‘หอการค้า’จี้รัฐอัดฉีดเพิ่ม5หมื่นล.ดันจีดีพี3%
“ หอการค้าไทย” เผยรัฐต้องอัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีก 3-5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ถึง 3% หลังสงครามการค้า-เงินบาทแข็งค่ากระทบหนัก ด้านสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอียังแย่
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ถึง3% รัฐบาลจะต้องใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอีกกว่า 3 -5หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า Brexit และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มประมาณ66%ที่จะขยายตัวได้2.8% และมีแนวโน้ม33%ที่จะสามารถขยายตัวได้ถึง3%
“หากต้องการให้การขยายตัวของจีดีพีของไทยในปีนี้อยู่ที่3%นั้น ในช่วงที่เหลือของปีนี้ รัฐบาลจะต้องอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอีก3 -5หมื่นล้านบาท ซึ่งหากชิมช้อปใช้เฟสสองที่กระทรวงการคลัง จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติในวันอังคารที่22 ต.ค.นี้ สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศได้3-5หมื่นล้านบาท ก็จะเป็นส่วนสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้โตได้ถึง3 %เช่นกัน”
เขากล่าวว่า สำหรับมาตรการชิมช้อปใช้เฟสแรก ทางศูนย์วิจัยฯ มองว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพียง2 -3หมื่นล้านบาท หรือช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียง 0.1-0.2% เท่านั้น
ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส1ของปี 2562 อยู่ที่2.8 %ไตรมาส2อยู่ที่ 2.3%และไตรมาส3 คาดว่าจะอยู่ที่2.5-2.6% ส่วนไตรมาส4 ปีนี้่ คาดว่าจะขยายตัว3.5 -4% แต่โอกาสที่ไตรมาส4จะขยายตัวได้ถึง4 %นั้น มีแค่หนึ่งในสามเท่านั้น
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี2563 คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับ3 %โดยคาดว่าปัญหาสงครามการค้าสหรัฐ-จีน จะค่อยๆคลี่คลายในครึ่งหลังของปีนี้ อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทที่แข็ง ยังส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน เนื่องจากค่าบาทที่แข็งค่าขึ้น6% บวกกับค่าหยวนที่แข็งค่าขึ้น3 % ทำให้ต้นทุนของนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น10% ทำให้นักท่องเที่ยวจีนส่วนหนึ่งหนีไปเที่ยวเวียดนามซึ่งค่าเงินอ่อนค่ากว่าไทย
สำหรับผลสำรวจดัชนีสถานการณ์ธุรกิจSMEsและดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจSMEsประจำไตรมสสที่3ของปีนี้ โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 1,234ตัวอย่าง เป็นธุรกิจขนาดเล็ก73.3 %และธุรกิจขนาดกลาง26.7% ผลปรากฏว่าดัชนีปรับลดทุกด้าน โดยดัชนีสถานการณ์ธุรกิจในภาพรวมของSMEsในไตรมาส3 อยู่ที่41.5จุดจาก100จุด ซึ่งดัชนีที่อยู่ต่ำกว่า50ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่แย่ โดยดัชนีสถานการณ์ธุรกิจอยู่ต่ำกว่า50จุดตั้งแต่ไตรมาส1ของปีนี้
เมื่อพิจารณาสถานการณ์ธุรกิจของSMEs ในไตรมาส3โดยจำแนกตามธุรกิจ พบว่า ธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ ธุรกิจโรงแรมและเกสต์เฮาส์ และธุรกิจสิ่งพิมพ์แม้จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า50จุด ซึ่งจัดว่าอยู่ในสถานการณ์ที่แย่ก็ตาม แต่ถือว่าดีกว่าธุรกิจอื่น โดยมีคะแนนเรียงลำดับคือ48.3จุด46.8จุด และ46.5จุด ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม SMEs ยังมองว่าไตรมาส4 สถานการณ์จะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่44จุด สะท้อนว่า ผู้ประกอบการ SMEs ไทยมีความเชื่อมั่นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจของ SMEs ในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจะปรับดีขึ้น อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่ออกมาแล้ว และกำลังทยอยออกมาเพิ่มเติมต่อเนื่อง มีส่วนสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดการใช้จ่ายอย่างคึกคัก