ครูโอนิซึกะ ในแบบฉบับ “แทนไท” นักสื่อสารวิทย์ฯ ที่อยากเปลี่ยนความคิดเด็ก
การพูดถึง “แทนไท ประเสริฐกุล” อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับใครหลายคน เพราะเขาคือลูกชายของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ จิระนันท์ พิตรปรีชา เป็นพี่ชายของน้องชายสุดระห่ำอย่าง วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
แทนไท นักชีววิทยา วัย 40 ปี ซึ่งใช้ชีวิตและประสบการณ์คลุกคลีอยู่กับโลกวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะชีววิทยาที่เขาสนใจ โดยหนึ่งในไอดอลของเขา คือ ริชาร์ด ดอว์กินส์ (Richard Dawkins) นักชีววิทยาและนักเขียนชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงจากการเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางด้านพฤติกรรมศาสตร์และทฤษฎีวิวัฒนาการ และมีงานเขียนหลายเล่ม อาทิ The Selfish Gene, River out of Eden, The Blind Watchmaker และ The God Delusion
หลายคนคุ้นชินกับการเป็นนักเขียนที่มีหนังสือกวนๆ ปนสาระอย่าง โลกนี้มันช่างยีสต์, โลกนี้มันช่างยุสต์, mimic เลียนแบบทำไม และโลกจิต ความรักในการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ผนวกกับเทคโนลีการสื่อสารที่ก้าวไกล ทำให้ปัจจุบัน แทนไท และเพื่อนๆ ลุกขึ้นมาทำรายการสนทนาวิทยาศาสตร์ ในชื่อ “WiTCast”
แต่อีกหนึ่งบทบาทที่เราอาจจะไม่ได้มีโอกาสได้เห็น เว้นแต่ว่าคุณจะเคยเป็นนักเรียนที่นั่งเรียนในห้องเรียนม.ปลายวิชาชีวิวิทยา ที่มีคุณครูย้อมผมทอง ชื่อแทนไท เพราะครั้งหนึ่งเขาเคยสวมบทครูโอนิซึกะ ในหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นสุดโด่งดังอย่าง GTO คุณครูพันธุ์หายาก โดยใช้ความฮา พานักเรียน ม.ปลาย ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง จบไปแล้ว 1 รุ่น
แทนไท บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของความชอบวิทยาศาสตร์ว่า ตอนเด็กๆ เป็นเด็กที่ชอบสารานุกรมความรู้รอบตัว เช่น โลกใต้ทะเล โลกไดโนเสาร์ การ์ตูนญี่ปุ่นปลุกจินตนาการ เช่น โดราเอมอน เพราะมันมีอะไรบางอย่าง ที่เรารู้สึกว่า โลกนี้มีสิ่งที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์น่าค้นหา นั่นคือเสน่ห์แรกที่รู้สึกชอบวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์พาไปเปิดโลกเหล่านี้
“ตอนมัธยมฯ เรียนที่ ร.ร.สามเสนวิทยาลัย ในเมื่อเราชอบวิทยาศาสตร์ เราก็เลยตั้งใจเรียนในห้องเรียน พอตั้งใจเรียนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้รู้จักโครงการโอลิมปิกวิชาการ จึงตัดสินใจไปสมัครสอบแล้วก็ติด อยู่ ม.4 แต่เราอ่านหนังสือเรียน ม.6 จนจบแล้ว ยิ่งอยู่โครงการโอลิมปิก ก็ทำให้เราอินหนักเข้าไปอีก จากเด็กมัธยมปลาย ได้มีโอกาสเรียนรู้หลักสูตรของ ปริญญาตรี ปรากฏว่า การที่เราได้เรียนกับอาจารย์มหาวิทยาลัย เหมือนได้เปิดอีกโลกหนึ่ง"
