เกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาไทย เมื่อผลสอบ 'PISA' เด็กไทยไม่ถึงค่าเฉลี่ย
ผลคะแนนสอบ PISA ซึ่งวัดความรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ที่ผลล่าสุดเด็กไทยคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมด สิ่งเหล่านี้สะท้อนอะไรถึงคุณภาพการศึดษาของไทยบ้าง?
หลังจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ได้ประกาศผลคะแนนโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) อายุ 15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกๆ 3 ปี
โดยจะวัดประเมินนักเรียนทั้ง 3 ด้าน คือ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่ง PISA 2018 มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 600,000 คน ถือว่าเป็นตัวแทนของนักเรียน อายุ 15 ปี จำนวนประมาณ 32 ล้านคนทั่วโลก จาก 79 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ
สำหรับประเทศไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ ได้ดำเนินการจัดสอบเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 8,633 คน จาก 290 โรงเรียนในทุกสังกัดการศึกษา เข้าร่วมการประเมินในรอบนี้
จากผลการประเมิน PISA 2018 พบว่า ประเทศที่มีคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกในด้านการอ่าน ซึ่งเป็นด้านที่เน้นในรอบการประเมินนี้ ได้แก่ จีนสี่มณฑล สิงคโปร์ มาเก๊า ฮ่องกง และเอสโตเนีย ส่วนผลการประเมินของประเทศไทย นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยในด้านการอ่าน 393 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 487 คะแนน) คณิตศาสตร์ 419 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) และวิทยาศาสตร์ 426 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) เมื่อเปรียบเทียบกับ PISA 2015 พบว่าด้านการอ่านมีคะแนนลดลง 16 คะแนน ส่วนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีคะแนนเพิ่มขึ้น 3 คะแนน และ 4 คะแนน ตามลำดับ
สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลคะแนน PISA ครั้งนี้สะท้อน 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ตลอดหลายปี การจัดการศึกษาของไทย เมื่อเทียบระดับสากลอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำและมีแนวโน้มว่าจะต่ำลงอีก โดยเฉพาะการอ่าน ซึ่งอยากให้ผู้ที่อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประเมินตนเองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ นโยบายการศึกษาทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นจริงหรือ เพราะเท่าที่ติดตามดูเหมือน ศธ.จะรู้สึกภูมิใจกับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น และไม่ได้เข้าใจสถานการณ์การศึกษาไทยที่จมปรักอยู่กับที่เกือบ 20 ปี
2.การอ่าน เป็นสาระสำคัญและเป็นปัญหาตั้งแต่เด็กประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา ที่ผ่านมามีนโยบายการอ่านเป็นระยะแต่ขาดความชัดเจน เอาจริงเอาจัง อย่างต่อเนื่อง เด็กไทยอ่านไม่คล่อง จับใจความไม่ได้ คิดวิเคราะห์ไม่ได้ ศธ.ต้องมีนโยบายชัดเจน ไม่ใช่เพียงบอกว่าจะทำให้การอ่านดีขึ้นโดยเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลง เพราะที่ผ่านมาก็พูดแบบนี้แต่ไม่เคยเกิดการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ด้านคะแนนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ของไทยย่ำอยู่กับที่ แต่ประเทศที่เคยล้าหลัง กว่าไทยตอนนี้กลับคะแนนดีขึ้น ประเทศต่างๆ มีการปฏิรูปประเทศและปฏิรูปการศึกษาไปพร้อมกัน
"ศธ.ต้องมีนโยบายชัดเจน ไม่ใช่เพียงบอกว่าจะทำให้การอ่านดีขึ้น โดยเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลง" สมพงษ์ จิตระดับ
