วิธีเลือกหน้ากากสู้ 'ฝุ่นPM 2.5' พร้อมขั้นตอนสวมใส่ให้ถูกต้อง
เปิดประเภทของหน้ากากกันฝุ่นประเภทต่างๆ รวมถึงวิธีเลือกหน้ากากที่เหมาะสมในการใช้ป้องกัน "ฝุ่น PM 2.5" พร้อมเจาะขั้นตอนการสวมใส่ให้ถูกต้อง
สถานการณ์ "ฝุ่นพิษ" หรือ "ฝุ่น PM 2.5" ในกรุงเทพฯ เริ่มกลับมารุนแรงอีกครั้ง และมีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงและยาวนานมากกว่าปีที่แล้ว คนไทยที่อาศัยในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ คงต้องเริ่มกลับมาดูแลสุขภาพในช่วงฝุ่นถล่มเมืองกันให้มากขึ้น โดยวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้นคงหนีไม่พ้นการสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น แต่จะเลือกใช้แบบไหนดี? ถึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด มาหาคำตอบไปพร้อมกัน
- เปิดบทเรียน : หน้ากากอนามัย 101
รู้หรือไม่? หากคุณกำลังป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ การไอหรือจามในแต่ละครั้งทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกไปได้ไกลถึง 3 ฟุต เชื้อโรคที่ยังมีชีวิตเหล่านั้นจะลอยปะปนอยู่ในอากาศ ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดมีโอกาสได้รับเชื้อนั้นๆ ไปด้วย
จากงานวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า การใส่ "หน้ากากอนามัย" สามารถลดการแพร่กระจายของอณูเล็กๆ ที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนได้ถึงร้อยละ 80 ดังนั้นหากคุณมีอาการป่วยและมีอาการไอและจาม ก็ควรใส่หน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องออกไปในที่ชุมชนหรือต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในที่สาธารณะ เช่น ห้องเรียน ห้องทำงาน ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โรงแรม โรงพยาบาล รถโดยสาร เครื่องบิน โดยเฉพาะในห้องปรับอากาศ ฯลฯ
ในขณะเดียวกัน หน้ากากอนามัยนั้นยังสามารถใช้ป้องกันฝุ่นหรือสารเคมีจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ไม่ให้เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ได้ด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องรู้จักเลือกประเภทของหน้ากากอนามัยให้เหมาะสมกับการใช้งาน
- ประเภทของหน้ากากอนามัย
หน้ากากอนามัยมีหลากหลายแบบให้เลือกใช้งาน สำหรับหน้ากากอนามัยที่วางขายทั่วไปแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. หน้ากากอนามัย N95
สำหรับสถานการณ์ฝุ่นพิษ หรือ ฝุ่น PM 2.5 ในบ้านเรา หน้ากากอนามัยที่เหมาะสมที่สุด คือ หน้ากากอนามัย N95 เพราะมีประสิทธิภาพมากที่สุด สามารถป้องกันฝุ่นขนาดเล็กมากๆ ตั้งแต่ 2.5 ไมครอน ไปจนถึงพวกฝุ่นควันขนาดใหญ่ในสิ่งแวดล้อม และยังป้องกันเชื้อโรคชนิดต่างๆ ทั้งเชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อแบคทีเรียได้ดีที่สุดด้วย มีประสิทธิภาพในการกรองมากถึง 95% ที่สำคัญหน้ากากอนามัย N95 มีอายุการใช้งานนานประมาณ 3 สัปดาห์ สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ แต่เพื่อสุขอนามัยที่ดีควรจะเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 1-2 วันจะดีที่สุด
