‘เฉลิมชัย’สั่งตั้งทีมศึกษา ผลกระทบแบน‘3สารพิษ’
“เฉลิมชัย” สั่งตั้งคณะกำหนดแนวทางช่วยเกษตรกร ลดผลกระทบแบน 3 สาร ก่อนชงครม.เห็นชอบ ขณะที่กลุ่มค้านเตรียมร้องศาลปกครองขอคุ้มครอง-ชะลอมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย 28ต.ค.นี้ โวยลงมติผิดขั้นตอนทำเกษตรกรเดือดร้อน
ความคืบหน้าหลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร3ชนิด วานนี้(25ต.ค.)นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดแล้ว เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการปรับเปลี่ยน
ทั้งนี้ คณะทำงานจะต้องสำรวจจำนวนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนหาสารทางเลือกที่เป็นทั้งสารเคมีอื่น ซึ่งรัฐจะกำหนดมาตรการเยียวยาในอัตราที่เหมาะสม โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบ
นายศรัณย์ วัธนธาดา นักวิชาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวในการเสวนาเรื่องแบน 3 สารอะไรจะเกิดขึ้นกับเกษตรกรไทย ว่า เมื่อต้องยกเลิกการใช้ 3 สารกระทรวงเกษตรฯ ต้องออกประกาศให้เกษตรกรแจ้งการครอบครองสารชนิดดังกล่าวว่าเป็นสารผิดกฎหมาย พร้อมทั้งการเตรียมแหล่งจัดเก็บและทำลายที่เป็นภาระของรัฐบาล เพราะจะมีสารที่ต้องเรียกคืนจำนวนมาก นอกจากนี้รัฐบาลต้องวางแผนชดเชยเยียวยา ซึ่งอาจจะเริ่มชดเชยกับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบใน 6 พืชก่อน
ส่วนตัวเห็นว่าตอนที่ยังไม่แบน 3 สารนทุกคนต่อต้านการขึ้นทะเบียนผู้ใช้ โดยมีมีเกษตรกรผ่านการอบรมเพียง 5 แสนรายเท่านั้น ดังนั้นการนำแนวทางดังกล่าวมาใช้แนวทางนี้ถือว่าดีจึงไม่อยากให้ยกเลิกการขึ้นทะเบียนดังกล่าว
วันเดียวกันกลุ่มเกษตรกรนำโดยนายสุกรรณ์ สังข์วรรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยกล่าวว่า ในที่ 28 ต.ค.นี้ ผู้แทนเกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผลจะไปร้องต่อศาลปกครองให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อพิจารณาคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดเพราะหากยกเลิกจะมีความเดือดร้อนจากต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้น อีกทั้งยังไม่มีมาตรการรองรับทั้งการหาสารทางเลือกที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกัน การสนับสนุนด้านเครื่องจักรกลกำจัดวัชพืช และแรงงานที่จะใช้จัดการแปลง
ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรจะนำเสนอหลักฐานต่อศาลว่า การลงมติยกเลิกของคณะกรรมการวัตถุอันตรายนั้นผิดขั้นตอนกระบวนการ โดยนำมติของคณะทำงาน 4 ฝ่ายซึ่งมีน.ส.มนัญญา ไทยเศรษ รมช.เกษตรและสหกรณ์ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 8 ต.ค.มาพิจารณา หวังว่า จะมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินให้ชะลอการยกเลิกออกไป จนกว่าจะมีการนำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างรอบด้าน กำหนดมาตรการรองรับที่เหมาะสม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-สหรัฐไฟเขียวขาย 'ฮ.โจมตี' ให้ไทย 1.2 หมื่นล้าน
-ส่องสาร 'สหรัฐ' ยินดี 'ไทย' กับวาระที่มากกว่ายกระดับความสัมพันธ์
-'สหรัฐ' ส่งหนังสือถึงประยุทธ์ แจงปมไม่เห็นด้วยแบน 3 สาร
-'รมว.ทรัพย์ฯ' บอกสหรัฐแค่ห่วงเรื่องการปนเปื้อน ยันไม่แทรกแซงมติแบบสารเคมีทั้ง 3 ชนิด