เช็คสถานะ 'ฮับการเงิน' ฮ่องกง ยุคขัดแย้งขั้นวิกฤติ
จากฮ่องกงวันวานที่เศรษฐกิจสดใส เต็มไปด้วยความน่าเชื่อถือสูงในฐานะ “ฮับ” การเงินของเอเชีย เมื่อเหตุการณ์พลิกผัน และหากการประท้วงลากยาวไปเรื่อยๆ ฮ่องกงจะเป็นอย่างไร?
- ปมร้าว 'ม็อบฮ่องกง' สะเทือนเศรษฐกิจโลก
- ทุน “ฮ่องกง” หนีวิกฤติ แห่เข้าลงทุนไทย
- สัญญาณฮ่องกงช้อปคอนโดไทยเพิ่ม 'เซฟตี้โซน' กรณีฉุกเฉิน
ฮ่องกงวันนี้ ต่างจากฮ่องกงวันวานที่เศรษฐกิจสดใส บรรยากาศทางธุรกิจเอื้ออำนวยให้เข้าไปลงทุนแถมมีความน่าเชื่อถือสูงในฐานะ “ฮับ”การเงินของภูมิภาคเอเชีย แต่วันนี้ แม้แต่จะเดินทางผ่านฮ่องกง ยังต้องตรวจสอบหลายชั้นว่า“ปลอดภัย”หรือไม่ และหากการประท้วงลากยาวไปเรื่อยๆ ฮ่องกงจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจฮ่องกงจะถดถอยอย่างที่ผู้บริหารพูดหรือไม่? ..ติดตามได้จากรายงาน
การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อมานานกว่า 4 เดือน ทำให้สถานะทางเศรษฐกิจของฮ่องกงสั่นคลอน และพลอยสั่นคลอนไปถึงสถานะ“ฮับ”การเงินของภูมิภาคเอเชียไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจฮ่องกง บอกว่า ฮ่องกงมีจุดเด่น 3 ด้านคือ เป็นศูนย์กลางทางการเงิน ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ และเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา
โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์และการศึกษานั้น บางเมืองในจีนมีความทันสมัยมากจนสามารถทดแทนฮ่องกงได้ เช่น เซินเจิ้น ที่อาจถูกรัฐบาลปักกิ่งพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ แต่ในด้านของศูนย์กลางทางการเงิน ยังไม่มีเมืองใดในจีนสามารถผงาดขึ้นมาแทนที่ฮ่องกงได้ เนื่องจากระบบกฎหมายของฮ่องกงเป็นสากล จึงเอื้อให้หลายบริษัทมีความมั่นใจที่จะจดทะเบียนในตลาดฮ่องกงมากกว่าในจีน
แต่การชุมนุมประท้วง บวกกับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ไตรมาส2 ปี2562 ของฮ่องกงขยายตัวเพียง 0.6% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าคาดการณ์ ขณะที่ตัวเลขค้าปลีกในเดือน มิ.ย. ลดลงถึง 6.7% จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ถดถอย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฮ่องกง มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฮ่องกงคิดเป็นเม็ดเงินถึง 2 พันล้านดอลลาร์ ผ่านการยกเว้นภาษีแก่กลุ่มร้านอาหาร และโรงแรมเป็นเวลา 1 ปี แถมยังลดค่าเช่าสำหรับธุรกิจที่ดำเนินการในพื้นที่ของภาครัฐ เพื่อส่งเสริมภาคท่องเที่ยวและค้าปลีก ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจฮ่องกงบ้าง
นอกจากอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฮ่องกงแล้ว เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของจีน ยังสั่งให้รวมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของเซินเจิ้นเข้ากับฮ่องกงและมาเก๊า เพื่อยกระดับเซินเจิ้นให้เป็นพื้นที่นำร่องของการเป็นสังคมนิยมแบบจีน และขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เกรทเทอร์ เบย์ แอเรีย ถือเป็นแผนสำรองหลังจากการประท้วงในฮ่องกงส่อเค้าว่าจะเป็นภัยคุกคามสถานะศูนย์กลางการเงินของฮ่องกง
คำสั่งคณะรัฐมนตรีที่ประกอบด้วย 19 แนวทาง เผยแพร่ในพีเพิลส์ เดลี สื่อที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลปักกิ่ง มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของเซินเจิ้น เพื่อยกระดับให้ติดอันดับโลกภายในปี 2568 และเป็นมาตรฐานโลกภายในกลางศตวรรษนี้
แม้สถานะทางเศรษฐกิจของฮ่องกงจะสั่นคลอน และธุรกิจหลายภาคส่วนซบเซาลงเพราะการประท้วง แต่หากพิจารณาข้อมูลให้รอบด้านจะเห็นว่า ฮ่องกง ยังคงมีจุดแข็งและมีความสำคัญต่อจีนอยู่อีกมาก โดยเฉพาะการเติบโตของตลาดหุ้นฮ่องกง ที่ปัจจุบันยังคงมีมูลค่าสูงสุดอันดับที่ 5 ของตลาดหุ้นโลก