จากความมุ่งมั่นตั้งใจ และความสนใจเป็นทุนเดิม ทำให้เขา สามารถคว้าเหรียญทองแดง การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ขณะที่เรียนอยู่ชั้น ม.6 กลายเป็นใบเบิกทางให้เขาไปศึกษาต่อปริญญาตรีที่ Cornell University สาขา Neuroscience and Animal Behavior ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นนักเรียนทุน ในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลไทยโดยความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- ครูโอนิซึกะ ในแบบฉบับแทนไท
แทนไท เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่บทบาทความเป็นครูว่า ตอนนั้นอายุ 20 ต้นๆ เรียนจบปริญญาตรีที่เมืองนอก แล้วกลับมาเมืองไทย ระหว่างนั้นก็อยากหางานพิเศษทำ จึงสมัครเป็นติวเตอร์บ้าง และมีคนชวนต่อๆ กันมาว่า โรงเรียนนี้ต้องการครูสอนชีววิทยาคนใหม่มาแทนคนเก่าด่วนมาก เราก็เลยคิดว่างั้นลองดู
“ตอนนั้นเป็นช่วงชีวิตที่ชอบลองอะไรหลายๆ อย่าง กับอีกเหตุผลหนึ่งคือ ช่วงนั้นการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง “GTO คุณครูพันธ์หายาก” กำลังดัง เลยอยากจะลองเป็นครูโอนิซึกะ สักช่วงหนึ่งของชีวิต ก็ย้อมผมทองไปสอนหนังสือ เหมือนในการ์ตูน GTO เลย ด้วยวัย 20 ต้นๆ ก็ถือว่าเป็นครูที่วัยไม่ต่างจากนักเรียนมาก จึงกลายเป็นแก๊งเพื่อนกัน สนุกสนาน”
- นักเรียนฉันต้องได้ดูจิงโจ้คลอดลูก
แทนไท เล่าต่อไปว่า ตอนที่ผมสอน ผมเป็นครูที่แหวกแนว กว่าชาวบ้าน เพราะผมตั้งใจทำสไลด์มาก สมัยนั้นอินเทอร์เน็ตยังไม่ได้เข้าถึงง่ายเหมือนสมัยนี้ ยูทูปเพิ่งจะมีเกิดขึ้นเอง ผมก็จะไปสรรหาสื่อการสอนมา เช่น ผมพูดเรื่อง จิงโจ้คลอดลูก เด็กจะต้องได้เห็นจิงโจ้คลอดลูก ผมก็ต้องไปสรรหาภาพ หาคลิปในยูทูป หาสไลค์มา วีซีดี ดีวีดี ผมก็ไปหามาตัดต่อเอง เอาฉากที่ผมต้องการมาใส่สไลค์ให้เด็กดู
“ความรู้ที่ผมสอน มักจะเน้นออกนอกตำราไปเลย สอนให้ว้าว สอนให้เด็กรู้สึกว่าโลกเรามันมีสิ่งที่น่าตื่นเต้นขนาดนี้เลยหรือ เหมือนที่ผมตื่นเต้นเองตอนเป็นเด็ก เอาสารคดีไปฉายบ้าง เอารูปสัตว์แปลกๆ ไปให้ดู แล้วอีกอย่างก็คิดว่า ต่อให้เด็กที่ไม่ได้เรียนจบไป จะไม่ได้ทำอะไรต่อด้านชีววิทยา แต่ขอให้เขาได้ทัศนคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป”
- 4 ปี กับการยุติบทบาทครูสายฮา
แทนไท เล่าต่อไปว่า ตนใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์การเป็นครูชีววิทยา ประมาณ 3 - 4 ปี สอนจากเด็ก ม.4 จนจบ ม.6 ไปหนึ่งรุ่น แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ต้องยุติบทบาทครูด้วยเหตุผลที่ยากจะอธิบาย การเตรียมการสอนเพื่อไปสอนชั่วโมงแรก กลายเป็นต้องไปสวัสดี กล่าวร่ำลานักเรียนแทน ไปแล้วนะไม่ได้สอนแล้ว เด็กร้องไห้ ลงมาส่งกันเป็นขบวน ซึ่งตัวผมเองก็ดราม่า ร้องไห้ไปหลายวันเหมือนกัน
