ทำไมต้องยิง!? ไขสมองมือปืนปล้นทอง ลพบุรี
แม้แต่ฆาตกรต่อเนื่องก็ยังมีแรงจูงใจในการฆ่า เมื่อการที่ไปทำร้ายใคร หมายถึง การให้ตัวเองอยู่รอด โดยมี ปัจจัยที่นำไปสู่การลงมือฆ่าซึ่งสัมพันธ์กันระหว่าง กาย ใจ อารมณ์ และสังคมจำแนกได้ถึง 9 ลักษณะ
ข่าวการจับตัวผู้ก่อเหตุสะเทือนขวัญกราดยิงเสียชีวิต 3 ราย เพื่อจี้ชิงทองในห้างดังเมืองลพบุรี ที่เจ้าหน้าที่ใช้เวลา และความพยายามในการล่าตัวมือปืนมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้
ความอุกอาจไม่ว่าจะเป็น การใช้อาวุธปืนเก็บเสียงยิงเปิดทางใส่ชาวบ้านและพนักงานร้านทอง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 3 ศพ ในจำนวนนี้มีเด็กชายวัย 2 ขวบโดนลูกหลงเสียชีวิตด้วย ท่ามกลางความแตกตื่นของชาวบ้านที่เดินซื้อของในห้าง เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา
นอกจากแรงจูงใจในการเข้าปล้นร้านทอง คำถามที่สังคมต่างสงสัยไม่แพ้กันก็คือ ทำไมต้องฆ่า
“นิยามของการไปฆ่าคนอื่นมันก็คือการถูกกระทำ แต่ถูกกระทำในแง่ไหนอย่างไร นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง” ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา จากศูนย์พัฒนาศักยภาพมนุษย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) เคยให้ข้อสังเกตถึงมูลเหตุเบื้องต้นของการนำไปสู่การมุ่งเอาชีวิตที่เกิดขึ้นกับ กรุงเทพธุรกิจ
เธอเล่าว่า สัญชาตญาณพื้นฐานของคนเรานั้นมีทั้งเรื่องของการมีชีวิต และความตาย เชื่อมโยงกันอยู่มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว
“ปกติสัญชาตญาณของมนุษย์ในด้านจิตวิทยาเรามันก็มีอยู่แล้ว มันเป็นสัญชาตญาณของการมีชีวิตอยู่ และสัญชาตญาณของความตาย ความคิดที่จะฆ่าคนอื่นเกิดจากความคิดที่ต้องการทำลาย เพราะมันเกิดจากความแค้น หรือรู้สึกว่าตัวเองถูกกระทำ เพราะฉะนั้นเมื่อรูสึกว่าตัวเองถูกกระทำ การที่ไปทำร้ายใครนั่นก็หมายถึงการให้ตัวเองอยู่รอด การที่จะไปทำร้ายใคร ถ้าไม่ทำ เขารู้สึกว่าตัวเองอยู่ไม่รอด เหมือนกับถูกกดดันในระดับหนึ่ง เพราะเจอคนปกติอยู่ๆ เราจะคิดฆ่าคนอื่นหรือเปล่า ก็ไม่ ถ้าเขาไม่ได้มาล้ำเส้นตัวเรา”
ขณะที่ ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาโครงการศูนย์ฯ แยกปัจจัยที่นำไปสู่การลงมือฆ่าซึ่งสัมพันธ์กันระหว่าง กาย ใจ อารมณ์ และสังคมไว้ 9 ลักษณะได้แก่
- ความแค้น
- แผลใจ (Trauma) หรือ ภาวะสะเทือนขวัญ
- ภูมิหลังของบุคลิกภาพ (Sociopathic)
- การฆ่าโดยหน้าที่
- โรคจิต
- พฤติกรรมเลียนแบบจากสื่อ
- ลัทธิ
- ตระหนกตกใจ (Panic)
- อำนาจและผลประโยชน์
