'พาณิชย์' เร่งหารือจีน ดันตลาดกลางผลไม้
กรมการค้าภายในเดินหน้าเชื่อมโยงตลาดกลางผลไม้ไทย-จีน หาตลาดรองรับให้กับผลไม้ไทยล่วงหน้าโชว์ระบบตรวจสอบสุดเข้มจับมือสายการบินให้หิ้วขึ้นเครื่องได้
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯจะดำเนินการเชื่อมโยงตลาดกลางสินค้าเกษตรที่จำหน่ายผลไม้ในความส่งเสริมของกรมฯ กับตลาดกลางผลไม้ของจีน เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีน ซึ่งเป็นการดำเนินการล่วงหน้ารองรับผลไม้ที่กำลังจะออกสู่ตลาด ทั้งลิ้นจี่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลำไย เป็นต้น
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้ทำการเชื่อมโยงตลาดมรกต ที่ตั้งอยู่ที่ จ.ชุมพร กับสมาคมการค้าเพื่อความยั่งยืนของเกษตรกร (CASA) และสมาคมตลาดสินค้าเกษตรจีน (CAWA) ไปแล้ว ทำให้ผลไม้จากไทยส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มขึ้นมาแล้ว
“การเชื่อมโยงตลาดกลางผลไม้ของไทยกับตลาดผลไม้ของจีน จะช่วยให้ผลไม้ไทยมีโอกาสในการส่งออกไปยังจีนได้เพิ่มขึ้น เพราะตลาดที่อยู่ในความส่งเสริมในปัจจุบันประมาณ 20 แห่ง"
ทั้งนี้กรมฯ มีแผนจะผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์จัดชั้นคุณภาพสินค้าเกษตร (AGQC)ซึ่งศูนย์นี้ จะให้บริการในด้านต่างๆ เช่นการคัดแยกคุณภาพสินค้า การตรวจสอบสารพิษสารตกค้าง การตรวจสอบโรคพืชและแมลง การบรรจุหีบห่อ และการเก็บรักษาคุณภาพสินค้า
สำหรับ ผลไม้ที่ผ่านการตรวจสอบจากศูนย์ฯ จะได้รับตรา AGQCไปติดไว้ ทำให้ผู้ซื้อเชื่อมั่นได้ว่าเป็นผลไม้ที่ดี มีคุณภาพและไม่ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพซ้ำอีกเมื่อสินค้าไปถึงปลายทางลดปัญหาผลไม้ช้ำเสียหาย เพราะเป็นสินค้าที่มีเงื่อนไขเรื่องเวลา การเก็บรักษา
นายวิชัยกล่าวว่า สำหรับผลไม้ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในเร็วๆ นี้ คือ ลิ้นจี่ โดยผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนก.พ.2563 เป็นต้นไป กรมฯ ได้เตรียมมาตรการรับมือไว้แล้ว โดยมีแผนที่จะเร่งระบายผลผลิตออกสู่ตลาดด้วยการร่วมมือกับสายการบินให้ผู้โดยสารสามารถโหลดขึ้นเครื่องได้ฟรี 20 กิโลกรัม (กก.) ต่อคน และจะเปิดให้มีจุดบริการกล่องบรรจุผลไม้ให้ ซึ่งปีที่แล้วทำสำเร็จกับผลไม้ในภาคใต้ เช่น มังคุด เงาะ และลองกอง มีสายการบินเข้าร่วม 4 สายการบิน แต่ปีนี้จะเพิ่มจำนวนสายการบินให้มากขึ้น
ส่วนมาตรการดูแลดูแลผลไม้ในภาพรวม กรมฯ ได้เตรียมมาตรการรับมือไว้แล้ว เช่น การดึงผู้ประกอบการและโรงงานมาทำสัญญาซื้อขายกับเกษตรกร การระบายผลไม้ผ่านห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และร้านธงฟ้า การจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคและจำหน่ายผลไม้ การเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการที่รับซื้อผลไม้ การดูแลโรงคัดและบรรจุผลไม้ (ล้ง) ให้รับซื้อเป็นธรรม เป็นต้น