เปิด 4 ปมโต้แย้งคดีเงินกู้ อนค.รอดหรือร่วง?
ท่าทีของ "หัวหน้าทอน" นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ต้องบอกว่าพลิกรายวัน แม้แต่เรื่อง "เงินกู้" ที่กำลังเป็นประเด็นถูก กกต.ตรวจสอบอยู่ในขณะนี้
ก่อนหน้านี้พรรคอนาคตใหม่โอดครวญร้องขอให้ กกต.ขยายเวลาการส่งเอกสารหลักฐานเพื่อชี้แจงกรณีเงินกู้ออกไปอีก 120 วัน แต่เมื่อ กกต.ไม่อนุญาต ก็ออกมาบริภาษ กกต. และล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 7 ธ.ค. "หัวหน้าทอน" เลยบอกว่า กกต.ตั้งธงคดีนี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว ฉะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องส่งเอกสารเพิ่ม รอส่งศาลเลยทีเดียว
ยังไม่แน่ว่าถ้าสุดท้ายศาลตัดสินเป็นโทษกับพรรคอนาคตใหม่ จะมี "ลูกแถม" อะไรตามมาอีกหรือไม่
สำหรับคดีเงินกู้ของพรรคอนาคตใหม่ที่กู้จาก "หัวหน้าทอน" ราวๆ 191 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองนั้น คาดว่าจะถูกลงมติชี้มูลโดย กกต.ชุดใหญ่ ในวันพุธที่ 11 ธ.ค.นี้ ดูจากท่าทีของ กกต.ผ่านคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯ แล้ว เดาได้ไม่ยากว่าผลจะออกมาในทิศทางใด
ประเด็นในคดีที่มีการอ้างข้อมูลโต้แย้งกัน มีอยู่ 4 ประเด็นหลักๆ คือ
1. พรรคอนาคตใหม่กู้เงินจาก "หัวหน้าทอน" จริงหรือไม่?
เรื่องนี้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า "กู้จริง" เพราะนายธนาธรเองก็ไปพูดเรื่องนี้ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และยังแสดงข้อมูลไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.ด้วย
2. การที่พรรคการเมืองกู้เงินมาใช้จ่ายในกิจกรรมทางการเมือง สามารถทำได้หรือไม่?
ประเด็นนี้ยังมีมุมมองที่ขัดแย้งกันอยู่ โดยฝั่ง กกต.เห็นว่า การที่พรรคการเมืองกู้เงินมาใช้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทำมิได้ เพราะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 62 เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า พรรคการเมืองมีรายได้จาก 7 ช่องทางเท่านั้น คือ จากทุนประเดิม, จากค่าบำรุงพรรคการเมือง, จากการขายสินค้า, จากการระดมทุน, จากการรับบริจาค, เงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง และดอกผลจากรายได้ในทุกช่องทางที่กล่าวมา
ขณะที่ฝั่งพรรคอนาคตใหม่ ชี้แจงว่า "เงินกู้" ไม่ใช่รายได้ โดยยกหลักการว่าด้วยการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของบริษัทเอกชนมาอ้างว่า "เงินกู้" อยู่ในส่วนที่เป็น "รายจ่าย" ไม่ใช่รายได้ ฉะนั้นจึงไม่เข้าข่ายตามกฎหมาย เพราะเงินกู้ที่กู้มา ไม่ใช่รายได้ของพรรคอนาคตใหม่
แต่ประเด็นนี้ก็มีนักกฎหมายหลายคนออกมาแย้งว่า ในทางบัญชีของบริษัทเอกชน แม้เงินกู้จะเป็นรายจ่ายที่ต้องชำระคืน แต่เมื่อกู้มาแล้วและมีเงินเข้าบริษัท ก็ต้องถือเป็นรายได้เช่นกัน เพียงแต่เป็นรายได้ที่ต้องตั้งงบเพื่อจ่ายหรือชำระคืน (รายจ่าย) ในภายหลัง
3. เมื่อกฎหมายไม่ได้ห้ามพรรคการเมืองกู้เงิน แล้วพรรคสามารถกู้ได้หรือไม่?
