“ไทยแลนด์พลัสวัน” จับคู่ญี่ปุ่น "รุกตลาดแรงงาน" CLMV
“ไทยแลนด์พลัสวัน” จับคู่ญี่ปุ่นรุกตลาด CLMV หวังช่วยกระตุ้นภาคเอกชนในประเทศทั้งรายเก่ารายใหม่ และนักลงทุนต่างชาติที่อาจหนีผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ-จีน เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม
แนวโน้มเศรษฐกิจในกลุ่มภูมิภาค CLMV ที่ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่ “ต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงานยังต่ำ และทรัพยากรประเทศยังคงสมบูรณ์” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติแห่เข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้กันมากขึ้น
ศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมจัดงาน The 4th Business Connecting 2019 ในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์พลัสวัน สู่ความเป็นไปได้ทางความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น” เพื่อเป็นเวทีการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจ และตอกย้ำถึงความร่วมมือของ 2 ประเทศในลักษณะเชิงรุกให้สอดรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
“ณัฐพล รังสิตพล” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุนและอุตสาหกรรมอย่างแนบแน่นยาวนาน เห็นได้จากตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ พบว่า นักลงทุนญี่ปุ่นมาไทยยังคงอยู่ในอันดับ1 และตั้งแต่เดือน ม.ค. - ก.ย. 2562 นักลงทุนญี่ปุ่นได้ยื่นเรื่องกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นเงินประมาณ 59,187 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของจำนวนโครงการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด
ขณะที่ตัวเลขาการค้าไทย-ญี่ปุ่น ในไตรมาสสอง ปี 2562 พบว่า มีมูลค่าการค้า 28,921.1 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกล เป็นต้น โดยสินค้านำเข้าหลัก เช่น เครื่องจักรกล เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์
เวทีนี้ เน้นการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์พลัสวัน ซึ่งกำหนดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการทำธุรกิจในกลุ่มภูมิภาค CLMV ควบคู่ไปกับการขยายฐานการผลิตไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้เข้ามาช่วยตอบโจทย์ความต้องการเรื่องแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีราคาถูก พื้นที่ที่ตั้งโรงงาน และทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงสมบูรณ์
ไทยแลนด์พลัสวัน จะช่วยกระตุ้นภาคเอกชนในประเทศทั้งรายเก่ารายใหม่ และนักลงทุนต่างชาติที่อาจหนีผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ-จีน เร่งเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขยายครอบคลุมไปยังภูมิภาค CLMV
ณัฐพล ยอมรับว่า ตลาดแรงงานไทยในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนไปสู่แรงงานทักษะชั้นสูง ประกอบกับมีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้กับอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานปรับตัวสูงขึ้นด้วย แต่ไม่ใช่อุปสรรคความร่วมมือทางการค้ากับต่างชาติ เพราะแรงงานไทยสามารถเข้าไปเติมเต็มระบบการจ้างงานในด้านการบริหารองค์กรและควบคุมโรงงาน
ประเทศไทย มีแรงงานต่างด้าวลงทะเบียนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตประมาณ 1 ล้านคน และในภาคการจ้างงานอื่นๆ ประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งการขยายฐานการจ้างงานไปยังประเทศเพื่อนบ้านของไทย ภายใต้นโยบายไทยแลนด์พลัสวัน ไม่ได้ทำให้เกิดการแย่งจำนวนแรงงาน แต่กลับช่วยสร้างงานท้องถิ่นให้กับแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งยังช่วยยกระดับตลาดแรงงานให้ก้าวไปอีกขั้น
แม้ว่า ห่วงโซ่การผลิต ของอุตสาหกรรมการผลิตในกลุ่ม CLMV ยังขาดความพร้อมด้านเทคโนโลยีและทักษะการช่าง แต่การดำเนินนโยบายไทยแลนด์พลัสวันจะเข้าไปเสริมสร้างศักยภาพและเติมเต็มความพร้อมมากขึ้น เพื่อช่วยให้เกิดพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศเหล่านี้ให้มีความมั่นคงและยั่งยืน
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็เป็นรูปแบบเดียวกับการขยายฐานการลงทุนเพื่อการผลิต เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น จีน สหรัฐได้ดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการลดต้นทุนการผลิต แต่ถ้าประเทศไทยไม่รีบดำเนินการ ก็เท่ากับปิดกั้นตัวเอง” ณัฐพล กล่าว
ด้าน “มาซาฮิโกะ โฮซากะ” ประธานศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งโตเกียว กล่าวว่า ญีุ่ปุ่นมีความมุ่งมั่นร่วมมือการทำธุรกิจกับประเทศไทย ทั้งในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการด้านการบริหารธุรกิจ การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ การเจาะขยายช่องทางตลาด ตลอดจนการถ่ายทอดวิทยาการในด้านต่างๆ เพราะมองเห็นว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตในอาเซียน
นับตั้งแต่ศูนย์ฯ ได้เข้ามาตั้งสำนักงานที่ประเทศไทย ซึ่งปีนี้เข้าสู่ปีที่5 แล้ว พบว่า มีผู้ประกอบการญี่ปุ่นและไทย เข้ามาขอรับบริการคำปรึกษาด้านกฎหมาย การบัญชี การตลาด ยุทธศาสตร์การบริหารบริษัท และร่วมเวทีจับคู่ธุรกิจกว่า 1,000 รายต่อปี นอกจากนี้ ยังมีนักธุรกิจจำนวนมากร่วมออกงานแสดงสินค้าไทยแลนด์อินดัสเตรียลแฟร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานที่ประเทศญี่ปุ่นจัดขึ้นทุกๆปี สิ่งเหล่านี้ ตอกย้ำถึงความร่วมมือและสายสัมพันธ์ทางธุรกิจซึ่งกันและกัน
การจัดงานครั้งนี้ ญี่ปุ่น หวังผลักดันยุทธศาสตร์ไทยแลนด์พลัสวัน สู่ความเป็นไปได้ทางความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เพราะถึงเห็นความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกัน เพื่อขยายฐานการผลิตไปยังกลุ่ม CLMV ซึ่งเป็นประเทศมีเศรษฐกิจกำลังพัฒนา และกำลังเป็นที่สนใจอย่างมาก ในฐานะประเทศที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในเรื่องการผลิตสินค้า
มาซาฮิโกะ มองว่า อุตสาหกรรมการผลิตในกลุ่ม CLMV ที่น่าจะได้ประโยชน์ และเร่งใช้มาตรการนี้ได้เร็วที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมที่พร้อมลงทุน และมีแผนการลงทุนสูง เช่น กลุ่มผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และการแปรรูปอาหาร แต่การดำเนินการดังกล่าวจะสร้างประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนโดยรวมทั้งภูมิภาค