PM 2.5 ฝุ่นร้ายไม่เคยหายไป
การกลับมาเข้าขั้นวิกฤตอีกครั้งของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 นำไปสู่คำถามที่ว่าวันนี้เราตื่นตัว และตระหนักถึงความผิดปกติของสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นมากเพียงพอหรือยัง
การกลับมาของ "ฝุ่น" ละอองขนาดเล็ก หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ PM 2.5 ฝุ่นที่เล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอดและกระแสเลือดโดยตรง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังได้ ยิ่งเหมือนเป็นการย้ำว่า วันนี้สภาพอากาศที่เรากำลังเผชิญนั้น จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ฝุ่นจิ๋วเหล่านี้มีผลอย่างมีนัยยะให้เรามี “อายุขัยเฉลี่ยสั้นลง” อย่างน้อย 0.98 ปี ตามรายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO)หากยังจำกันได้ เราก็จะรู้ว่า ต้นเหตุของฝุ่นจิ๋วเหล่านี้นั้นมาจากหลายกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา โดยเฉพาะในเขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร ทั้งจาก ท่อไอเสียของยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิง ไม่ว่าจะดีเซล และแก๊สโซฮอล์ (ที่ช่วงหนึ่งถึงขั้นมีดราม่ายัดเยียดบทดาวร้ายตัวหลักให้) การเผาในที่โล่ง การผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการผลิต (ที่มีเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด จ.ระยอง และเขตควบคุมมลพิษหน้าพระลาน จ.สระบุรีนำโด่งเป็นหัวขบวนมา)
ในรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2561 ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ปัญหาฝุ่นจิ๋วเหล่านี้จะมีการสะสมในอากาศ ซึ่งค่าฝุ่นละออง PM2.5 จะเกินมาตรฐานในช่วงเดือนธันวาคม - มีนาคม ของทุกปี นั่นเท่ากับว่า จริงๆ แล้วปัญหาฝุ่น (รวมถึงหมอกควัน) ในบ้านเรานั้นไม่เคยหายไปไหน เพียงแต่ไม่ได้ถูกพูดถึงเท่านั้น
รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุถึงคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ในเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง PM 10 PM2.5 ก๊าซโอโซน หรือกระทั่งสารเบนซิน ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครก็ยังคงมีค่ามลภาวะที่เกินกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ซึ่งอยู่ในเกณฑ์สูงที่สุดของค่าระดับการวัดคุณภาพอากาศ
ข้อมูลฝุ่นร้ายที่ดูน่ากลัวจนทำเอาหลายคนไม่กล้าออกจากบ้าน แต่ยังมีความจริงที่อาจสยองกว่า เพราะอย่าคิดว่า อยู่แต่ในบ้านแล้วจะปลอดภัย นั่นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอีกเช่นกัน เพราะทราบหรือไม่ว่า ในบ้านเรา ถ้าไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ดีไม่ดี ค่าฝุ่นละออง อาจจะสูงกว่าข้างนอกอีกก็เป็นได้
ข้อมูลจากหน่วยภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุถึง ต้นกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 ภายในบ้านว่า เกิดขึ้นได้ทั้งจากควันจากการทำอาหาร ควันธูป จากเครื่องพิมพ์เอกสาร และเล็ดลอดเข้ามาจากภายนอก โดยเฉพาะถ้าบ้านใครอยู่ติดถนนใหญ่ ขอให้อย่าวางใจ เพราะฝุ่นไม่ได้หยุดลงแค่หน้าประตูบ้านอย่างแน่นอน
พร้อมกันนี้ก็แนะนำว่า ให้หมั่นตรวจสอบค่าฝุ่นในบริเวณใกล้เคียง ถ้าสภาพอากาศค่อนข้างดี มีค่าฝุ่นต่ำ ก็ให้เปิดประตู หน้าต่างเพื่อระบายอากาศ เพราะการปิดบ้านตลอดเวลา สามารถทำให้เกิดเชื้อรา และมีการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้นได้