'จุรินทร์' จ่อยื่นสหรัฐ ทบทวนตัด 'จีเอสพี'

'จุรินทร์' จ่อยื่นสหรัฐ ทบทวนตัด 'จีเอสพี'

“พาณิชย์” เผยเตรียมยื่นอุทธรณ์สหรัฐ ทบทวนตัดสิทธิจีเอสพี ชี้ กระทบส่งออกไทย 0.01% สินค้าไทยได้เปรียบลดลง นัดแถลงผลกระทบวันนี้

สินค้าไทยได้เปรียบลดลง

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า การส่งออกไทยที่มีจุดเด่นในการกระจายตัวของสินค้ากลุ่มใหม่ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอนาคต อาทิ เครื่องนุ่งห่มรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน จะช่วยยังสนับสนุนการส่งออกของไทยในตลาดสหรัฐต่อไปได้ 

แต่การถูกตัด จีเอสพี ทำให้ความได้เปรียบด้านต้นทุนภาษีหมดไป และไทยจะเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้น การรักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ส่งออกควรกระชับสัมพันธ์กับผู้นำเข้าพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการส่งเสริมการส่งออกและการตลาดเชิงรุก เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด

กลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากมีการพึ่งพาสิทธิจีเอสพีมากกว่า 50% และส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่า 10% ได้แก่ คอนโซล โต๊ะและฐานรองอื่นๆ ที่ติดตั้งด้วยเครื่องอุปกรณ์ (HS8537) รถจักรยานยนต์ (HS8711) แว่นสายตาหรือแว่นกันลม/กันฝุ่น (HS9004) หลอดหรือท่ออ่อนทำจากยางวัลแคไนซ์ (HS4009) อ่างล้างหน้า (HS6910) 

เครื่องสูบของเหลว (HS8413) สารเคลือบผิว Epoxy Resin (HS3907) เครื่องสูบลมหรือสูบสูญญากาศ (HS8414) อาหารปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืช (HS1904) ยางนอกชนิดอัดลม (HS4011) หากไทยสามารถกระจายความเสี่ยงส่งออกสินค้าที่ถูกตัดสิทธิไปยังตลาดอื่นๆ ได้ จะช่วยลดกระทบต่อการส่งออกไทยได้

สำหรับปี 2561 ไทยมีการใช้สิทธิจีเอสพี 355 รายการ จาก 573 รายการ มูลค่า 1,279 ล้านดอลลาร์และมีอัตราการใช้สิทธิเฉลี่ย 66.7% อาทิ อาหารทะเลแปรรูป พาสต้า ถั่วชนิดต่างๆ แยมผลไม้ น้ำผลไม้ ซอสถั่วเหลือง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์เครื่องครัวและของใช้ในบ้าน มอเตอร์ไฟฟ้า เหล็กแผ่นและสเตนเลส เครื่องดนตรี และอุปกรณ์ตกปลา

“ไทยยูเนี่ยน”ยืนยันไม่กระทบ

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่สหรัฐตัดจีเอสพีสินค้านำเข้าจากไทยหลายรายการ และครอบคลุมถึงสินค้าอาหารทะเลจากไทยบางรายการ ซึ่งจะมีผลกระทบให้ภาษีนำเข้าของสินค้าบางรายการที่ส่งออกไปยังสหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้น โดยจะเริ่มบังคับใช้ใน 6 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ สินค้าอาหารทะเลหรืออาหารสัตว์ที่ไทยยูเนี่ยนจำหน่ายในสหรัฐไม่ได้อยู่ภายใต้จีเอสพี ดังนั้น มาตรการที่ประกาศในครั้งนี้ จึงไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทแต่อย่างใด ซึ่งไทยยูเนี่ยนยังคงมุ่งมั่นทำงานกับรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกเพื่อปรับปรุงเรื่องสิทธิแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน