'ดีเอสไอ' พร้อมล่าตัว 'แชร์แม่มณี' โกงแชร์เงินออม 100 ล้าน

'ดีเอสไอ' พร้อมล่าตัว 'แชร์แม่มณี' โกงแชร์เงินออม 100 ล้าน

ลูกแชร์แม่มณีกว่า 200 ราย บุกร้อง "ดีเอสไอ" จี้ให้รับเป็นคดีพิเศษ กลุ่มแม่ลูกอ่อนร่ำไห้ หลังเทออมเงินหมดหน้าตัก เผยวงแชร์เปิดตัว มี.ค.62 วงแตก 23 ต.ค.

เมื่อวันที่ 28 ต.ค.62 ผู้เสียหายแชร์ลูกโซ่ "แม่มณี" กว่า 200 คน เดินทางมายังดีเอสไอ สวมหน้ากากและแว่นตาปิดบังใบหน้า เข้าร้องทุกข์กับ นายปิยะศิริวัฒนวรางกูร​ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ เพื่อเอาผิดกับเน็ตไอดอลที่รู้จักกันดีในนาม “แม่มณี” หรือ น.ส.วันทนีย์ ทิพย์ประเวช อายุ 30 ปี โดยมีพฤติกรรมหลอกให้ผู้เสียหายมาร่วมลงทุนเงินออมในลักษณะแชร์ลูกโซ่ อ้างผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 93 มูลค่าเสียหายมากถึง 100 ล้านบาทนั้น

นายปิยะศิริ กล่าวว่า หลังดีเอสไอรับเรื่องร้องทุกข์จะเสนอให้ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ให้อนุมัติการสืบสวน และลงพื้นที่สอบปากคำพยาน เบื้องต้นในวันนี้จะให้ผู้เสียทุกรายบันทึกปากคำ และจะให้ส่งรายละเอียดข้อมูลแชร์ลูกโซ่ทางคิวอาร์โค้ด

ขอยืนยันว่าดีเอสไอ จะเร่งรัดการสืบสวนและประสานข้อมูลกับตำรวจปอท.ซึ่งทางกลุ่มผู้เสียหายได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ก่อนหน้านี้. สำหรับกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิด ขอให้แสดงความบริสุทธิ์ใจ และเข้าพบพนักงานสอบสวน เพราะขณะนี้มีผู้เสียหายจำนวนมาก และกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในสภาวะยากลำบากจากการถูกหลอก อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่เคยทำคดีแชร์ลูกโซ่มักจะมีผลตอบแทน 15% ต่อเดือน แต่แชร์แม่มณีให้ผลตอบแทน 93% พร้อมคืนเงินต้น ซึ่งยอมรับว่าตกใจเพราะไม่เคยเห็นผลตอบแทนมากแบบนี้ และเป็นการชักชวนให้ลงทุนผ่านสื่อออนไลน์ เมื่อลงทุนแล้วก็จะถูกดึงเข้ากลุ่มไลน์พฤติการณ์ดังกล่าวไม่ใช้การประกอบธุรกิจแต่เป็นการนำเงินมาจัดลำดับการจ่าย หรือนำเงินของผู้ลงทุนเงินรายใหม่มาจ่ายให้รายเก่า

“ถ้าท่านไม่มาพบพนักงานสอบสวน ผมจะตามล่าจนกว่าอายุความจะหมด และจะตามยึดทรัพย์ไม่หยุดถ้าหลบหนีไปต่างประเทศก็จะออกหมายจับ แต่เชื่อว่ายังอยู่ในประเทศไทย ส่วนทรัพย์สินที่ได้ไปจากการฉ้อโกงก็เชื่อว่ายังอยู่ในประเทศไทยเช่นกัน สำหรับผู้ที่เป็นแม่ข่ายชักชวนให้ผู้อื่นให้นำเงินมาลงทุน ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนด้วยหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมในการเชิญชวนว่าเชื่อโดยสุจริตใจ หรือมีลักษณะเป็นข้อต่อแชร์ลูกโซ่ โดยลักษณะการโอนเงินจะบ่งชี้ได้” นายปิยะศิริกล่าว และปฏิเสธที่จะตอบข้อซักถามเกี่ยวกับ “มะนาว” ซึ่งเป็นแม่ข่ายชักชวนให้ร่วมลงทุนแชร์แม่มณี จนมีผู้ได้รับความเสียหาย 70 ล้านบาท โดยระบุเพียงว่า ต้องรอให้ทราบข้อมูลในชั้นสืบสวนก่อนว่าใครเกี่ยวข้องอย่างไร

