เร็วเกินไปที่จะบอกว่า 'เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019' ไม่รุนแรง
ข้อมูลที่นานาประเทศรับรู้เกี่ยวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ทางตอนกลางของประเทศจีนในขณะนี้ คือ เกิดจากเชื้อ “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” ส่วนความรุนแรงของโรคยังไม่มีรายงานเผยแพร่ ต้องรอให้ทางการจีนค่อยๆทยอยเปิดเผยข้อมูล
แม้แต่องค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO)ก็ยังไม่สามารถที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019ได้ว่า “โรครุนแรง”หรือไม่ โอกาสการแพร่กระจายเป็นอย่างไร ทำได้เพียงการให้ข้อมูลเชิงหลักวิชาการเท่านั้นว่า “มีโอกาสที่จะติดต่อจากคนสู่คน และคนในครอบครัว” เนื่องจากข้อมูลในประเทศจีน มีรายงานว่าพบสามีป่วย และภรรยาซึ่งไม่เคยออกไปไหนหรือไปในพื้นที่ระบาด มีอาการป่วยด้วย จึงอาจเป็นไปได้ว่า “เชื้อสามารถติดคนในครอบครัวได้” แต่ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจน
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า ไวรัสในตระกูลโคโรนา ปัจจุบันมี 6 สายพันธุ์ย่อย และตัวใหม่ที่เมืองอู่ฮั่นเป็นสายพันธุ์ย่อยที่ 7 ซึ่งในจำนวนนี้ 2 สายพันธุ์ ก่อโรครุนแรง คือ โรคซาร์ส อัตราเสียชีวิต 10 % และเมอร์ส อัตราเสียชีวิต 30 % อีก 4 สายพันธุ์ย่อย ก่อโรคไม่รุนแรง โดย 30 %ของผู้ป่วยที่เป็นหวัดเกิดจากเชื้อ 4 สายพันธุ์ย่อยนี้ เพราะมนุษย์รู้จักกับเชื้อเหล่านี้มานาน 50-60 ปี จนร่างกายมนุษย์สามารถที่จะสร้างภูมิต้านทานมาสู้กับเชื้อได้
รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี อธิบายด้วยว่า เมื่อเจอเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ จะบอกว่าเชื้อรุนแรงหรือไม่ คือเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์แล้ว ก่ออาการเจ็บป่วยในคนรุนแรงหรือไม่ ซึ่งข้อมูลที่รับรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยที่ 7 คือ มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อและเสียชีวิตในจีนเพียง 2 ราย แต่ยังต้องรอการเปิดเผยข้อมูลว่าตัวใหม่นี้ที่สุดแล้ว จะอยู่ในกลุ่มที่ก่อโรครุนแรงหรือไม่รุนแรง และติดต่อจากคนสู่คนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของเชื้อโรคแม้จะก่อโรคไม่รุนแรง แต่หากปล่อยให้หมุนวนอยู่ในคน โอกาสที่จะกลายพันธุ์สามารถเกิดขึ้นได้
“ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ก่อให้เกิดโรคไม่รุนแรง หรือติอต่อจากคนสู่คนหรือไม่ ข้อมูลทั้งหมดยังอยู่ที่ประเทศจีน ส่วนในประเทศไทยพบผู้ป่วยเพียง 2 ราย และอาการไม่รุนแรง แต่การที่ไทยต้องยกระดับมาตรการเฝ้าระวังเป็นขั้นสูงสุด เพราะยังไม่รู้ว่าเชื้อนี้จะมีความรุนแรงหรือไม่ จึงต้องคิดว่าเชื้อมีความรุนแรงไว้ก่อน” รศ.(พิเศษ)นพ.ทวีกล่าว
ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า โรคปอดบวมอู่ฮั่น โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ การระบาดและการกระจายของโรค จะรุนแรงหรือกว้างขวาง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และอำนาจในการกระจายของโรค หรือที่เรียกว่า basic reproductive number ผู้ป่วย 1 คนกระจายโรคไปได้กี่คน ถ้า 3 คนตัวเลขนี้ก็จะเป็น 3 ถ้าโรคที่มีความรุนแรง การระบาดจะไม่กระจายมาก เพราะผู้ป่วยมีอาการรุนแรงไม่สามารถเดินทางไปได้ไกล เช่น อีโบล่า(Ebola) ถ้ารุนแรงถึงเสียชีวิตมาก การกระจายก็จะน้อย เพราะไวรัสที่อยู่ในคนที่ป่วยรุนแรง และ ถึงเสียชีวิตก็จะจบอยู่ตรงนั้น