หลังจากนั้นก็คิดว่า ไหนๆ ก็ไม่ได้เป็นครูแล้ว แต่ชอบในการถ่ายทอดเรื่องราวทางด้านวิทยาศาสตร์ จึงเข้าวงการเขียนหนังสืออย่างจริงจัง เขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ หลังจากโลกนี้มันช่างยีสต์ ก็มี โลกนี้มันช่างยุสต์, mimic เลียนแบบทำไม และโลกจิต จากนั้น วงการแปลก็เข้ามา ได้แปลหนังสือวิทยาศาสตร์อยู่พักหนึ่ง ระหว่างนั้น ก็เรียนปริญญาโท ด้าน Marine Science คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสุดท้าย ไปเรียนต่อปริญญาเอก ด้านชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- สื่อสารวิทยาศาสตร์ผ่าน “WiTcast”
หลังจากที่สื่อสารด้วยการเขียน แทนไท ได้มีโอกาสรู้จักกับ Podcast ราวๆ ปี 2550 ช่วงเรียนป.โท จากผู้ฟัง กลับกลายมาเริ่มจัดเอง ในปี 2555 โดยเป็นรายการพูดคุยเรื่องวิทยาศาสตร์ที่มีทั้งสาระและความฮา รวมถึงจับเอาผู้ที่มีความรู้ในด้านต่างๆ มาพูดคุยกัน ภายใต้ชื่อ WiTcast มีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คน ได้แก่ อาบัน - อาบัน สามัญชน และป๋องแป๋ง - อาจวรงค์ จันทมาศ กับสรรพคุณที่ผู้ฟังจะได้รับ คือ 1. WiTcast เป็นรายการคุยวิทย์ติดตลก ไว้พกไปฟังยามเปลี่ยวสมอง 2. WiTcast เป็นรายการวิทยะ ที่ไม่ต้องพึ่งวิทยุ 3. WiTcast เป็นรายการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการรีแล็กซ์ 4. WiTcast เป็นรายการที่เชื่อว่าการศึกษา มิใช่การเติมน้ำ แต่เป็นการจุดไฟ
แทนไท อธิบายว่า ระหว่างที่ทำ WiTcast ก็เรียนปริญญาเอกไปด้วยและจบเมื่อปลายปีที่แล้ว คราวนี้มีโจทย์ใหม่ว่าอยากกลับไปสอนอีกรอบ แต่รอบนี้จะเป็นระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังหาที่ลงอยู่ เพราะตอนนี้ก็ยังมีจิตใจที่อยากจะเป็นครูอยู่ จริงๆ สิ่งที่ผมเน้น คือ ความฮานี้แหละ เพราะผมชอบกับการที่สอนไปแล้วทำให้เด็กหัวเราะได้ มันบำบัดผมเองด้วย มันเป็นวิธีพูดที่เราเห็นฟีดแบคคนดูได้อย่างชัดเจน บางทีเราพูดซึ้ง เราดูหน้าเราไม่รู้ว่าเขาซึ้งอยู่หรือเปล่า แต่ถ้าเราพูดฮา เขาก็จะขำออกมา เราก็จะรู้เลยว่า โอเค เวิร์ค ก็เลยติดความฮามาตั้งแต่เด็กๆ
- “คิดว่าครูแต่ละคนก็คงจะมีสไตล์การสอนของตัวเอง คงไม่ใช่ทุกคนที่มาสายฮา แต่ผมยืนยันว่าสายฮา เวิร์คต่อการเรียนรู้มากสายหนึ่ง” แทนไท กล่าวทิ้งท้าย
สามารถติดตามเรื่องราววิทยาศาสตร์รอบตัวกับ WiTcast ได้ที่ https://www.witcastthailand.com เฟซบุ๊คแฟนเพจ : WiTcast และทางช่อง Youtube ของ WiTcast