สิ่งที่ทางการฮ่องกงต้องรับมือไปพร้อมๆ กับการแก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมืองกับกลุ่มผู้ชุมนุมคือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยในโอกาสแถลงนโยบายประจำปี นางแคร์รี หล่ำ ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ยอมรับว่า เมื่อพิจารณาจากปัจจัยทางเทคนิคแล้ว เธอคาดว่าเศรษฐกิจฮ่องกงจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวลง และเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ยืดเยื้อเป็นเวลาหลายเดือน
นอกจากยอมรับว่าเศรษฐกิจฮ่องกงอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาส 3 แล้ว นางหล่ำ ยังประกาศนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการลดต้นทุนที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนที่ยากจน การผ่อนปรนกฎเกณฑ์ด้านการจำนองสำหรับกลุ่มผู้ซื้อบ้านหลังแรก เพิ่มการซื้อที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาในรูปของเงินสด และเพิ่มการให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าสิ่งที่นางหล่ำประกาศจะทำนั้น อาจไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมฮ่องกงขณะนี้ โดยฮ่องกง ถือเป็นเมืองที่ราคาอสังหาฯแพงที่สุดในโลกปี2562 ซึ่งเป็นแบบนี้มา 5 ปีติดต่อกันแล้ว ราคาเฉลี่ยห้องละ 1,235,220 ดอลลาร์ รองลงมาคือสิงคโปร์ ราคา 874,372 ดอลลาร์ และอันดับ 3 คือเซี่ยงไฮ้ ราคา 872,555 ดอลลาร์
นักวิเคราะห์มีความเห็นตรงกันว่า ในระยะยาว ความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของฮ่องกง จะทำให้นักลงทุนต่างชาติลังเลที่จะเข้าไปลงทุนในฮ่องกง จึงมีการปรับการคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฮ่องกงในปีนี้ลงเหลือเพียง 0.5% - 1% เท่านั้น และคาดว่า เศรษฐกิจฮ่องกงอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย หากว่ามีการหดตัวสองไตรมาสติดต่อกัน
“ทอมมี หวู” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของอ็อกฟอร์ด อีโคโนมิคส์ ในฮ่องกง ให้ความเห็นว่า ดูเหมือนการประท้วงยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ และถึงแม้จะจบลงในวันนี้พรุ่งนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วและเรียกกลับคืนมาไม่ได้คือ ทัศนคติที่ว่าฮ่องกงกำลังเกิดความไม่แน่นอน ซึ่งจะทำให้บริษัทต่างชาติหลายแห่งไม่กล้าเข้ามาลงทุน
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง ยังเผยแพร่ผลสำรวจล่าสุด ที่บ่งชี้ว่า
"42% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นพลเมืองฮ่องกงต้องการย้ายถิ่นฐานไปอยูู่ในไต้หวันหากมีโอกาส เนื่องจากมีระบอบประชาธิปไตยมากกว่าในฮ่องกง และมีต้นทุนในการดำเนินชีวิตไม่สูงมากนัก โดยเฉพาะราคาบ้าน หรืออสังหาริมทรัพย์ในไต้หวันไม่แพง"
ในช่วงเดือนมิ.ย.และส.ค. ทางการไต้หวันได้ออกใบอนุญาตให้แก่ชาวฮ่องกงเป็นพลเมืองที่มีสิทธิ์พำนักถาวรในไต้หวันได้จำนวน 1,030 คน เพิ่มขึ้น 47% เทียบกับช่วงเดือนม.ค.จนถึงพ.ค.ที่เพิ่มขึ้น 20%
ผลสำรวจชิ้นนี้ ระบุว่า แคนาดาและออสเตรเลีย ประเทศที่สื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษและเป็นสองประเทศที่มีระบบการศึกษาแข็งแกร่ง ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 และ 2 สำหรับการย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวฮ่องกงด้วยเช่นกัน ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามที่ให้ความสนใจย้ายถิ่นฐานไปยุโรป โดยเฉพาะไอร์แลนด์ และโปรตุเกสก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
ส่วนชาวฮ่องกงระดับเศรษฐี ใช้วิธีลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศต่างๆ แลกกับการได้สิทธิพลเมืองของประเทศนั้นๆ ถือเป็นแผนสำรอง โดยเน้นไปตั้งรกรากที่สิงคโปร์ แคนาดา สหรัฐ และอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป รวมถึงอังกฤษ.