3.การคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ของเด็กที่ต่ำเหมือนเดิม ทำให้เห็นว่าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องการเรียนรู้ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นโจทย์ยากและซับซ้อน แต่เรื่องนี้ศธ.ต้องทำให้เกิดขึ้น เพราะถ้าไม่ทำเรื่องนี้จะไม่เกิดการพัฒนาคน และ 4.ผลคะแนน PISA เป็นตัวบ่งชี้ว่า การศึกษาไทยย่ำอยู่กับที่ ขณะที่ประเทศล้าหลังกว่าไทยยังทำให้คะแนนเด็กดีขึ้นได้ ควรมีนโยบายที่เป็นรูปธรรม ขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติจริงๆ
ด้าน กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากผลคะแนน PISA แสดงให้เห็นว่าตลอด 9 ปี ที่มีการพัฒนาการศึกษาไทยไม่เป็นผล และมีความเหลื่อมล้ำสูง เพราะยังมุ่งเน้นจัดสรรทรัพยากรให้แก่เด็กที่มีโอกาสมาก เรียนอยู่โรงเรียนขนาดใหญ่ มีครู มีอุปกรณ์พร้อมได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ส่วนโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง กลับไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร แตกต่างจากประเทศสิงคโปร์ที่จะส่งครูที่เก่งที่สุดไปสอนโรงเรียนที่นักเรียนขาดโอกาสมากที่สุด
"ควรปรับห้องเรียน การประเมินให้ครู จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ แก่นักเรียน" กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
"สิ่งที่น่ากังวลที่สุด คือ เรื่องการอ่าน เพราะการอ่านถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ทุกเรื่อง แต่เด็กไทยกลับไม่สามารถอ่านจับใจความ วิเคราะห์ สังเคราะห์ได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจพื้นฐานการอ่าน ว่าอ่านเพื่ออะไร คิดต่อยอดจากสิ่งที่อ่านได้หรือไม่ และอ่านอย่างเข้าใจ คิดวิเคราะห์ได้หรือไม่ ไม่ใช่อ่านเพื่อท่องจำ ที่สำคัญควรปรับห้องเรียน ซึ่งเชื่อว่าครู ผอ.โรงเรียนทุกคน อยากให้เด็กมีคุณภาพ อ่านออก คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์เป็น แต่ด้วยรูปแบบการประเมินทำให้ไม่สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมได้ ควรวางรูปแบบการประเมินครูใหม่ ที่เอื้อให้ครูจัดการเรียนการสอน กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน และการเรียนรู้แก่เด็ก" กุลธิดากล่าว
การยกระดับคะแนน PISA การเรียนรู้ของเด็กไทยควรเป็นความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน และนโยบายของ ศธ.ต้องเอื้อมากที่สุด อย่าเอาเพียงติวเพื่อหวังยกอันดับ
ตบท้ายด้วย อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ภาพรวมคะแนน PISA ทำให้เห็นว่าการอ่านของเด็กไทยตกลง และคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ดังนั้นการพัฒนาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนการอ่านจะมีกระบวนการส่งเสริมการอ่านอย่างเข้มข้นมากขึ้น และไม่ใช่เพียงการอ่านออกเขียนได้เท่านั้น เพราะเรื่องนี้ สพฐ.มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมอยู่แล้ว แต่ต้องเป็นการอ่านวิเคราะห์
โดยได้มอบหมายให้ทางทีมสำนักทดสอบทางการศึกษาของ สพฐ.ไปวิเคราะห์ เรื่องการอ่านว่าต้องพัฒนาเพิ่มเติม การอ่านแล้ววิเคราะห์อย่างไรได้บ้าง เช่น อาจจะให้มีการจัดสอบข้อสอบแบบอัตนัยมากขึ้น ในชั้นเรียนต้องให้เด็กอ่าน เขียนบทความ เรียงความ เพิ่มการเล่าเรื่องมากขึ้น อ่านแล้วนำมาเล่าให้เพื่อนฟังพร้อมแสดงความคิดเห็นในเรื่องนั้นๆ เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น เนื่องจากการอ่านเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องเสริมเรื่องการเขียนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ อ่านแล้วคิดวิเคราะห์ได้ของเด็กด้วย
"สพฐ.จะมีกระบวนการ ส่งเสริมการอ่าน อย่างเข้มข้นมากขึ้น เน้นการอ่านแล้วคิด ใช้รูปแบบดิจิทัลมากขึ้น" อำานาจ วิชยานุวัต
อย่างไรก็ตาม ผลคะแนน PISA ปีนี้ จะช่วยให้ ศธ. สพฐ.ได้แนวคิดในการจัดทำสื่อการอ่านในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีอยู่แล้ว แต่อาจไม่เพียงพอ จะใช้เทคโนโลยีสามารถทำให้เด็กได้อ่านคิดวิเคราะห์ อ่านแล้วจับใจความได้ เข้าใจเนื้อเรื่องผ่านสื่อต่างๆ ที่เด็กเข้าถึงได้ทุกที่