ผู้เสียหายแม่ลูกอ่อน กล่าวทั้งน้ำตาว่า ตนเองมีอาชีพค้าขายต้องเลี้ยงลูกที่ป่วยและได้มารู้จักกับแม่มณี ในวงการค้าผ้า โดยแม่มณีโอนเงินมาช่วยเหลือค่ารักษาลูก 1,000 บาท ตนจึงนำเงินดังกล่าวไปออมเมื่อครบเดือนก็ได้กลับคืนมา 1930 บาท จึงมั่นใจว่าไม่ถูกหลอก และได้เพิ่มการออมไปเรื่อยๆ จนล่าสุดได้เทเงินออมหมดหน้าตัก 30,000 บาท เพื่อนำผลตอบแทนไปเปลี่ยนเครื่องช่วยหายใจให้ลูก แต่แชร์แม่มณี กลับวงแตกและติดต่อกับแม่มณีไม่ได้อีกเลย

 

ด้านตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวว่า ตนเพิ่งจะเคยลงทุนกับแม่มณีเป็นที่แรก โดยทดสอบด้วยการลงทุนจำนวนน้อยก่อนและเห็นว่าคืนครบ-ตรงเวลา โดยแม่มณี จะดึงเข้ากลุ่มไลน์ทำให้เห็นข้อมูลการโอนเงินของคนอื่น มีทั้งหลักแสนบาท ถึงหลักล้านบาท จึงเพิ่มเงินลงทุนและเมื่อตรวจสอบที่เฟซบุ๊ก ก็พบรูปโปรไฟล์เป็นเน็ตไอดอล และเป็นผู้จัดละครและสร้างภาพยนต์ พร้อมทั้งมีธุรกิจอื่นอีกมาก ทำให้มีผู้ติดตามเป็นกลุ่มแม่ลูกอ่อนจำนวนมาก

โดยเชื่อว่าเป็นการระดมทุนเพื่อนำเงินไปสร้างหนัง ที่ผ่านมาสมาชิกถามว่าเอาเงินไปทำอะไรก็จะถูกด่า และย้ำว่าการออมกับแม่มณี ห้ามถามให้รอรับเงินอย่างเดียว ภายหลังจากแชร์วงแตก ตนได้เข้าไปสืบค้นข้อมูลพบว่า แม่มณีเพิ่วจะเริ่มระดมทุนเมื่อเดือนมีนาคม 62 และแตกวง ปิดเฟซบุ๊กในวันที่ 23 ต.ค. 62 จากนั้นก็ขาดการติดต่อกับสมาชิก

ขณะที่ผู้เสียหายอีกราย เปิดเผยว่า ตนเคยเจอแม่มณีแบบตัวเป็นๆ ในงานมิตติ้งกลุ่มผู้ออมเงินโดยสมาชิกที่ไปจะเป็นสมาชิกที่มีเงินฝากตั้งแต่หลักล้านบาท ส่วนตัวลงทุนไป 21 ล้านบาท ยอมรับว่าแม่ๆของแต่ละบ้านจะมีการชักชวนบุคคลภายนนอกให้เข้าร่วมลงทุน ส่วนจะมีการชักชวนและหักผลตอบแทนจากสมาชิกอย่างไรตนไม่ทราบ