ถอดรหัสกฎหมายประชาธิปไตยฮ่องกง
สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติเอกฉันท์ผ่านกฎหมาย 3 ฉบับสนับสนุนการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงที่ระอุมานานกว่า 4 เดือน สำนักข่าวรอยเตอร์ถอดรหัสกฎหมายทั้ง 3 ฉบับและสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปหลังจากนี้
ฉบับที่สำคัญที่สุดคือ กฎหมายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกง กำหนดให้สหรัฐจะต้องตรวจสอบอดีตอาณานิคมอังกฤษแห่งนี้เข้มข้นขึ้นก่อนให้สิทธิพิเศษ
ฉบับที่ 2 เรียกว่า กฎหมายปกป้องฮ่องกง ห้ามขายแก๊สน้ำตาและอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนอื่นๆ ฉบับที่ 3 เป็นข้อมติไม่มีผลผูกพัน ประณามรัฐบาลปักกิ่งแทรกแซงกิจการฮ่องกง
กฎหมายทั้งสองฉบับจะต้องส่งต่อให้วุฒิสภาลงมติ จากนั้นส่งให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนาม
จิม ริช ประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วุฒิสภา จากพรรครีพับลิกัน กล่าวเมื่อวันพุธ (16 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น หวังว่า กฎหมายจะใช้เวลาไม่นาน เจ้าหน้าที่รายหนึ่งเผยว่า ส.ว.จะลงมติกันเร็วสุดสัปดาห์หน้า
กฎหมายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกงฉบับใหม่นี้ ถูกมองว่า เป็นการแก้ไขในเชิงสัญลักษณ์ แต่อาจเปลี่ยนธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับฮ่องกงได้ ทั้งยังอาจขยายความตึงเครียดระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งได้ด้วย
เมื่อวันพุธ กระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวหา ส.ส.สหรัฐว่ามีเจตนาชั่วร้าย ต้องการทำลายเสถียรภาพของฮ่องกง พร้อมเตือนว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีอาจเสียหายถ้าร่างดังกล่าวกลายเป็นกฎหมาย
ทั้งนี้ ตอนที่รับมอบฮ่องกงคืนจากอังกฤษเมื่อปี 2540 ปักกิ่งรับรองจะดำรงสถานะปกครองตนเองของฮ่องกงเป็นเวลา 50 ปี แต่ผู้ประท้วงกล่าวว่า ตอนนี้เสรีภาพของฮ่องกงเสื่อมถอยลงทุกวัน
กฎหมายฉบับใหม่เป็นการแก้ไขจากฉบับปี 2535 ที่เป็นรากฐานสนับสนุนความสัมพันธ์สหรัฐ-ฮ่องกงให้แข็งแกร่ง ให้สิทธิพิเศษในแง่การค้า การคมนาคม และด้านอื่นๆ แก่ฮ่องกงแยกต่างหากจากจีน
ตามกฎหมายปี 2535 ประธานาธิบดีสหรัฐสามารถออกคำสั่งฝ่ายบริหาร ระงับองค์ประกอบแห่งสถานะพิเศษของฮ่องกงได้ หากประธานาธิบดีเห็นว่า ดินแดนนี้ไม่ได้มีอิสระจากปักกิ่งอย่างเพียงพอ
ส่วนกฎหมายใหม่กำหนดให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐต้องรับรองกับสภาคองเกรสเป็นประจำทุกปีว่า ฮ่องกงมีอิสระเพียงพอเหมาะสมที่จะได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษจากสหรัฐหรือไม่ รัฐบาลจีนทำลายความเป็นอิสระของฮ่องกงมากน้อยแค่ไหน
ถ้ากระทรวงต่างประเทศเห็นว่าฮ่องกงมีอิสระไม่พอ ก็เป็นอำนาจของประธานาธิบดีที่จะระงับใช้กฎหมายให้สิทธิพิเศษ ปล่อยให้ฮ่องกงใช้กฎหมายแบบเดียวกับจีน
แล้วกฎหมายใหม่จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง นี่คือคำถามสำคัญ ในมุมมองของภาคธุรกิจ องค์ประกอบสำคัญที่สุดอันหนึี่งของสถานะพิเศษคือ ข้อเท็จจริงที่ว่า ฮ่องกงเป็นเขตการค้าและศุลกากรแยกจากจีน เท่ากับว่า ภาษีอันเกิดจากสงครามการค้าใช้ไม่ได้กับสินค้าที่ส่งออกจากฮ่องกง
ถ้าฮ่องกงกลายเป็นแค่ท่าเรืออีกแห่งหนึ่งของจีน บริษัทที่พึ่งพาให้ฮ่องกงเป็นคนกลาง หรือเป็นที่ส่งต่อสินค้าย่อมมีแนวโน้มย้ายธุรกิจไปที่อื่น
ข้อมูลจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ระบุว่า การค้าระหว่างฮ่องกงกับสหรัฐในปี 2561 อยู่ที่ราว 6.73 หมื่นล้านดอลลาร์ สหรัฐได้เปรียบดุลการค้า 3.38 หมื่นล้านดอลลาร์ มากที่สุดเหนือประเทศหรือเขตเศรษฐกิจใดๆ
หอการค้าอเมริกันในฮ่องกงกล่าวว่า หากสถานะฮ่องกงเปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลเสียไม่เพียงแค่ต่อการค้าและการลงทุนของสหรัฐในฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังส่งสัญญาณลบไปถึงประชาคมโลก ถึงความน่าเชื่อถือของฮ่องกงในเศรษฐกิจโลกด้วย
ความเห็นใจฮ่องกงจากโลกภายนอกยังไม่หมดแค่นี้ กูรี เมลบาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอร์เวย์ จากพรรคเสรีนิยม ทวีตข้อความเมื่อวันอังคาร (15 ต.ค.)
“ผมเสนอชื่อประชาชนฮ่องกงที่เสี่ยงชีวิตและความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการพูดและประชาธิปไตยพื้นฐาน เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2563”
วันรุ่งขึ้น ส.ส.รายนี้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับหนังสือพิมพ์แอฟเทนโพสเทน
“สิ่งที่พวกเขาทำส่งผลไปไกลเกินกว่าฮ่องกง มีผลต่อทั้งภูมิภาคและส่วนอื่นๆของโลก”
ล่าสุดวานนี้ (17 ต.ค.) เกิ้งฉวง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน แถลงว่า ฮ่องกงเป็นกิจการภายในของจีนล้วนๆ รัฐบาลหรือคนต่างชาติไม่มีสิทธิเข้ามาแทรกแซง
เกิ้งเรียกร้องให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมีใจเป็นธรรม อย่ามีอคติ และให้ระมัดระวัง
ปักกิ่งนั้นมีความสัมพันธ์ตึงเครียดกับคณะกรรมการโนเบลอยู่แล้ว ปี 2553 เคยมอบโนเบลสันติภาพให้กับหลิว เสี่ยวโป ผู้ท้าทายรัฐบาลปักกิ่งจนถูกจำคุก นักเขียน นักปรัชญา และหัวหอกประท้วงที่เทียนอันเหมิน เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อปี 2560
จากกรณีนี้ แม้คณะกรรมการโนเบลจะดำเนินงานอย่างอิสระไม่เกี่ยวกับรัฐบาล แต่ปักกิ่งก็มึนตึงกับนอร์เวย์ตอบโต้ที่คณะกรรมการโนเบลให้รางวัลหลิว เสี่ยวโป รวมทั้งระงับการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี และห้ามนำเข้าแซลมอนนอร์เวย์
ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเพิ่งกลับมาสู่ระดับปกติในเดือน ธ.ค.2559 หลังจากรัฐบาลออสโลให้คำมั่น จะไม่สนับสนุนการกระทำที่บั่นทอนผลประโยชน์ของจีน
ก่อนหน้านั้นในปี 2532 คณะกรรมการโนเบล มอบรางวัลสาขาสันติภาพที่ใครๆ ต่างหมายปองให้กับทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณของทิเบต ผู้ที่ถูกปักกิ่งกล่าวหาว่าพยายามแบ่งแยกดินแดนจากจีน
ส่วนสถานการณ์ในฮ่องกงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จิมมี ชาม นักเคลื่อนไหวคนดังหัวหน้ากลุ่มแนวร่วมสิทธิมนุษยชนพลเมือง (ซีเอชอาร์เอฟ)ถูกคนร้าย 5 คน ใช้มีดและฆ้อนทำร้ายที่ย่านมงก๊กเมื่อคืนวันพุธ จนเลือดโชกนอนกองอยู่กลางถนน ก่อนถึงการชุมนุมใหญ่ในวันอาทิตย์ (20 ต.ค.) ชาวเน็ตแชร์ภาพชามนอนยาวบนพื้น เลือดไหลอาบศีรษะ
คลอเดีย โม ส.ส.ฝ่ายประชาธิปไตยเผยว่า การกระทำอุกอาจเกิดก่อนการชุมนุมใหญ่ จึงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าทั้งหมดเป็นแผนต้องการให้การชุมนุมอย่างสันติของฮ่องกงต้องเปื้อนเลือด
กลุ่มสิทธิมนุษยชน “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล” แถลงว่า การทำร้ายนักเคลื่อนไหวอย่างเหี้ยมโหดครั้งนี้ส่งสัญญาณไม่ดี แอมเนสตี้ขอให้ทางการเร่งสอบสวนคดี ซึ่งตำรวจก็รับปาก