อำนาจในการกระจายโรค หมายถึงผู้ป่วย 1 คนสามารถกระจายโรคไปได้กี่คน เช่น ซาร์ส มีอำนาจการกระจายโรคเท่ากับ 3 หมายความว่า ผู้ป่วย 1 คน จะมีผู้มารับช่วงเป็นโรค 3 คน และจาก 3 คนก็จะเป็น 9 คน แต่เนื่องจากโรคซาร์ส รุนแรงเสียชีวิตถึง 1 ใน 3 และคนป่วยเกือบทุกคนต้องนอนโรงพยาบาล จึงทำให้สามารถควบคุมโรคได้ และหมดไปในที่สุด ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดทั่วโลก โรคไม่รุนแรงโอกาสเสียชีวิตน้อยมาก เมื่อเป็นแล้วยังสามารถเดินทางข้ามประเทศได้ง่าย โดยที่ไม่รู้ จึงมีการกระจายได้ทั่วโลก ทั้งที่อํานาจการกระจายโรคไข้หวัดใหญ่ อยู่ที่ประมาณ 1.5 ถึง 2 เท่านั้นก็ยังระบาดใหญ่ทั่วโลกได้
โรคปอดบวมอู่ฮั่น ดูแล้วโรคไม่ดูแรง ผู้ที่เสียชีวิต 1 รายมีโรคประจำตัวอยู่ อัตราการกระจายโรค น้อยกว่า 1 เพราะยังไม่มีหลักฐานการติดต่อจากคนสู่คนก็ไม่น่าจะกระจายได้มาก ถ้ามีหลักฐานการติดต่อจากคนสู่คน และโรคไม่รุนแรง โรคนี้ก็จะพบได้ทั่วโลก และเป็นโรคทางเดินหายใจโคโรนาได้เช่นเดียวกับโคโรนาตัวอื่นที่พบได้บ่อยอยู่แล้ว หรือเหมือนกับ ไข้หวัดใหญ่ ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีการประเมินความเสี่ยงของประเทศไทย พบว่า การเดินทางจากเมืองอู่ฮั่นมายังประเทศไทย มีผู้โดยสารขาเข้าเฉลี่ยวันละ 1,200 คน ส่วนคนไทยเดินทางไปประเทศจีนประมาณปีละ 7 แสนคน และอยู่อาศัยในประเทศจีนประมาณ 12,000 คน โดยเป็นนักเรียนนักศึกษาประมาณ 2 ใน 3 ซึ่งเมืองอู่ฮั่นมีนักศึกษาไทยไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ส่วนคนจีนเดินทางมาประเทศไทยปีละประมาณ 10 ล้านคน จากประชากรประมาณ 1,400 ล้านคน
สำหรับมาตรการเฝ้าระวังโรคและควบคุมโรคของประเทศไทย ประกอบด้วย 1.หารือกับสายการบินประเด็นการคัดกรองผู้เดินทางก่อนขึ้นเครื่อง และการทำความสะอาด การฆ่าเชื้อ ภายในเครื่องบินทุกเที่ยวบินที่มาจากเมืองอู่ฮั่น 2. ทำการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศใน 6 สนามบิน คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ และอู่ตะเภา 3.ขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลทำการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ และมีประวัติการเดินทางไปเมืองอู่ฮั่น และ4.การเฝ้าระวังในชุมชน โดยให้ความรู้ประชาชน เมื่อพบนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค มีอาการไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้แจ้งบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค DDC Hotline 1422
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ไทยแถลงพบผู้ป่วยยืนยันรายแรก ดร.แดเนียล เคอร์เทซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ร่วมแถลงด้วยและชื่นชมประเทศไทยว่า ประเทศไทยมีระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมและรักษาที่น่าชื่นชม โดยสามารถตรวจคัดกรองและยืนยันผลการติดเชื้อทางห้องปฏิบัติการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และขอให้ประเทศไทยแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเตรียมพร้อมมือกับโรค
“ถึงวันที่ 17 ม.ค.2563 ประเทศไทยมีรายงานพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสนี้ 2 ราย เป็นชาวจีนทั้งคู่และเดินทางจากอู่ฮั่นเพื่อมาเที่ยว ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ และนายกรัฐมนตรีกำชับให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริง อย่าปิดบังหรือปรุงแต่งข้อมูล” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าว