ครม.เศรษฐกิจจับตา จีดีพีไตรมาส 3
ครม.เศรษฐกิจจับตาตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 สศช. แถลงวันนี้ พร้อมเสริมมาตรการกระตุ้นช่วงสุดท้ายปลายปีหากจีดีพีต่ำกว่าคาด “กอบศักดิ์” นัดหน่วยงานเศรษฐกิจหารือ 22 พ.ย.นี้
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะเลขานุการคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เปิดเผยว่าในวันที่ 22 พ.ย.จะมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจตามที่ได้มีการนัดหมายกับรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาไว้ว่าภายหลังจากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะมีการแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยการประชุมหารือ ของ ครม.เศรษฐกิจเพื่อประเมินถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนดูถึงผลลัพธ์ของมาตรการทางเศรษฐกิจที่มีการออกมาในช่วงไตรมาสที่ 2 - 3 ของปีว่าสามารถส่งผลต่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจต่างๆอย่างไร ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าการปรับตัวเลขคาดการณ์ของจีดีพีจะออกมาอย่างไร และจะยังคงอยู่ในกรอบ 2.7 - 3.2% หรือไม่ ซึ่งจะได้เห็นข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นภายหลังการแถลงข่าวในวันนี้
“ได้นัดหมายกับกระทรวงต่างๆแล้วว่าเมื่อสภาพัฒน์แถลงตัวเลขจริงในไตรมาสที่ 3 ก็ต้องมาดูว่าภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างไร มาตรการที่ได้ใส่ลงไปมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด และการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับนี้เป็นที่พอใจหรือไม่ ถ้าไม่พอก็ต้องมาดูว่าในช่วงที่เหลืออีกประมาณ 1.5 เดือนของปีนี้จะมีมาตการอะไรเพิ่มเติมเพื่อให้ไตรมาสที่ 4 ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีขึ้น”นายกอบศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจเมื่อการประชุมครั้งที่ผ่านมาในวันที่ 22 ต.ค.2562 ได้รับทราบรายงานสถานการณ์ศรษฐกิจล่าสุด ณ เดือน ก.ย.2562 ที่สำคัญ เช่น ด้านการผลิต พบว่าภาคเกษตรมีการปรับตัวดีขึ้น จากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัวดีขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัว ส่วนภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัว 7.2% เร่งตัวขึ้นจาก 1.4% ในไตรมาสก่อนหน้าตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากจีน อินเดียและเกาหลีใต้ ส่งผลให้รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่องที่ 5.8% สูงขึ้นจาก 2.3%ในไตรมาสก่อนหน้า
ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 อยู่ที่ 0.6% ลดลงจาก 1.1% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของราคาในหมวดพลังงาน สำหรับการจ้างงานปรับตัวลดลงตามการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ลดลง ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1% ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นตามการเกินดุลการค้าและดุลบริการ ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลเล็กน้อยจากทางด้านหนี้สินตามการไหลเข้าสุทธิของการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ ครม.เศรษฐกิจได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจไทย และชี้แจงข้อมูลแก่ประชาชนให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย