“เอไอ” อ่านภาพเอกซเรย์ เจอร่องรอยโรคแม้จุดตาคนมองไม่ชัด

“เอไอ” อ่านภาพเอกซเรย์ เจอร่องรอยโรคแม้จุดตาคนมองไม่ชัด

“ศิริราช” จับมือ “เพอเซ็ปทรา” วิจัย-พัฒนาอำอรังสีวินิจฉัยสัญชาติไทย ใช้ฐานข้อมูลภาพถ่ายเอกวเรย์รพ.ศิริราช 1-2 ล้านภาพ คัดกรองโรคทรวงอกได้ทั้ง 14 สภาวะ มั่นใจแม่นยำสูง ช่วยเสริมการทำงานแพทย์ ผู้ป่วยรู้ผลโรคเร็วเร็วขึ้น แก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง


“ศิริราช” จับมือ “เพอเซ็ปทรา” วิจัย-พัฒนาอำอรังสีวินิจฉัยสัญชาติไทย ใช้ฐานข้อมูลภาพถ่ายเอกวเรย์รพ.ศิริราช 1-2 ล้านภาพ คัดกรองโรคทรวงอกได้ทั้ง 14 สภาวะ มั่นใจแม่นยำสูง ช่วยเสริมการทำงานแพทย์ ผู้ป่วยรู้ผลโรคเร็วเร็วขึ้น แก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง หวังขยายผลใช้ทั่วประเทศไทย-อาเซียน

วันนี้(12 พ.ย.) ที่รพ.ศิริราช มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU)ว่าด้วยการร่วมวิจัยและพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)เพื่อรังสีวินิจฉัย ระหว่างศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นายชัยวัฒน์ พู่พิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และน.ส.สุพิชญา พู่พิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด โดยศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มุ่งเน้นการทำวิจัยและการนำองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์มาพัฒนาให้ก่อเกิดคุณประโยชน์แก่วงการสาธารณสุขของประเทศไทย จึงเกิดความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และบริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด ในการวิจัยและพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคจากภาพถ่ายรังสีทรวงอก เนื่องจากโรคเกี่ยวกับปอด เช่น โรคมะเร็งปอด วัณโรค ปอดอักเสบ เป็นกลุ่มโรคที่ติดอันดับทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุดแทบทุกปี ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกเมื่อสายไปแล้วที่จะรักษา ซึ่งปัจจุบันการคัดกรองโรคด้วยภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกเป็นวิธีการที่สะดวก ต้นทุนถูก และปลอดภัยที่สุด

“การที่จะวินิจฉัยโรคปอดจากภาพถ่ายเอกซเรย์ให้ได้ความแม่นยำสูง ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์รังสีวินิจฉัยเฉพาะทาง แต่ความขาดแคลนอย่างมาก ดังนั้นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับความเชี่ยวชาญของกลุ่มแพทย์รังสีที่มีประสบการณ์ จึงมีส่วนสำคัญที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน”ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

น.ส.สุพิชญา พู่พิสุทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด กล่าวว่า ในปี 2561 เพอเซ็ปทราได้พัฒนา อินเสป็คทรา ผลิตภัณฑ์ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ขึ้นมาจากการทำงานร่วมกันของระบบปัญญาประดิษฐ์หลายระบบ อาทิ การคัดกรองภาพถ่ายที่ใช้งานไม่ได้ (Defective image screening) การแปลงผลรายงานแพทย์ (Medical report analysis) การปรับภาพก่อนการวินิจฉัย (Pre-processing image) และการวินิจฉัย (Diagnosis) ด้วยเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์แบบการเรียนรู้เชิงลึก (Deep learning) ที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ถึง 121 ชั้น ขึ้นจากภาพรังสีทรวงอกจำนวนกว่า 500,000 ภาพ ทำให้สามารถคัดกรองโรคจากภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกได้ทั้ง 14 สภาวะเสมือนการอ่านผลของแพทย์รังสี ทั้งนี้แพทย์สามารถเข้าถึงการบริการได้ง่าย ๆ ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านเว็บแอพลิเคชันที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูงถึง 3 ชั้น ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราช เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงเกิดความร่วมมือเพื่อวิจัยและพัฒนาต่อยอดระบบให้สามารถนำมาใช้ได้เหมาะสมกับประชากรและระบบสาธารณสุขในประเทศไทยและประเทศแภบอาเซียน

