'คมนาคม' เร่งถก 'โฮปเวลล์' ขอลดดอกเบี้ย-ยืดชำระหนี้
"คมนาคม" ลุ้นผลอุทธรณ์ฟื้นคดีโฮปเวลล์ รอคำตอบ "ดีเอสไอ" บรรจุเป็นคดีพิเศษ พร้อมเดินหน้าเจรจาขอปรับลดดอกเบี้ยลง เตรียม 2 แนวทาง รัฐบาล-ร.ฟ.ท.ร่วมจ่ายค่าโง่ 2.4 หมื่นล้านบาท เผยค่าปรับดอกเบี้ยวันละ 2.4 ล้านบาท
2.การจัดตั้งบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ขัดต่อกฎหมาย ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และขัดต่อระเบียบสำนักงานทะเบียน หุ้นส่วนบริษัท ว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท เพราะการทำธุรกิจของคนต่างด้าวในขณะนั้น จะต้องได้รับการเห็นชอบออกเป็นพระราชฤษฎีกา แต่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ไม่ได้มีการออกพระราชฤษฎีกา ทำให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ขาดคุณสมบัติที่เข้าทำสัญญาสัมปทาน
ในขณะที่วันที่ 22 ต.ค.2562 กระทรวงคมนาคมได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดในการขอทุเลาการบังคับผลของคดีที่มีคำสั่งให้กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.ชำระค่าชดเชยให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งนำมาสู่การเจรจาระหว่างกระทรวงคมนาคม ร.ฟ.ท.และบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานคดีโฮปเวลล์ ได้เจรจาร่วมกับตัวแทนบริษัทโฮปเวลล์
- เจรจาขอลดวงเงินค่าโง่
นายพิศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดรับคำร้องที่กระทรวงคมนาคมได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลปกครองกลางที่ไม่รับพิจารณาคดีใหม่ ไปเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนี้คำอุทธรณ์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
ส่วนประเด็นของการเจรจากับบริษัทโฮปเวลล์ ที่ผ่านมายอมรับว่าทางบริษัทโฮปเวลล์เข้ามาเจรจากับคณะทำงานบ้างแล้ว โดยเป็นการเจรจาในส่วนของข้อเสนอกรอบวงเงินที่ต้องชำระ แต่ยังไม่สามารถให้ข้อมูลอย่างละเอียดได้ เนื่องจากกระทรวงคมนาคมไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้เปิดเผยรายละเอียดส่วนนี้ ประกอบกับยังถือเป็นการเจรจาที่ยังไม่สิ้นสุด และคณะทำงานจะต้องนำเรื่องดังกล่าวหารือกับทางอัยการช่วยพิจารณาด้วย
"เรื่องที่เจรจากันไปก็เป็นเรื่องข้อเสนอวงเงินที่รัฐต้องชำระตามศาลตัดสิน เป็นการเจรจาเพื่อชำระหนี้ คุยเฉพาะเรื่องวงเงินอย่างเดียว ส่วนเรื่อง ปว.281 ยังไม่มีการหารือในเรื่องนี้ ซึ่งแนวทางการเจรจาก็เพื่อปรับวงเงินลดลง ขณะที่เรื่องกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่กระทรวงคมนาคมขอให้บรรจุคดีนี้เป็นคดีพิเศษ ตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับมา การดำเนินการคดีโฮปเวลล์ตอนนี้ จึงถือว่าอยู่ในขั้นตอนที่กระทรวงฯ ขอทุเลาบังคับคดี ยืดอายุการจ่ายเงินชดเชยออกไป แต่ดอกเบี้ยก็ยังวิ่งอยู่"
- ยอดหนี้ค่าโง่ 2.4 หมื่นล้าน
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูน ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปความคืบหน้าการแก้ปัญหาโฮปเวลล์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อชี้แจงต่อสื่อมวลชน โดยมีการสรุปยอดหนี้ที่ต้องชำระให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ณ วันที่ 19 ต.ค.2562 วงเงิน 24,798 ล้านบาท ครอบคลุมเงินค่าก่อสร้างโครงการ เงินค่าตอบแทนที่บริษัทชำระไว้ และค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.เงินต้น 11,888 ล้านบาท 2.ดอกเบี้ย 12,910 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการคมนาคมเจรจาบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ลดดอกเบี้ยลงเป็น 0% และขอขยายเวลาการชำระหนี้จากที่ศาลกำหนดไว้เพียง 180 วัน แต่ผลการเจรจาไม่มีการลดหนี้และไม่มีข้อสรุปเรื่องการขยายระยะเวลาการชำระหนี้
รวมทั้งมีการคำนวณกรณีกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.ไม่สามารถชำระเงินตามคำพิพากษาได้ภายใน 19 ต.ค.2562 จะต้องมีภาระค่าปรับดอกเบี้ยในอัตราวันละ 2.43 ล้านบาท เป็นอัตราที่คำนวณถึงวันที่ 31 ธ.ค.2562
- เตรียม 2 แนวทางจ่ายค่าโง่
นอกจากนี้ คณะทำงานคดีโฮปเวลล์ได้สรุปแนวทางการการชำระหนี้ตามคำพิพากษา 2 แนวทาง คือ 1.รัฐบาลเป็นผู้รับภาระทั้งหมด 24,798 ล้านบาท โดยจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงคมนาคมเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากงบประมาณหรือเงินกู้ ซึ่งแนวทางนี้มีข้อดีที่การใช้งบประมาณจะไม่มีต้นทุนทางการเงิน แต่มีข้อเสีย คือ หากจัดทำงบประมาณขาดดุลหรือใช้แหล่งเงินกู้จะเกิดต้นทุนทางการเงิน
2.รัฐบาลรับภาระร่วมกับ ร.ฟ.ท. โดยกรณีแรกให้ ร.ฟ.ท.รับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นค่าตอบแทน 2,850 ล้านบาท เนื่องจาก ร.ฟ.ท.ได้รับจากบริษัทโดยตรง และอาจพิจารณาโดยใช้จ่ายจากเงินกู้เพื่อใช้ในการดำเนินงานปี 2562 หรือ 2563
กรณีที่สอง รัฐบาลรับภาระหนี้ส่วนที่เหลือทั้งจำนวน 21,948 ล้านบาท รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่บริษัท โดยจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงคมนาคม เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากแหล่งงบประมาณหรือเงินกู้ ซึ่งข้อดี คือ สามารถจ่ายชำระหนี้ในส่วนที่เป็นค่าตอบแทนได้ทันทีโดยใช้แหล่งเงินกู้ แต่ข้อเสีย คือ ต้นทุนทางการเงินของ ร.ฟ.ท.สูงกว่ารัฐบาล