เปิดผล 2562 คนไทยมีอะไรพัฒนาบ้าง
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผย บทความเรื่อง ‘ความก้าวหน้าการพัฒนาคนของประเทศไทย’ ระบุว่าการพัฒนาคนในภาพรวมของประเทศมีความก้าวหน้าคงที่
ดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index - HAI) ในปี 2562 ชี้ให้เห็นว่าค่าดัชนีเท่ากับ 0.6219 ใกล้เคียงกับปี 2558 และ 2560
เมื่อพิจารณาพบว่า มีความก้าวหน้ามากขึ้นใน 4 ด้าน คือ ด้านการศึกษา ด้านชีวิตการงาน ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม และด้านคมนาคม และการสื่อสาร และ มีความก้าวหน้าลดลงใน 4 ด้าน คือ ด้านสุขภาพ ด้านรายได้ ด้าน ชีวิตครอบครัวและชุมชน และการมีส่วนร่วม
มีรายละเอียดในแต่ละด้านดังนี้
- ด้านที่มีการพัฒนาเพิ่ม
การศึกษามีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น แต่ต้องเร่งพัฒนาเชิงคุณภาพให้มากขึ้น โดยดัชนีย่อยด้านการศึกษาเท่ากับ 0.4743 เพิ่มขึ้น 0.0057 จากปี 2558 เนื่องจากนักเรียนอยู่ในระบบการศึกษายาวนานขึ้น สะท้อนได้จากอัตราการเข้าศึกษาในระดับมัธยมปลายและ ปวช. ที่เพิ่มจากร้อยละ 78.3 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 78.8 ในปี 2561 และจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่เพิ่มขึ้นเป็น 8.63 ปี จาก 8.51 ปี ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นผลจากมาตรการสนับสนุนทางด้านการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ โครงการเรียนฟรี 15 ปี กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) การจัดการศึกษาสำหรับผู้อยู่นอกระบบโรงเรียน อย่างไรก็ตาม คุณภาพการศึกษาในภาพรวมยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก สะท้อนให้เห็นจากคะแนนเฉลี่ยการทดสอบ O-Net ระดับมัธยมปลายที่มีคะแนนเฉลี่ยคงที่
ด้านชีวิตการงานมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตรและผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย ยังมีประกันสังคมค่อนข้างต่ำ โดยค่าดัชนีย่อยด้านชีวิตการงานเท่ากับ 0.7237 เพิ่มขึ้น 0.0183 คะแนน จากปี 2558 ซึ่งเป็นผลจากการเร่งขยายความครอบคลุมการมีหลักประกันสังคม ทั้งในกลุ่มแรงงานในระบบ และนอกระบบทำให้แรงงานที่มีประกันสังคมเพิ่มขึ้น โดยในปี 2561 ผู้มีงานทำที่มีประกันสังคมมีร้อยละ 42.24 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.27
ขณะเดียวกันแรงงานที่ประสบอันตรายจากการทำงานลดลงเป็นร้อยละ 8.82 จากร้อยละ 10.25 ในปี 2558 ขณะที่การจ้างงานและการทำงานต่ำอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก โดยในปี 2561 มีอัตราว่างงานที่ร้อยละ 1.05 และอัตราการทำงานต่ำระดับที่ 0.77 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2558
อย่างไรก็ตามในกลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตร ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย ยังมีประกันสังคมค่อนข้างต่ำซึ่งจะ ส่งผลถึงความมั่นคงในชีวิตการงาน รวมทั้งการขาดรายได้หลังเกษียณ
ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมมีดัชนีความก้าวหน้าของคนมากที่สุด แต่ยังคงต้องพิจารณาในเชิงคุณภาพของที่อยู่อาศัยให้มีความเหมาะสม โดยค่าดัชนีย่อยด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม เท่ากับ 0.8595 เพิ่มขึ้น 0.0267 คะแนน จากปี 2558 เนื่องจากการลดลงของประชากรที่ประสบอุทกภัยและภัยแล้ง การลดลงของสัดส่วน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้านพลังงานที่มีค่าเฉลี่ย 2.09 ตันก๊าซเรือนกระจกต่อคน และครัวเรือนมีบ้านและที่ดินเป็นของตนเองในระดับค่อนข้างสูงคือกว่าร้อยละ 70 อย่างไรก็ตาม การมีบ้านและที่ดินเป็นของตนเองมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากที่เคยมี ร้อยละ 75 ในปี 2555
นอกจากนี้ การเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอาจไม่สะท้อนในเชิงคุณภาพเนื่องจากไม่ได้สะท้อนสภาพของที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และเป็นที่น่าสังเกตว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันออก แม้จะเป็นพื้นที่ที่มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าพื้นที่อื่นแต่กลับมีสัดส่วนของการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยค่อนข้างต่ำ เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานทำให้สภาพการอยู่อาศัย ส่วนหนึ่งเป็นการเช่า และส่วนหนึ่งเป็นผู้ซื้อที่อยู่ระหว่างการเช่าซื้อหรือผ่อนชำระ
