้านการแบนสารพิษ ที่เบนเป้ามาสู่การทำงานกับมวลชนที่เป็น “กลุ่มเกษตรกร” กลุ่มต่างๆ และสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น เพื่อตอบโต้กับกระแสแบนสารพิษดังกล่าว หลังจากที่จะมีการนำเรื่องเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 22 ตุลาคมที่จะถึงนี้
โดยมูลนิธิชีวิวิถี ระบุถึงงานจัดแถลงข่าวท่าทีและจุดยืนต่อการแบนสารพิษเกษตรของ "สมาคมการค้า นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย" หรือ TAITA ที่จัดไปเมื่อวานนี้ว่า สมาคมดังกล่าวฯ มีความสัมพันธ์กับ CropLife ซึ่งมูลนิธิฯ อ้างว่า เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของบริษัทผลิตและค้าสารเคมีทางการเกษตรและพืชจีเอ็มโอ ที่มูลนิธิติดตามประเด็นมาโดยตลอด ซึ่งจะมีสมาชิกเป็นบริษัทค้าสารเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่ๆ ของโลก รวมอยู่ด้วย
ก่อนหน้านี้ มูลนิธิพบการเคลื่อนไหวคัดค้านผ่านสมาคมที่ใช้ชื่อ “สมาคมอารักขาพืชไทย” หรือ “สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์” ซึ่งมูลนิธิพบว่า ผู้ก่อตั้งมีความสัมพันธ์กับบางบริษัท
นอกจากนี้ มูลนิธิยังเคยพบ “ความสัมพันธ์” ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมูลนิธิมองว่าอาจเป็นวิธีที่เริ่มไม่ได้ผล เพราะกรรมการวัตถุอันตรายได้กลายเป็นเป้าหมายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ยุทธวิธีใหม่ของกลุ่มดังกล่าว จึงเบนเป้ามาสู่การทำงานกับมวลชนดังกล่าว
มูลนิธิฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่า CropLife ใช้วิธี “บินสูง” กว่านี้มาก เช่น สนับสนุนโครงการด้านมนุษยธรรมต่างๆ โดยอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีหรือสิทธิบัตรของบริษัท ให้ทุนสื่อ และนักวิชาการไปดูงานต่างประเทศ สนับสนุนข้อมูลและให้ทุนนักวิชาการฟลูเอนเซอร์เขียนและพิมพ์หนังสือสนับสนุนพืชจีเอ็มโอ จัดทำโครงการเกี่ยวกับผึ้ง เพื่อกลบปัญหาผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ที่ส่งผลกระทบต่อผึ้ง จนถูกแบนในหลายประเทศ ฯลฯ
“แต่ครั้งนี้ เมื่อตลาด 3 สารพิษในประเทศ ซึ่งมีมูลค่าตลาดต่อปีสูงถึง 20,000 ล้านบาทได้รับผลกระทบ และในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ จะเป็นวันชี้ขาดการแบนหรือไม่แบน เราจึงเห็น CropLife ออกมายืนอยู่ข้างหน้าเกษตรกรเป็นครั้งแรก” มูลนิธิระบุ
มูลนิธิยังได้ตั้งข้อสังเกตไปถึงบริษัทสารเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่ของโลกเหล่านี้ว่า อาจเป็นครั้งแรกๆ ที่ลุกขึ้นมานำหน้าเกษตรกรผ่านองค์กร เพื่อให้สารเคมีดังกล่าวสามารถใช้ต่อไปได้ในประเทศไทย
มอนซานโต้-ไบเออร์ และซินเจนทา ครอบครองตลาดสารพิษกำจัดศัตรูพืชมากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของโลก (46%) แต่พาราควอต ถูกแบนใน 58 ประเทศในขณะนี้ และไกลโฟเซต ศาลได้ตัดสินแล้ว 3-4 คดี ให้บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายต้องชดใช้ค่าเสียหายหลายหมื่นล้านบาท และมีคดีขึ้นสู่ศาลอีกกว่า 18,400 คดี มูลนิธิกล่าว
มูลนิธิเรียกร้องให้ประชาชนจับตาความเคลื่อนไหว ไม่ปล่อยบริษัทผลิตและค้าสารพิษแอบอ้างเอารายชื่อเกษตรกรดังกล่าว
“เราเชื่อว่าไม่มีเกษตรกรคนใดต้องการใช้สารพิษเพื่อทำลายสุขภาพและชีวิตของตนเอง หากรัฐรับประกันได้ว่าเกษตรกร 400,000-500,000 รายที่ลงชื่อจะใช้ 3 สารพิษนั้น จะได้รับการชดเชยและสนับสนุนในส่วนที่ต้นทุนการผลิตของเขาเพิ่มขึ้นจริง เพื่อเปลี่ยนไปใช้วิธีการจัดการวัชพืชที่ปลอดภัยกว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า” มูลนิธิกล่าว