“จากความรวมมือนี้บริษัทคาดว่าจะเปิดตัวแอพลิเคชันให้โรงพยาบาลรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชน ที่เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน รวมถึงผู้ให้บริการรถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ใช้ได้ในต้นปี 2563 และมีแนวคิดที่จะขยายความร่วมมือไปสู่การแพทย์ด้านอื่นด้วย เพื่อยกระดับสาธรรณสุขไทยโดยรวมให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในด้านสาธารณสุข และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)”น.ส.สุพิชญากล่าว

ด้าน รศ. นพ.พิพัฒน์ เชี่ยววิทย์ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ข้อดีของการใช้เอไอเพื่อรังสีวินิจฉัยมาเสริมการทำงานของแพทย์ คือช่วยให้มีความรวดเร็ว และแม่นยำในการช่วยวินิจฉัยทางการแพทย์ ขณะที่ผู้ป่วยจะได้รู้ผลการตรวจเร็วขึ้นและลดโอกาสผิดพลาด ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งในการอ่านภาพถ่ายเอกซเรย์นั้น อาจมีจุดในปอดขนาดเล็กมากๆ อาจจะดูด้วยตาเห็นไม่ชัด แต่เอไอจะพบจุดเล็กๆนี้ในปอด แล้วจะแสดงผลเป็นวงสีเกิดขึ้น ทำให้แพทย์เห็นจุดเล็กๆนั้น ช่วยให้สามารถตรวจเจอมะเร็งปอดได้ตั้งแต่ระยะแรกได้ เป็นต้น

ศ.นพ.ทนงชัย สิริอภิสิทธิ์ รองหัวหน้าสาขารังสีวินิจฉัย ภาควิชารังสีวิทยา กล่าวเสริมว่า ปัญญาประดิษฐ์เพื่อรังสีวินิจฉัยที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นการใช้ฐานขอ้มูลภาพถ่ายเอกซเรย์ของต่างประเทศ ซึ่งในบางกรณียังไม่สามารถนำมาใช้ได้ในการวินิจฉัยกับคนไทย และยังมีราคาแพง ดังนั้น การร่วมมือระหว่างศิริราชและเพอเซ็ปทราจะเป็นการพัฒนาเอไอเพื่อรังสีวินิจฉัยจากฐานข้อมูลของคนไทยเอง โดยใช้ภาพถ่ายเอกซเรย์ที่รพ.ศิริราชมีอยู่ราว 1-2 ล้านภาพมาเป็นฐานข้อมูลให้ในการบรรจุเข้าสู่ระบบเอไอ ซึ่งจะยิ่งฐานข้อมูลจำนวนมากก็จะทำให้ความแม่นยำในการแสดงผลของเอไอสูงขึ้น จะมีความแม่นยำถึง 90 % โดยจะเป็นการพัฒนาให้สามารถคัดกรองโรคจากภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกได้ 14 สภาวะตามมาตรฐานโรคในทรวงอกเบื้องต้นแต่ในอนาคตจะมีมากกว่านี้

“เมื่อความร่วมมือนี้ดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้มีเอไอเพื่อรังสีวินิจฉัยที่เกิดจากฐานข้อมูลของคนไทยเอง เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่จากศิริราช จะช่วยให้การอ่านของเอไอมีความแม่นยำสูง ช่วยเสริมการทำงานของแพทย์ที่บางครั้งเมื่อทำงานนานๆมีความล้า ทำให้รพ.ที่ไม่มีแพทย์รังสีวินิจฉัยสามารถให้แพทย์ทั่วไปอ่านภาพถ่ายเอกซเรย์ของผู้ป่วยเบื้องต้นได้ หากสงสัยเพิ่มเติมจึงค่อยส่งปรึกษาแพทย์รังสิวินิจฉัย เพราะปัจจุบันทั่วประเทศมีแพทย์เฉพาะทางด้านนี้ราว 1,000-2,000 คน ที่สำคัญ ช่วยผู้ป่วยรู้ผลการวินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้นและในระยะต้นของดรค”ศ.นพ.ทนงชัยกล่าว