ธปท.ขยายวง ‘คลินิกแก้หนี้’ จ่อเปิดเฟส 3 ไฟเขียว ‘เอ็นพีแอล’ หลัง 1 ม.ค.62 ร่วมโครงการได้
“แบงก์ชาติ” เดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้รายย่อยต่อเนื่อง ล่าสุดเตรียมขยายเกณฑ์ “คลินิกแก้หนี้”ให้ลูกหนี้เอ็นพีแอลรายใหม่ที่เป็นหนี้เสียหลัง 1ม.ค.62 เข้าร่วมโครงการได้ พร้อมเล็งช่วยลดภาระดอกเบี้ย-ค่าใช้จ่าย ให้ลูกหนี้ดี แต่เริ่มมีสัญญาณผิดนัดชำระ
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ระยะข้างหน้าธปท.ยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น บวกกับภาวะเศรษฐกิจที่มีความท้าทายมากขึ้น จึงมองว่า หากสามารถทำให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ เกี่ยวกับการจัดการหนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ดังนั้น ธปท.อยู่ระหว่างการผ่อนเกณฑ์ “คลินิกแก้หนี้”เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งลูกหนี้่ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) แล้ว หรือลูกหนี้ดี ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย โดยกลุ่มแรก คาดว่าระยะถัดไปจะเห็นการขยายโอกาสให้ลูกหนี้เสียที่เป็นเอ็นพีแอล ภายหลัง 1ม.ค.2562 ให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ด้วย จากเกณฑ์เดิม ที่กำหนดให้คนที่เป็นหนี้เสียก่อน 1ม.ค.2562 เท่านั้น ที่สามารถเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ เพื่อเปิดทางให้ลูกหนี้เสียใหม่ๆ ที่ขาดศักยภาพในการชำระหนี้สามารถเข้าร่วมโครงการได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ธปท.จะขยายเกณฑ์ ให้ลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาล หรือคดีแดง สามารถเข้าโครงการได้ด้วย เพราะพบว่าจำนวนข้อร้องเรียนและคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการศาลมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นธปท.จึงจะขยายให้ลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ที่อยู่ในกระบวนการศาลเข้ามาในต้นปี 2563 นี้ด้วย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนทำให้ในวงกว้างมากขึ้น
“การขยายระยะเวลา ให้คนเป็นหนี้เสีย เข้าโครงการนี้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่กำหนดให้คนเป็นหนี้ก่อน 1ม.ค.2562 มีทั้งผลดีและผลเสีย แต่เราอยากให้มองในด้านที่เป็นประโยชน์ เพราะการขยายให้ลูกหนี้เสียสามารถเข้าโครงการนี้ได้ จะเป็นประโยชน์ต่อตัวลูกหนี้ได้มาก เพราะจริงๆแล้วเขาก็คงไม่อยากตกชั้นไปเป็นเอ็นพีแอล แต่ด้วยภาวะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือเกิดปัญหาทำให้กลายเป็นลูกหนี้เสีย ไม่งั้นคงไม่ยอมให้ตกชั้นหรือเสียประวัติทางการเงิน และเราไม่คิดว่าการขยายระยะเวลา คนเป็นเอ็นพีแอลให้เข้ามาเพิ่ม จะทำให้คนขาดวินัยทางการเงินเพิ่ม จนยอมเป็นหนี้เสียเพื่อที่จะเข้าโครงการ เพื่อให้จ่ายดอกเบี้ยถูก เพราะอย่าลืมว่า มันแลกกันไม่ได้กับการที่เสียประวัติ และขาดโอกาสทางการเงิน หรือกู้เงินไม่ได้ไปอีก 3-4 ปีข้างหน้า หากเข้าโครงการนี้ ดังนั้นไม่คุ้มหรอก หากลูกหนี้จะยอมทำตัวเองให้ตกชั้น เพราะคิดว่าธปท.จะขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาหนี้ ไม่ใช่เฉพาะลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลแล้วเท่านั้น ที่ธปท.ให้ความสำคัญ แต่ระยะข้างหน้าจะมุ่งไปช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ดีที่ยังผ่อนชำระปกติด้วย รวมถึงลูกหนี้ดี ที่เริ่มมีปัญหา และเริ่มผิดนัดชำระหนี้ แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย เพื่อให้กลุ่มนี้มีภาระที่ลดลง และป้องกันไม่ให้กลุ่มนี้เกิดความเสียหาย จนกลายเป็นเอ็นพีแอล ดังนั้นธปท.จึงมองว่า ควรเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้มากขึ้น
นางธัญญนิตย์ กล่าวว่า การเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้ ล่าสุดมีคณะทำงาน ที่ดูเกี่ยวกับการ แก้ปัญหาหนี้ กำลังอยู่ระหว่างดูอยู่ว่า จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มนี้อย่างไรได้บ้าง ร่วมถึงที่ผ่านมา ได้มีการหารือร่วมกับแบงก์พาณิชย์ไปบ้างแล้ว ว่าจะสามารถช่วยลดภาระให้ลูกหนี้กลุ่มนี้อย่างไรได้บ้าง เช่น อาจลดภาระดอกเบี้ย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของลูกหนี้กลุ่มนี้ให้ลดลงในระยะข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะเริ่มชัดเจนภายในต้นปี 2563 นี้
“การเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มนี้ ก็ต้องเป็นลูกหนี้ดี ยังไม่เป็นเอ็นพีแอลแต่เริ่มมีสัญญาณไม่ดี เริ่มมีความลำบากในการจ่ายแล้ว ซึ่งเรากำลังเวิร์คกับแบงก์ ว่าจะเข้าไปทำอะไร เข้าไปช่วยอะไรได้บ้าง เช่นลดดอกเบี้ยผ่อนลงหน่อยหรือไม่ ไม่ต้องสูงเกินไป แต่การเข้าไปช่วยเหลือก็ต้องดูประวัติด้วย ว่าเป็นคนดีมาโดยตลอด ไม่ใช่เกเร ซึ่งตอนนี้คณะทำงานก็คุยกันอยู่ คาดว่าจะชัดเจนได้ราวต้นปีหน้า การเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มนี้ ก็เพื่อป้องกันไม่ใช่ กลุ่มนี้ เกิดความเสียหาย หรือเกิด Moral Hazard ดังนั้นการเข้าไปช่วยลูกหนี้กลุ่มนี้ ก็เพื่อพยุง หรือป้องกันไม่ให้เขาตกชั้น ก็ให้หล่นไปเป็นเอ็นพีแอล”