แต่หน้ากาก N95 มีข้อเสียตรงที่ราคาแพงกว่าหน้ากากอนามัยแบบทั่วไป และควรเลือกซื้อเฉพาะหน้ากากที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานของ NIOSH จะมีชนิด N,R,P และมาตรฐานยุโรป EN P1,P2,P3 เพื่อประสิทธิภาพในการใช้งานที่ดีที่สุด บางรุ่นก็จะมีช่องสำหรับหายใจออก (exhalation valve) ให้ด้วย บางรุ่นก็ไม่มี แต่ถ้าได้มาตรฐานตามที่บอกข้างต้นก็ถือว่ามีประสิธิภาพดีเช่นเดียวกัน
ข้อควรรู้: หน้ากาก N95 อาจไม่เหมาะที่จะใช้งานกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอด และหญิงตั้งครรภ์ เพราะลมหายใจจะผ่านเข้าออกได้ยากขึ้นเนื่องจากแรงต้านภายใน (หายใจลำบาก) และหน้ากากอนามัยชนิด N95 ออกแบบมาสำหรับผู้ใหญ่ หากนำมาให้เด็กใช้ต้องดูแลเป็นพิเศษ
2. หน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น
หน้ากากอนามัยแบบนี้เป็นร฿ูปแบบที่คุ้นตาพวกเรามากที่สุด เพราะมีขายตามท้องตลาดทั่วไป ราคาไม่แพง ใช้สำหรับสวมใส่เมื่อป่วยและมีอาการไอและจาม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคสู่ผู้อื่น หรือในยามที่โรคหวัดกำลังระบาด มีคนในที่ทำงานหรือผู้คนในรถสาธารณะป่วยกันเยอะๆ คนที่ยังไม่ป่วยก็สามารถสวมใส่หน้ากากป้องกันเชื้อโรคเหล่านั้นไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้ด้วย เพราะมีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นและกรองเชื้อโรคบางชนิดได้ดี เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา แต่ถ้าเป็นเชื้อไวรัส ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะเชื้อไวรัสมีอนุภาคขนาดเล็กมากในระดับไมครอน นอกจากนี้ก็ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ ต้องเปลี่ยนหน้ากากใหม่ทุกวัน แต่หน้ากากชนิดนี้ไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้
ข้อควรรู้: ทั้งนี้เคยมีผู้รู้ออกมาแสดงความเห็นในโลกออนไลน์เมื่อครั้งฝุ่นพิษถล่มกรุงเมื่อปีที่แล้ว ระบุว่า หากมีงบน้อย ไม่สามารถซื้อหน้ากากN95 บ่อยๆ ได้ ก็สามารถใช้หน้ากากอนมัยแบบเยื่อกระดาษพร้อมกับกระดาษทิชชู่ 2 แผ่นซ้อนกัน ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ดีใกล้เคียงกับหน้ากากN95 เลยทีเดียว แต่ก็ควรสวมใส่ให้มิดชิดที่สุดเท่าที่จะทำได้ (แม้จะมีประสิทธิภาพไม่เท่าหน้ากากN95 แต่ก็ดีกว่าไม่ใส่หน้ากากเลย)
3. หน้ากากอนามัยที่ผลิตจากผ้า
หน้ากากอนามัยที่ผลิตจากผ้ามีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับหน้ากากแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น แต่การใช้งานจะเน้นใช้สำหรับป้องกันฝุ่นละอองขนาดใหญ่ และป้องกันการกระจายของของเหลวจากร่างกาย เช่น น้ำมูกหรือน้ำลาย แต่ไม่สามารถกรองเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้ ดังนั้นหน้ากากแบบผ้าจึงไม่เหมาะสำหรับการใช้เพื่อป้องกันเชื้อโรคขนาดเล็กอย่าง เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส และไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้
ข้อควรรู้: หน้ากากแบบนี้เหมาะกับการใช้งานในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นควันขนาดใหญ่ เช่น คนทำครัวหน้าเตาย่าง คนเผาถ่าน งานไม้ที่มีฝุ่นขี้เลื่อย หรือการทำงานอื่นๆ ที่มีฝุ่นขนาดใหญ่และมีความฟุ้งกระจายมากๆ ซึ่งข้อดีของหน้ากากาแบบผ้าคือ สามารถซักทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ช่วยให้ประหยัดเงิน แต่ไม่ช่วยกรองฝุ่นพิษ
4. หน้ากากป้องกันมลพิษและสารเคมี
ส่วนหน้ากากประเภทนี้เป็นหน้ากากขนาดใหญ่แบบที่ต้องสวมใส่ครอบศีรษะ ใช้สำหรับป้องกันมลพิษโดยเฉพาะ สามารถป้องกันได้ทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สุดไปจนถึงฝุ่นละอองขนาดใหญ่ที่สุด ป้องกันควันพิษ ไอเสียรถยนต์ และไอระเหยของสารเคมีต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่ามันสามารถช่วยป้องกันฝุ่นพิษ หรือฝุ่นPM 2.5 ได้ด้วย แต่หน้ากากแบบนี้กลับไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่จะนำมาสวมใส่เพื่อป้องกันโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ
ข้อควรรู้: หน้ากากป้องกันมลพิษมีราคาสูงมาก เหมาะกับใช้ในโรงงานสารเคมี ไม่เหมาะสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน
อ่านมาถึงตรงนี้คงทราบกันแล้วว่าหน้ากากแบบไหนเหมาะสมที่สุดสำหรับใช้เพื่อป้องกันฝุ่นพิษ หรือ ฝุ่นPM 2.5 โดยสามารถสรุปได้ดังนี้ อันดับหนึ่ง คือ หน้ากาก N95 และรองลงมาคือ หน้ากากเยื่อกระดาษ 3 ชั้น พร้อมทิชชู่อีก 2 ชั้น นอกจากนี้ก็ควรดูแลตัวเองในด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หลีกเลี่ยงการออกนอกอาคารหรือที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงการเดินริมถนน และควรหาซื้อเครื่องฟอกอากาศมาใช้ในบริเวณที่อยู่อาศัยเป็นต้น
- 7 ขั้นตอนการสวมใส่หน้ากากให้ถูกต้อง
มาถึงวิธีการสวมใส่หน้ากากอนามัย N95 ให้ถูกต้องกันบ้าง เพื่อการป้องกันและช่วงกรองฝุ่นPM 2.5 ได้ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยกรมอนามัยได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการสวมใส่หน้ากากอนามัยไว้ดังนี้
1. เลือกใช้หน้ากากกันฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ที่ได้มาตรฐาน และเลือกขนาดที่เหมาะกับใบหน้า ครอบได้กระชับกับจมูกและใต้คางและใส่ได้แนบสนิทกับใบหน้า
2. ควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยชิ้นใหม่ทันที หากพบว่ามีรอยเปื้อนจำนวนมาก ชำรุด หรือชื้นแฉะ
3. หน้ากากอนามัยเป็นของใช้เฉพาะบุคคล ไม่ให้ใช้ร่วมกับคนอื่น
4. ควรล้างมือก่อนการสวมใส่และหลังการถอดออกทุกครั้ง
5. หน้ากากที่ถูกใช้งานไปแล้ว และต้องการเก็บไว้ใช้ใหม่ ให้พิจารณาว่ามีการเปื้อนมากน้อยเพียงใด ทำความสะอาดได้หรือไม่ โดยเฉพาะด้านที่สัมผัสกับอากาศภายนอก รวมทั้งไม่หัก/พับ/งอ เนื่องจากทำให้เสียรูปทรง และเกิดรอยยับ ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการกรองเชื้อโรคลดลง
6. การไอ จาม หรือพูดคุยขณะสวมใส่หน้ากาก อาจทำให้อากาศภายนอกรั่วเข้าไปได้ ดังนั้นต้องระมัดระวังให้หน้ากากให้มิดชิดแนบสนิทกับใบหน้าเสมอ
7. กรณีเป็นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือโรคปอด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะใช้หน้ากาก หรือหากไม่ป่วยแต่เมื่อสวมหน้ากากแล้วมีอาการมึนงงหรือคลื่นไส้ ควรหลบไปอยู่ที่ปลอดมลพิาแล้วถอดหน้ากากออกให้หายใจสะดวก และพบแพทย์
--------------------
อ้างอิง:
FB กรมอนามัย https://www.facebook.com/anamaidoh/posts/1588071184646615/