“อย่างการเกิดทรอมาขึ้นกับคนเราจะเกิดผลที่ตามมา 3 อย่างคือ โถมใส่ (ต่อสู้) ถอยหนี หรือนิ่งชั่วขณะ สมมติว่า เขาอยู่ในช่วงของวัยรุ่นพอโตขึ้นมาความแค้นมันระเบิดก็ไปฆ่าคนอื่น หรือพวกอาฆาตสังคมที่ถูกทำร้ายจากสังคม ซึ่งมีทั้งสิ่งมีชีวิต หรือสิ่งไม่มีชีวิต อย่างภัยธรรมชาติ ฝรั่งจะเจอบ่อย หิมะถล่ม เมื่อเขาจะถูกฆ่าฉะนั้นเขาจึงต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด หรือสังคมทอดทิ้งเขา เขาลำบากยากจนก็ไม่สนใจเขา คิดว่าโลกนี้โหดร้าย เขาจึงต้องการทำลายสังคม ไม่เกี่ยวกับจิตสำนึกที่เจาะจงว่าเป็นใครแล้ว ไม่เกี่ยวกับจิตไร้สำนึกที่มีตัวตนแต่จำไม่ได้ แต่นี่คือมันมั่วไปหมด เป็นใครก็ได้ ก็เป็นมือปืนอาชีพ รับจ้างฆ่า ทำร้ายได้หมด ไม่รู้สึกถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษ” เขาบอก
ขณะที่คำอธิบายใจฝั่งตำรวจกองปราบปราม ได้แยกประเภทแรงจูงใจตามหลักอาชญวิทยาในการก่อเหตุฆาตกรรมในมุมมองที่ต่างออกไป โดยตำรวจ แบ่งคนร้ายเกี่ยวกับการฆาตกรรมออกเป็น 4 กลุ่ม
- กลุ่มแรก คือ ฆาตรกรธรรมดา (Murderer) ฆาตรกรธรรมดาจะฆ่าคนด้วยสาเหตุพื้นฐาน
- กลุ่มที่สอง คือ ฆาตกรต่อเนื่อง (serial killer) กลุ่มนี้เป็นความผิดปกติทางจิต จิตใต้สำนึก
- กลุ่มที่สาม คือ การฆ่าแบบบันเทิงใจ ความผิดปกติทางอารมณ์ (spree killer) โดยเรื่องนี้การศึกษายังไม่เป็นวงกว้างมากนัก
- กลุ่มที่สี่ คือ ฆาตกรรมหมู่ (Mass Murder)
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้เกิดการประทุษร้ายจนถึงชีวิตจะมีหลายสาเหตุ แต่ทั้งหมดล้วนเป็น ‘ผลกระทบ’ ที่เข้าไป ‘ทำลาย’ และก่อให้เกิดเอกลักษณ์ความสูญเสียทั้งตัวตน ร่างกาย และจิตใจอันนำไปสู่พฤติกรรมการทำลายล้างของคนๆ นั้นในที่สุดนั่นเอง
“ถ้าไม่แค้นสุดๆ ก็ต้องตื่นตระหนกตกใจสุดขีด หรือมีทรอมาที่รุนแรงมาก เพราะคนยังมีเรื่องมโนธรรม และความกลัวอยู่ ยังต้องการมีความหวัง มีชีวิตที่ดี เพราะฉะนั้นเขาจะไม่ต้องการทำลายตัวเอง ถึงยังไงมนุษย์เราก็ยังมีสัญชาตญาณของการมีชีวิตอยู่” ทั้ง ดร.จิตรา และรศ.ดร.วัลลภ ยืนยัน
ร่างกายคนเราเปรียบเสมือนความลี้ลับแห่งจักรวาล ที่รวบรวมเอาศาสตร์แขนงต่างๆ ที่มนุษย์พึงรู้เอาไว้อย่างหมดจด เสียงหัวเราะดังขึ้นเมื่อพึงพอใจ น้ำตาไหลเมื่อเกิดความเสียใจและเจ็บปวด สีหน้าเกรี้ยวกราดเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจ ทั้งหมดเป็นความมหัศจรรย์ของสิ่งที่เราเรียกว่า ‘อารมณ์’
จากเอกสารประกอบการบรรยาย วิชา พฤติกรรมศาสตร์ ศ.ดร.พริ้มเพรา ดิษยวณิช ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า อารมณ์ก็เป็นพลังที่ทรงอำนาจอย่างหนึ่งของมนุษย์ทำให้สภาวะทางร่างกายถูกยั่วยุจนเกิดความเปลี่ยนแปลง และแสดงออกมาในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง คำพูด สีหน้า หรือท่าทาง โดยประกอบด้วยปฏิกิริยาทางอารมณ์ (Emotion Action) เช่น การวิ่งหนีจากสิ่งที่เรากลัว การตอบสนองทางระบบประสาทอิสระ (Autonomic Responses) เช่น หัวใจเต้นแรงขึ้นและเหงื่อออก บริเวณฝ่ามือเมื่อตกใจกลัว พฤติกรรมที่แสดงออกมา (Expressive Behavior) เช่น การยิ้ม หน้านิ่วคิ้วขมวด และความรู้สึก (Feelings) เช่น ความโกรธ ความปีติ ความเศร้าโศก