การคมนาคมและการสื่อสารมีความก้าวหน้าของการพัฒนาเพิ่มขึ้นมากที่สุด แต่ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนยังเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข โดยมีค่าดัชนีย่อยเท่ากับ 0.6774 เพิ่มขึ้น 0.1067 คะแนนจากปี 2558 เป็นผลมาจากการขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ ทำให้มีการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตได้ทั่วถึงมากขึ้น โดยพบว่า ร้อยละ 89.54 ของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป มีโทรศัพท์มือถือ เพิ่มจากร้อยละ 79.29 ในปี 2558 และ ร้อยละ 56.82 เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เพิ่มจากร้อยละ 39.32 ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังพบว่าหมู่บ้านที่ถนนสายหลักใช้การได้ตลอดปีมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 52.61 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 57.59 ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุบนท้องถนน ยังเป็นปัญหาสำคัญโดยมีจำนวนคดีเพิ่มสูงขึ้นเป็น 155 รายต่อประชากรแสนคน จาก 108 รายต่อประชากรแสนคน ในปี 2558
- ด้านที่มีการพัฒนาลดลง
ด้านสุขภาพแม้ว่าการพัฒนาสุขภาพได้มีการดำเนินงานอย่างมีคุณภาพ และมีความครอบคลุมทั่วถึงมากขึ้น แต่อัตราการเจ็บป่วยและสัดส่วนผู้พิการยังมีเพิ่มขึ้น โดยในปี 2562 ดัชนีย่อยด้านสุขภาพอยู่ที่ 0.5843 ลดลง 0.0252 คะแนน จาก ปี 2558 แม้ว่าการพัฒนาสุขภาพได้มีการดำเนินงานทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รวมทั้งการจัดบริการที่มีคุณภาพครอบคลุมทั่วถึงมากขึ้น
โดยจะเห็นได้จากประชาชนมีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดเพิ่มขึ้น การลดลงของอัตราทารกตายและมารดา รวมถึงการมีหลักประกันด้านสุขภาพของประชากรที่ครอบคลุมเกือบร้อยละ 100 อย่างไรก็ตาม ด้านการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนมีความก้าวหน้าลดลง สะท้อนจากอัตราทารกที่มี น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ การเจ็บป่วยของผู้ป่วยใน และสัดส่วนผู้พิการที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การเข้าสู่สังคมสูงอายุและวิถีชีวิตของคนในสังคมส่งผลให้แนวโน้มอัตราการเจ็บป่วยโรคเรื้อรัง การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น
ด้านรายได้ แม้ว่ารายได้เฉลี่ยของครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนคนจน หนี้ครัวเรือนและค่าสัมประสิทธิ ความไม่เสมอภาคของรายได้ (Gini-coefficient) มีค่าเพิ่มขึ้น โดยค่าดัชนีย่อยด้านรายได้เท่ากับ 0.5689 ลดลง 0.0226 คะแนน จากปี 2558 แม้ว่ารายได้เฉลี่ยของครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นเป็น 26,946 บาทต่อเดือนจาก 26,915 บาทต่อเดือน แต่การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนคนจน หนี้ครัวเรือนเพื่อการอุปโภคบริโภค และค่าสัมประสิทธิ์ ความไม่เสมอภาคของรายได้ (Gini-coefficient) ยังมีค่าเพิ่มขึ้น ทำให้ความก้าวหน้า ด้านรายได้ลดลง โดยสัดส่วนคนยากจนเพิ่มเป็นร้อยละ 9.85 ของประชากร จากร้อยละ 7.21 ในปี 2558 ครัวเรือนที่มีหนี้สินมีสัดส่วนร้อยละ 36.56 ของครัวเรือนทั้งหมด เพิ่มจากร้อยละ 34.46 และค่าดัชนีความไม่เสมอภาคของรายได้ (Gini-coefficient) เพิ่มขึ้นเป็น 0.453 จาก 0.445 ในช่วงเวลาเดียวกัน
ด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ และ ครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเดี่ยวทำให้ความก้าวหน้าด้านชีวิตครอบครัวและ ชุมชนลดลง โดยมีค่าดัชนีเท่ากับ 0.6470 ลดลง 0.0057 คะแนน จากปี 2558 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังคนเดียวเป็นร้อยละ 6.52 จากร้อยละ 6.03 ในปี 2558 รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเดี่ยว (หย่าและหม้าย) เป็นร้อยละ 23.50 จากร้อยละ 23.02 และการแจ้งความคดีชีวิต ร่างกาย เพศ และการประทุษร้ายต่อทรัพย์ที่เพิ่มเป็น 105.46 รายต่อประชากรแสนคน จาก 101.35 รายต่อประชากรแสนคนในช่วงเวลาเดียวกัน
ในทางกลับกัน การทำงานในเด็กอายุ 15-17 ปี มีสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 9.71 จากร้อยละ 11.29 ในปี 2558 ทั้งนี้ ดัชนีได้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิถีการดำเนินชีวิตที่คนมีการย้ายถิ่นในการทำงาน การอยู่เป็นโสดหรือหย่าร้างมากขึ้นรวมทั้งการเพิ่มขึ้นของครัวเรือนเดี่ยวส่งผลกระทบ ต่อความเข้มแข็งของครอบครัวที่เป็นหน่วยผลิตและบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศรวมถึงการดูแลบุคคลในครอบครัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ด้านการมีส่วนร่วม การใช้สิทธิ ในการเลือกตั้งสะท้อนถึงความก้าวหน้า ด้านการมีส่วนร่วมมีการพัฒนาลดลง โดยมีค่าดัชนี 0.5208 ลดลง 0.0852 คะแนน จากปี 2558 มีความก้าวหน้าลดลงมากที่สุด เนื่องจากมีการใช้ตัวชี้วัดประชากรที่ไปใช้สิทธิลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 แทนการไปใช้สิทธิเลือกตั้งซึ่งไม่มีการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 25548 โดยคะแนนผู้ไปใช้สิทธิลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 มีเพียงร้อยละ 59.40 น้อยกว่าผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งปี 2554 ที่มีร้อยละ 75.03 และการลดลงของครัวเรือนที่เป็นสมาชิกกลุ่มหรือองค์กรในท้องถิ่นโดยมีสัดส่วนร้อยละ 73.65 ลดลงจาก ร้อยละ 78.47 ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของจำนวนองค์กรชุมชนและครัวเรือน มีส่วนร่วมทำกิจกรรมสาธารณะของหมู่บ้านเพิ่มขึ้น