'สรรพากร' สั่ง 'แบงก์' ส่งข้อมูลธุกรรมการเงิน ม.ค.63

'สรรพากร' สั่ง 'แบงก์' ส่งข้อมูลธุกรรมการเงิน ม.ค.63

“สรรพากร” เผยสถาบันการเงิน ต้องรายงานข้อมูลธุรกรรมการเงินลูกค้า ตามกฎหมายอีเพย์เม้นท์ตั้งแต่ ม.ค.2563 เป็นต้นไป เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี   ทั้งยอดฝาก หรือรับโอนเงินตั้งแต่ 3 พันครั้งต่อปีขึ้นไป หรือทุกบัญชีรวมกันเกิน 400 ครั้ง มูลค่าเกิน2ล้าน

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่24 ธ.ค.2562 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวงฉบับที่355(พ.ศ.2562) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะของกระทรวงการคลัง เป็นกฎหมายลูกกำหนดวิธีการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายภาษีอีเพย์เมนท์ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่21ม.ค.2562

กฎกระทรวงดังกล่าว กำหนดให้สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน ต้องส่งรายงานธุรกรรมลักษณะเฉพาะให้กรมสรรพากร เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร

ทั้งนี้ ธุรกรรมต้องรายงานประกอบด้วย 1.ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่3,000ครั้งขึ้นไป 2.ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่400ครั้ง และมียอดของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่2ล้านบาทขึ้นไป

หากผู้มีหน้าที่รายงานไม่ปฏิบัติตาม อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจลงโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และ ปรับอีกไม่เกินวันละ 1หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ส่วนโทษสำหรับกรณีเจ้าพนักงานเปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษีอากรหรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน1ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ในปีแรกสถาบันการเงินต้องรายงานธุรกรรมทางการเงิน ทั้งเงินฝาก เงินโอน ทุกบัญชีรวมกัน ภายในวันที่ 31 ม.ค.2563 โดยเป็นข้อมูลตั้งแต่วันถัดจากวันที่กฎกระทรวงประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงสิ้นปี 2562 ส่วนปีต่อไปให้รายงานธุรกรรมตลอดทั้งปีปฏิทิน

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กฎหมายดังกล่าวกรมสรรพากรจะนำไปประกอบการพิจารณาภาษีเงินได้ โดยมีกลุ่มจับตา คือ ผู้ประกอบการออนไลน์ หรือกลุ่มค้าขายที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีจำนวนมาก โดยกรมฯจะใช้ข้อมูลการโอนเงินดังกล่าวไปประกอบการพิจารณากับข้อมูลอื่น เพื่อเรียกเก็บภาษีจากผู้ค้าออนไลน์ที่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้อง

ในปี 2562 กรมฯสามารถเก็บภาษีจากกลุ่มที่อยู่นอกระบบเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนรายเป็นเงินกว่า 1 พันล้านบาท และในปี 2563 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรตั้งเป้าหมายเก็บภาษีกลุ่มนอกระบบให้เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 แสนราย คิดเป็นเม็ดเงินภาษีราว 4 พันล้านบาท

สำหรับความคืบหน้ากฎหมายอีบิซิเนสซึ่งมีวัตถุประสงค์เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีผู้ค้าออลไลน์จากต่างประเทศนั้น ขณะนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมสรรพากรคาดการณ์พิจารณาแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณนี้ และ มีผลบังคับใช้ในต้นปีงบประมาณ 2564

ทั้งนี้ สาระสำคัญของกฎหมาย คือ ผู้ประกอบการในต่างประเทศที่เข้ามาประกอบธุรกิจในไทยจะต้องจดทะเบียนการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องมีภาระภาษีดังกล่าว   ปัจจุบันต่างประเทศในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วหรือOECDก็ประสบปัญหาเดียวกัน  โดยกลุ่มประเทศดังกล่าวก็ได้ออกกฎหมายในลักษณะเดียวกันกับไทย

157725166578