อารมณ์ความรู้สึกในทุกอากัปกิริยาที่คนเราแสดงออกมาจึงล้วมมีความสัมพันธ์กันแทบทั้งสิ้น แม้ขณะที่คนเรากำลังคิดที่จะฆ่าใครสักคนหนึ่ง!
ในรายงานฉบับดังกล่าวระบุอีกว่า ขณะที่ร่างกายประสบกับอารมณ์ที่รุนแรง ทำให้เรารู้ตัวว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายอย่าง อาทิ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วขึ้น ปากและคอแห้ง กล้ามเนื้อตึง เครียด เหงื่อออก แขนขาสั่น แน่นและอึดอัดในท้อง ซึ่งส่วนใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่เกิดขึ้นระหว่างอารมณ์รุนแรงเป็นผลจากการกระตุ้น Sympathetic Division ของระบบประสาทเสรี ซึ่งจะมีสารและฮอร์โมนหลายชนิดหลั่งออกมา ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกาย “สู้หรือหนี” (Fight or Flight) หัวใจก็จะเต้นแรงและเร็วขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น กล้ามเนื้อต่างๆ พร้อมที่จะต่อสู้หรือถ้าสู้ไม่ไหวก็จะหนี
การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาเมื่ออารมณ์เกิดขึ้น จะเริ่มจาก ความต้านทานทางกระแสไฟฟ้า (Electrical Resistance) ของผิวหนังลดลง ความต้านทานของผิวหนังเช่นนี้บางทีเรียกว่า Galvanic Skin Response (GSR) ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ปริมาตรของเลือดในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป หัวใจเต้นเร็วขึ้น บางรายอาจมีอาการเจ็บแปลบที่บริเวณหัวใจ การหายใจเร็วและแรงขึ้น รูม่านตาขยายทำให้แสงตกลงไปบนจอภาพ (Retina) มากขึ้น การหลั่งของน้ำลายลดลง ทำให้รู้สึกคอแห้ง ขนลุกชัน (Goose Pimples) การเคลื่อนไหวของกะเพาะและลำไส้ ลดลงหรือหยุดไปเลย เลือดจะเปลี่ยนทิศทางจากกระเพาะและลำไส้ไปยังสมองและกล้ามเนื้อลาย กล้ามเนื้อตึงหรือกระตุก และมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนประกอบของเลือดที่เห็นชัดที่สุดคือระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เพื่อทำให้พลังงานเพิ่มมากขึ้น
ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราโกรธแล้วใจจะสั่น หรือบางคนโกรธแล้วจะมีแรงมาก จนทำอะไรรุนแรงเกินกว่าเหตุหากไม่ยับยั่งชั่งใจ
ดร. วัลลภ ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้จากบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา เมื่อมีเรื่องของอำนาจ และผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องมันจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่เกิดการนองเลือดขึ้น อำนาจ และผลประโยชน์เป็นอะไรที่เหมือนกันทั่วโลก
“วงการมาเฟียจะเห็นค่อนข้างชัด แต่ถ้านักการเมืองเราอาจจะเห็นว่าเขาฆ่ากันด้วยวาจา แต่ถ้าเป็นอำนาจเมื่อไหร่เขาพร้อมจะฆ่าได้ทันที กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สส. คนที่พร้อมจะฆ่ามากที่สุดก็คือ เพื่อผลประโยชน์กับอำนาจ เวลาตำรวจสรุปสำนวน นักธุรกิจฆ่ากันตาย ประเด็นชู้สาว ก็คือความแค้น ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ทางธุรกิจ จะมีอยู่ 2 -3 กรณีนี้ที่ทำให้เกิดเหตุฆ่ากันตาย” ดร.จิตราเสริม
เธอบอกต่อไปว่า สิ่งที่น่าสังเกตในปัจจุบันคือระดับความรุนแรงในการกระทำต่อกันที่นับวันมีแนวโน้มเป็นเส้นกราฟพุ่งสูงขึ้น
“เราจะเห็นชัดเลยว่ากราฟวิ่งสูงมากขึ้น เพราะว่าสมองส่วนความคิดของมนุษย์ใช้ตัวเหตุผล ซึ่งทางดีมันก็ทำให้เจริญก้าวหน้า แต่ถ้าไม่ดีมันก็กลายเป็นความแค้น ปัจจุบันมีเรื่องหน้าตา ผลประโยชน์ มากขึ้น เพราะปัจจุบันมันต้องเอาตัวรอดมากขึ้น มีความกดดัน แก่งแย้งกันมากขึ้น คนที่ถูกกดดันกดขี่มันก็แค้น หรือสังคม เด็กที่ถูกทอดทิ้ง ก็เลยกลายเป็นว่าการฆ่ากันของคนเรานั้น แรงขึ้น น่ากลัวขึ้น เลือดเย็นขึ้นมาก เพราะมันเป็นการวางแผนฆ่ามากกวาแต่ก่อนที่เป็นเพียงสัญชาตญาณในการทำลาย คิดเตรียมแผนล่วงหน้าไว้ก่อน แต่ก่อนมันเป็นเรื่องฉับพลันทันที หรือแม้แต่ทำยังไงให้ตายทั้งเป็น ค่อยๆ ให้ยากินทีละนิด ตายแบบธรรมชาติ แต่ทรมาน”
สำหรับทางแก้ที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรงอย่างมีประสิทธิภาพในมุม รศ.ดร.วัลลภ บอกว่ามีวิธีแก้มีอยู่ด้วยกัน 5 วิธีคือ การให้คำปรึกษา การเจรจาต่อรอง การไกล่เกลี่ย การให้ผู้ใหญ่ (ศาล) ตัดสิน และหลักศาสนาที่สามารถไกล่เกลี่ยได้ในตัวเองอยู่แล้ว
“โบราณว่าไว้ คนเราไม่ควรจะพูดกัน 3 เรื่อง” รศ.ดร.วัลลภ เปิดประเด็นที่คนเราไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกันอันจะนำไปสู่ความรุนแรงได้อย่างคาดไม่ถึงก็คือ ศาสนา การปกครอง และสามีภรรยา
“อย่าไปคุยว่าศาสนาใครดีกว่ากัน มันก็จะเกิดเรื่องอย่างสงครามครูเสด ถ้าคุยว่าการปกครองใครดีกว่ากันมันก็เกิดสถานการณ์ทางการเมืองที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เถียงว่าระบอบนี้ดีกว่า ระบอบนั้นไม่ดี สุดท้ายเดี๋ยวก็ฆ่ากันตาย เรื่องที่สามก็คืออย่าคุยว่าสามีหรือภรรยาใครดีกว่ากัน มันก็จะเกิดความหมางใจกันในที่สุด”
เพราะไม่รู้ว่าหากพูดอะไรผิดพลาดออกไปแล้ว มีดในมือของคู่สนทนาอาจปักเข้าที่หน้าของเราเอาดื้อๆ ก็เป็นได้