ประเด็นนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ยังมีมุมมองขัดแย้งกันอยู่ ฝั่งกกต.ยังไม่เคยออกมาพูดชัดๆ มีแต่ฝั่งพรรคอนาคตใหม่ที่ออกมาอ้างว่า เมื่อกฎหมายไม่ได้ห้าม ย่อมสามารถทำได้
ขณะที่อีกด้านก็มีนักกฎหมายหลายคนออกมามองต่างมุมว่า พรรคการเมืองไทยมีฐานะเป็น "นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน" จึงไม่สามารถกู้เงินมาใช้จ่ายได้ เพราะไม่ใช่องค์กรทางธุรกิจ หรือที่เรียกภาษากฎหมายว่า "นิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน"
กฎหมายมหาชนนั้น จะกำหนดสิ่งที่ "ทำได้" เอาไว้ อะไรที่กฎหมายไม่ได้เขียนให้ทำ ถือว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกฎหมายเอกชน จะเขียนสิ่งที่ "ห้ามทำ" เอาไว้ สิ่งที่กฎหมายไม่ได้เขียน ถือว่า "ทำได้" ทั้งหมด...นี่คือความต่าง
ถ้าพิจารณาตามหลักนี้ ก็ต้องถือว่าพรรคการเมืองน่าจะไม่สามารถกู้เงินมาใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ และก็น่าแปลกที่พรรคการเมืองร่วมร้อยพรรค มีเพียงพรรคเดียวที่ใช้วิธี "กู้เงิน" มาดำเนินกิจกรรมทางการเมือง คือพรรคอนาคตใหม่
4. หากการกู้เงินของพรรคการเมืองเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีโทษถึงยุบพรรคหรือไม่?
ประเด็นนี้ กกต.ก็ยังไม่เคยออกมาพูดเหมือนกัน แต่ฝั่งอนาคตใหม่พูดซ้ำอยู่บ่อยๆ ว่า ไม่มีช่องทางยุบพรรคของพวกเขาได้
แต่ถ้าถามนักวิชาการอย่าง ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะนักรัฐศาสตร์ชื่อดัง จะพบมุมมองที่ต่างออกไป
อาจารย์สติธร บอกว่า การพิจารณาจะอยู่ที่การตีความว่า "เงินกู้" คือเงินอะไร หากตีความว่าเป็น "ประโยชน์อื่นใด" ที่ได้จากการบริจาคของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ก็จะเข้าข่ายมีความผิดทันที เพราะกฎหมายให้พรรคการเมืองรับบริจาคเงินหรือประโยชน์อื่นใดได้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อผู้บริจาค 1 รายใน 1 ปี เรื่องนี้บัญญัติไว้ในมาตรา 66
ถ้าพรรคการเมืองรับเงินหรือประโยชน์อื่นใดเกิน 10 ล้านบาท กฎหมายให้ริบเงินส่วนเกินตกเป็นของแผ่นดิน แล้วสั่งปรับพรรคการเมือง 1 ล้านบาท พร้อมเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี / ส่วนนี้บัญญัติไว้ในมาตรา 125
ส่วนการยุบพรรค ไม่มีระบุเอาไว้สำหรับความผิดนี้ ยกเว้นรับบริจาคเงินจากแหล่งที่มาที่ไม่ถูกต้อง เช่น เป็นเงินผิดกฎหมาย หรือรับบริจาคจากบุคคลหรือนิติบุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย จึงจะมีโทษถึงยุบพรรค ตามมาตรา 72, 74 ประกอบมาตรา 92(3)
แม้คดีเงินกู้ อาจไม่จบที่การยุบพรรค แต่ถ้าพรรคอนาคตใหม่ถูกชี้มูลความผิดจาก กกต. คดีนี้จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ และหากศาลชี้ว่าเป็นความผิด ก็มีสิทธิ์ที่หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ฉะนั้นถึงแม้ไม่ยุบพรรค แต่กรรมการบริหารพรรคโดนตัดสิทธิ์ทั้งหมด ก็น่าจะส่งผลกระทบไม่น้อยเหมือนกัน เพราะล้วนเป็นแกนนำคนสำคัญทั้งสิ้น
จากการตรวจสอบรายชื่อกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ในเว็บไซต์ทางการของพรรค มีทั้งสิ้น 16 คน ประกอบด้วย
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล, นางสาวกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ, นายชำนาญ จันทร์เรือง, พล.ท.พงศกร รอดชมภู, นายรณวิต หล่อเลิศสุนทร, น.ส.พรรณิการ์ วานิช, นายไกลก้อง ไวทยการ, นายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์, นายสุนทร บุญยอด, น.ส.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์, นายสุรชัย ศรีสารคาม, นายเจนวิทย์ ไกรสินธุ์, นายชัย ภักดีศรี, น.ส.จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ และนายนิรามาน สุไลมาน
สำหรับนายนิรามาน ก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค หลังจากโหวตสวนมติพรรค ด้วยการ "งดออกเสียง" ในการอนุมัติพระราชกำหนดการโอนกำลังพลฯ ซึ่งมติพรรคให้โหวต "ไม่อนุมัติ"
แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการคาดการณ์ เพราะถึงที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญหรือ กกต.อาจวินิจฉัยว่า พรรคอนาคตใหม่ไม่มีความผิด หรือผิดแต่ไม่มีโทษก็ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติบทกำหนดโทษสำหรับการกู้เงินเอาไว้ ฉะนั้นจึงต้องรอลุ้นด้วยใจระทึกว่าคดีนี้จะจบลงที่ตรงไหน