แนะรัฐรับมือความเสี่ยงเศรษฐกิจ เร่งอัดฉีดมาตรการกระตุ้น
ซีอีโอ แนะรัฐเตรียมความพร้อมความเสี่ยงทางการเงิน ความผันผวนของระบบ หวั่นกระทบการบริโภคการลงทุนในประเทศ เร่งยกระดับรายได้เกษตรกร เศรษฐกิจฐานราก กระตุ้นการบริโภคในประเทศให้ดีขึ้น ชี้รัฐต้องก้าวให้ทันเรื่องดิจิทัล เพิ่มทักษะบุคลากรก้าวให้ทันการเปลี่ยนแป
จากผลสำรวจ "100 ซีอีโอ เซอร์เวย์ : มุมมองเศรษฐกิจ-ธุรกิจไทย ปี 2563" ซีอีโอส่วนใหญ่ ต้องการให้ภาครัฐ เร่งเตรียมความพร้อมรับมือความเสี่ยงทางการเงิน เช่น ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและนโยบายของต่างประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการบริโภค การลงทุน รัฐต้องทำความเข้าใจธุรกิจในรูปแบบใหม่ให้ถ่องแท้ เพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมได้อย่างตรงจุด พร้อมเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐให้พร้อม ขณะที่ต้องหันมาลงทุนเพิ่มทักษะบุคลากรให้มีความก้าวทันเทคโนโลยี
ซีอีโอ แสดงความเห็นหนุนภาครัฐ ให้ความสำคัญกับความเป็น "ชาตินิยม" ช่วยกันอุดหนุน ธุรกิจและแบรนด์ของคนไทยที่ยึดมั่นในคุณธรรม โดยเฉพาะการใช้งบประมาณของรัฐ ที่ควรอุดหนุนช่วยธุรกิจของคนไทยก่อน ขณะเดียวกัน ควรเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรจากแค่การขายวัตถุดิบไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการสร้างงานสร้างรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจกับชุมชน ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ยกระดับรายได้เกษตรกรแเละเศรษฐกิจฐานรากให้ลืมตาอ้าปากได้ เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
- ก้าวทัน "ดิจิทัล"
ขณะที่ภาครัฐควรก้าวทันในเรื่องของดิจิทัล การเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อผลักดันให้ประเทศเป็น "Data Driven Country" ที่ต้องมาพร้อมการดูแลให้ประเทศมีความโปร่งใสเรื่องข้อมูล สร้างธรรมาภิบาลในหน่วยงานรัฐ และในรัฐบาลให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มซีอีโอในภาคการผลิต ยังต้องการให้พรรคร่วมรัฐบาลที่รับผิดชอบดูแลกระทรวงเศรษฐกิจ ร่วมกำหนดแนวทางการทำงานในการร่วมกันขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างทำ และกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคให้มากขึ้น ทั้งนี้เขาเห็นว่า ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยที่ลดลง ส่วนหนึ่งก็มาจากนโยบายรัฐที่ไม่ได้ตอบโจทย์อย่างตรงจุด ทั้งควรต้องปรับปรุงโครงสร้างทางการศึกษาให้เท่าทันต่อโลยุคใหม่ เตรียมบุคลากรให้พร้อมรับเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจะเป็นผู้ตามหรือเป็นผู้นำ ควรคิดและวางแผนให้ดี
- เร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ
ซีอีโอในกลุ่มค้าปลีก กลุ่มบริการอุปโภคบริโภค ต้องการให้ภาครัฐ มีการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการสร้างโอกาสทางการค้าในยุค Disruption ที่ต้องปรับตัวและพัฒนาธุรกิจให้สอดรับกับเทรนด์โลก สิ่งที่ซีอีโอย้ำมาก คือ เรื่องการสร้างคนในองค์กรให้พร้อม เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวประเทศจะได้เดินหน้าได้เร็ว
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ต้องการให้ภาครัฐออกนโยบายที่สนับสนุนเอกชนให้มากขึ้น เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจจะโตได้ก็ด้วยความสามารถและความทะเยอทะยานของเอกชน แต่ขณะนี้เหมือนโดนชะลอด้วยมาตรการที่ไม่เกื้อหนุน ทำให้ไม่คล่องตัวในการทำงาน
นอกจากนี้ในฝั่งของอุตสาหกรรมรถยนต์ ยังต้องการนโยบายของภาครัฐที่ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศในระยะยาว ไม่ใช่แค่ประชานิยมหรือตามกระแสโลกขอให้เน้นตั้งต้นแผนแห่งการอยู่รอดอย่างยั่งยืนในสิ่งที่สำคัญๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ พลังงาน รวมถึงการมองการจ้างงานอย่างเป็นห่วงโซ่ เป็นต้น
- ทำการเมืองให้นิ่ง
ทั้งนี้ รัฐควรมีมาตรการส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กให้มีพื้นที่ทำมาหากินได้ และระมัดระวังโครงการ หรือนโยบายที่เอื้อต่อองค์กรขนาดใหญ่มาก จนทำให้ธุรกิจขนาดเล็กๆ ไม่มีพื้นที่ ขณะที่ รัฐควรส่งเสริมศักยภาพท้องถิ่นให้เกิดความเข็มแข็ง มีความร่วมกันอย่างเป็นระบบ ทำให้นโยบายต่างๆ เป็นรูปธรรม และที่สำคัญควรต้องทำให้สถานการณ์การเมืองนิ่งมากที่สุด เพื่อให้เอกชนเกิดความมั่นใจ
ขณะที่รัฐบาลควรเริ่มสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มกลาง ในการช่วยให้ผู้ประกอบการคนไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้นรับมือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่จะมีผลต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย
ขณะเดียวกันมีสถาบันระหว่างประเทศ ทั้งธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และมอร์แกน สแตนลีย์ ได้คาดการณ์จีดีพีโลก รวมถึงเขตเศรษฐกิจก้าวหน้า ตลาดเกิดใหม่เศรษฐกิจกำลังพัฒนา ในปี 2562-2567
ขณะที่เศรษฐกิจไทย ปี 2563 มีหน่วยงานและสถาบันการเงินออกคาดการณ์มาเช่นเดียวกัน ได้แก่ สศช., ธปท., สศค., ศูนย์วิจัย กรุงศรีฯ, ศูนย์วิเคราะห์ ทีเอ็มบี, อีไอซี, กรุงไทย และซีไอเอ็มบีไทย ที่มองถึงจีดีพี การบริโภคเอกชน-ภาครัฐ การลงทุนเอกชน การส่งออก การนำเข้า จำนวนนักท่องเที่ยว เงินเฟ้อทั่วไป และดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย