10 คำทำนายในสิบปีข้างหน้า
10 คำทำนายในอีกสิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และการเมือง จะเปลี่ยนแปลงแค่ไหน
Global Vision ฉบับหน้าจะเป็นฉบับที่ 300 สำหรับผู้เขียนแล้ว การทำการบ้าน ตั้งอกตั้งใจเขียน
เพื่อเสนอแนวคิดวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกและไทยที่แตกต่างอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงคาดการณ์ทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่านในการวางแผนกลยุทธ์การลงทุน ธุรกิจ รวมถึงการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนภูมิใจมิใช่น้อย
เนื่องในโอกาสเข้าสู่ทศวรรษใหม่ ผู้เขียนจึงขอท้าทายตัวเองในการเขียน 10 คำทำนายด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และการเมืองในอีก 10 ปีข้างหน้า ในบทความฉบับนี้และฉบับหน้า เพื่อประโยชน์ต่อผู้อ่าน ดังนี้
1.ด้านเศรษฐกิจ : จะยิ่งโตต่ำลง เงินเฟ้อต่ำมาก และเกิดวิกฤตที่ลากยาว
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือห้วงเวลาของการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปี โดยใช้ทั้งเครื่องมือแบบธรรมดา เช่น การลดดอกเบี้ย ลดภาษี และเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงเครื่องมือพิเศษ เช่น มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
การกระตุ้นอย่างมหาศาลและยาวนาน รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป เช่น ภาวะสังคมสูงวัย และประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ที่ลดลง ทำให้เกิด (1) ภาวะหนี้ล้นพ้นตัวหรือ (Debt overhang) ที่ทำให้ภาครัฐ เอกชนและครัวเรือน บริโภคและลงทุนลดลง เนื่องจากต้องนำรายได้ไปจ่ายคืนหนี้ และ (2) Secular stagnation หรือภาวะเศรษฐกิจซึมตัวยาวนาน
และจะนำไปสู่ 3 เงื่อนไขในอนาคตคือ (1) เกิด Zombie company หรือบริษัทซอมบี้ อันได้แก่บริษัทที่มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์และควรจะปิดกิจการ แต่อยู่รอดได้ด้วยภาวะดอกเบี้ยต่ำ (2) เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ มีประสิทธิภาพน้อยลง และ (3) เศรษฐกิจและตลาดการเงินจะผันผวนและตกต่ำรุนแรงหากดอกเบี้ยเริ่มเป็นขาขึ้น
ด้วยภาวะเช่นนี้ เศรษฐกิจโลกในทศวรรษหน้าจะมีลักษณะ 3 ประการ คือ
(1) อัตราการเติบโตจะยิ่งต่ำลง โดยอาจจะโตเฉลี่ยในอัตราต่ำกว่า 3% ต่อปี
(2) เงินเฟ้อจะยังต่ำต่อเนื่อง โดยแม้ว่าสงครามการค้าจะทำให้เงินเฟ้อขึ้น แต่ภาวะสังคมสูงวัย (Aging Society) ความต้องการบริโภคและลงทุนที่อ่อนแอ ประกอบกับราคาน้ำมันที่จะไม่ปรับเพิ่มขึ้นอีกมากนัก จะทำให้เงินเฟ้อ ต่ำต่อเนื่องไปอีกยาวนาน และ
(3) จะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Recession) ในสหรัฐในช่วงปี 2022-3 อันเป็นผลจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายสุดโต่งทำให้เกิดฟองสบู่ขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะขาลง (Late cycle) และอ่อนกำลังลง จะทำให้หนี้ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่สูงขึ้น ขณะที่รายได้ขยายตัวลดลงทำให้บริษัทที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ต้องล้มละลาย และลุกลามทำให้ความเชื่อมั่นหมดลง และนำไปสู่วิกฤตและลุกลามทั่วโลกในที่สุด
ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้น ผลจากมาตรการการเงินการคลังภาครัฐ ประกอบกับคลื่นของเทคโนโลยีใหม่ (5G) จะทำให้ประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ของเศรษฐกิจปรับเพิ่มขึ้น
2.ด้านนโยบายเศรษฐกิจ: นโยบายการเงินจะหมดประสิทธิภาพ นโยบายการคลังและนโยบายการเงินใหม่ (MMT) จะเข้ามาแทนที่
ในอีก 10 ปีข้างหน้า นโยบายการเงินจะยิ่งหมดประสิทธิภาพ โดยในช่วงแรกของทศวรรษ ธนาคารกลางทั่วโลก จะยังคงลดดอกเบี้ย และทำมาตรการ QE ต่อเนื่อง ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงโดยรวมขยายตัวได้ แต่จะนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นและหุ้นกู้ ทำให้เมื่อใดที่เกิดความเสี่ยงธุรกิจล้มละลาย และ/หรือ เศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น จะทำให้ธนาคารกลางเริ่มจะขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือวิกฤตครั้งใหม่
ในวิกฤตครั้งใหม่นี้ ธนาคารกลางจะหมดกระสุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลต้องหันไปทำนโยบายการคลังแทน โดยจะหันมาทำนโยบายการเงินแบบใหม่ หรือ Modern Monetary Theory (MMT) โดยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะพิมพ์ธนบัตรเพื่อเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยตรง โดยไม่ผ่านตลาดการเงิน ซึ่งจะทำให้ประเทศอื่น ๆ เริ่มทำตาม ซึ่งการที่ธนาคารกลางต่าง ๆ เข้าทำ QE ในตลาดแรก จะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรไม่เพิ่มขึ้น แม้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นก็ตาม
3.การเมืองโลก: กระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์จะรุนแรงขึ้น
ในสามทศวรรษที่ผ่านมา เป็นยุคแห่งความรุ่งโรจน์ของกระแสโลกาภิวัฒน์ โดยมูลค่าการค้าโลกไปถึงจุดสูงสุดในปี 2014 ที่ 37.1 ล้านล้านดอลลาร์ และเริ่มลดลงหลังจากนั้น ขณะที่การกีดกันการเคลื่อนย้ายเงินทุน ผู้คน รวมถึงการลงทุนมีมากขึ้น โดยข้อมูลของ IMF บ่งชี้ว่า ปริมาณเงินทุนที่ไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จากประมาณ 10% ของ GDP เหลือประมาณ 2.5% ในปัจจุบัน
ใน 10 ปีข้างหน้า กระแสการเมืองโลกที่จะเข้าสู่ลัทธิชาตินิยม และต่อต้านโลกาภิวัฒน์จะยิ่งรุนแรงขึ้น พรรคฝ่ายขวาหรือซ้ายจัดที่ชูนโยบายดังกล่าวจะได้รับคะแนนนิยมมากขึ้น ขณะที่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่จะรุนแรงขึ้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง 3 ประการ คือ
(1) มูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจะยิ่งน้อยลง และหันมาผลิตในประเทศมากขึ้น โดยแต่ละประเทศจะหันไปผลักดัน "นโยบายอุตสาหกรรม" หรือการวางแผนเศรษฐกิจของตนเองมากขึ้น ทำให้การผลิตขาดประสิทธิภาพในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ
(2) กระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์จะหันไปสู่ด้านเงินทุนมากขึ้น ส่งผลให้การลงทุนทางตรงและลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกลดลง โดยทางการจะเริ่มปิดกั้นการไหลเข้าออกเงินทุน เพราะกังวลทั้งประเด็น "เงินร้อน" ที่ไหลเข้าออกประเทศอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินในประเทศ และ "เงินเย็น" ที่ชาวต่างชาติเจ้าของทุนจะเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการในประเทศแทนประชาชนในประเทศ
ขณะที่เมื่อพิจารณาจากมุมมองเศรษฐกิจ การค้าที่ลดลงก็จะทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสำหรับประเทศผู้ส่งออกลดลง นั่นแปลว่าการขาดดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย (ซึ่งก็คือการเป็นผู้รับเงินลงทุนสุทธิ) ก็จะน้อยลงไปด้วย และ
(3) การเคลื่อนย้ายแรงงานจะลดลง กระบวนการกีดกันต่าง ๆ จะทำให้การทำ Visa เข้าประเทศต่าง ๆ จะยากมากขึ้น (โดยเฉพาะนักเรียน นักท่องเที่ยว และแรงงานระดับล่าง) แต่ในอีกด้านหนึ่ง กระแสสังคมสูงวัยก็จะทำให้ความต้องการแรงงานมีฝีมือจะมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหาดังกล่าว เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี
4.ด้านสังคม : สู่การกระจายความมั่งคั่ง และภาษีฐานทรัพย์สิน
40 ปีก่อน สหรัฐและอังกฤษนำกระแส “การปฏิวัติเศรษฐกิจฝั่งภาคอุปทาน” (Supply-side Economic Revolution) หรือการปฏิรูปเศรษฐกิจด้านโครงสร้างการผลิต เพื่อให้ภาคการผลิตมีประสิทธิภาพขึ้น โดยลดกฎระเบียบ งดภาษีกำไรจากเงินลงทุน (Capital gain) และลดอำนาจต่อรองของแรงงาน และทำให้อำนาจต่อรองของบริษัทเพิ่มขึ้น
แต่หลังจากเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เป็นต้นมา ความรู้สึกต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์มีมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากคนในสังคม โดยเฉพาะคนชั้นกลางในประเทศเจริญแล้ว รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้แพ้ จากแรงงานและการผลิตที่ย้ายไปประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ที่ต้นทุนถูกกว่า ในขณะที่ในประเทศเจริญแล้ว ผู้ที่ได้ประโยชน์จะได้แก่ผู้ร่ำรวยและเป็นเจ้าของกิจการ จึงนำมาสู่แนวคิดที่จะเก็บภาษีฐานทรัพย์สินมากขึ้น เนื่องจากคนรวยมีทรัพย์สินมากกว่า
ดังนั้น ในสิบปีข้างหน้าจึงหมดเวลาของ “การสะสมความมั่งคั่ง” (Wealth accumulation) และเข้าสู่ “การกระจายความมั่งคั่ง” (Wealth distribution) นั่นคือเปลี่ยนแนวคิดจากการที่ภาครัฐจะสนับสนุนธุรกิจและผู้ประกอบการให้ทำกำไรได้อย่างไร เป็นภาครัฐจะสนับสนุนให้กระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียมได้อย่างไร
สำหรับบริษัทในอนาคตจะปรับตัวเป็น “องค์กรที่สมดุล” โดยจะรักษาสมดุลระหว่างผลกำไรและการคำนึงถึงผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย (Stakeholder) ในด้านการลงทุน กระแส ESG หรือสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลจะมีมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลทั่วโลกจะหันมาเก็บ “ภาษีความมั่งคั่ง” (Wealth tax) หรือภาษีฐานทรัพย์สินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน มรดก หรือเก็บจากความมั่งคั่งโดยตรง ซึ่งในสิบปีข้างหน้านโยบายเช่นนี้จะมีมากขึ้น
5.ด้านภูมิประชากร : สังคมสูงวัย สู่สังคมเมือง และการผงาดของชนชั้นกลาง
ประเด็นด้านภูมิประชากร (Demography) ที่สำคัญสูงสุดในอนาคตคือ ภาวะสังคมสูงวัย (Aging Society) โดยในปัจจุบัน ประชากรโลกมีประมาณ 7,600 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 8,500 ล้านคนในสิบปีข้างหน้า
ในช่วงสิบปีข้างหน้าจะเกิดภาวะ “เด็กหาย (แต่คนแก่เพิ่ม)” (Peaked youth) โดยจำนวนประชากรที่อายุต่ำกว่า 5 ปีจะมีจำนวนเท่ากับผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี ที่ประมาณ 650 ล้านคน แต่ในอีก 50 ปีข้างหน้าประชากรอายุต่ำกว่า 5 ปีจะมีจำนวนเท่าเดิม (หรือลดลงบ้าง) แต่ประชากรอายุมากกว่า 65 ปีจะเพิ่มขึ้นจนเกือบ 2,500 ล้านคน
สาเหตุเป็นเพราะวิทยาการทางการแพทย์ที่ทันสมัย และการคุมกำเนิดประชากรที่ได้ผล ทำให้อายุขัยของผู้คนยาวนาน ทำให้ความต้องการจับจ่ายลดลง โดยนอกจากค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์แล้ว ค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุในชีวิตประจำวันโดยเฉลี่ยแล้วน้อยกว่าผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและวัยเด็กโดยเปรียบเทียบ ส่งผลโดยรวมให้เงินเฟ้อต่ำต่อเนื่อง
กระแสที่สองได้แก่การผงาดของสังคมเมือง ที่มาพร้อมกับชนชั้นกลาง
เป็นธรรมดาของการพัฒนา ที่จะเปลี่ยนผันภาคเศรษฐกิจจากเกษตรสู่อุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดสังคมเมือง (Urbanization) รวมถึงการผงาดของชนชั้นกลาง โดย 50% ของประชากรโลกอยู่ในเมืองใหญ่ในปี 2010 จะเพิ่มขึ้นเป็น 60% ใน 2030 และกว่า 80% ของการเติบโตของสังคมเมืองจะอยู่ในแอฟริกาและเอเชีย ขณะที่จำนวนชนชั้นกลางก็จะเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉลี่ยในแต่ละปีจะเพิ่มขึ้น 150 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเอเชีย
ด้วยกำลังซื้อของคนชั้นกลางที่มากขึ้น ทำให้การซื้อสินค้าคงทน เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า รถจักรยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ รวมถึงบริการเช่น การท่องเที่ยว การสันทนาการ การศึกษา และการเดินทางมีมากขึ้นในสิบปีข้างหน้า
นอกจากนั้น แม้ว่าจำนวนประชากรสูงวัยจะมีมากขึ้น แต่ผู้ที่จับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่คือผู้ที่มีกำลังซื้อ อันได้แก่คน Gen X (วัย 40-55 ปีในปัจจุบัน) ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในจีน ญี่ปุ่น และยุโรป (และเป็นวัยที่มีกำลังซื้อสูงสุด) และ Gen Y หรือ Millennials (วัย 25-39 ปี) ที่เป็นวัยทำงาน (ที่มีความถนัดในเทคโนโลยี) และเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าและบริการที่แสดงถึงสถานะทางการเงิน สินค้าด้านเทคโนโลยี รวมถึงบริการสมัยใหม่ เช่น e-commerce, same-day delivery ที่ตอบโจทย์ทั้ง Millennials และ Gen Z (อายุ 10-24 ปี) ที่เกิดมาพร้อมเทคโนโลยี (Digital native) จะเป็นที่ต้องการมากในทศวรรษหน้าด้วย
6.ด้านภูมิรัฐศาสตร์ : จากสงครามเย็นสู่สงครามร้อน และการผงาดของโลกตะวันออก
คำถามสำคัญด้านภูมิรัฐศาสตร์ในสิบปีข้างหน้า ได้แก่ 1.สงครามเย็นระหว่างสหรัฐและจีนจะแปรเปลี่ยนเป็นสงครามร้อนหรือไม่ และ 2.ความยิ่งใหญ่สหรัฐ (รวมถึงยุโรปและโลกตะวันตก) จะถดถอยและถูกแทนที่ด้วยจีนและโลกตะวันออกหรือไม่
ในประเด็นแรก สงครามทางทหารจะเกิดขึ้นได้หากผู้นำคำนวณว่าผลเสียจากการสูญเสียชีวิตและเศรษฐกิจน้อยกว่าศักดิ์ศรีและผลประโยชน์ระยะยาว ซึ่งผู้นำจีนจะคำนวณผลได้ผลเสียและคิดว่าไม่คุ้มที่จะทำสงครามทางทหารกับสหรัฐ แต่จะเล่นเกมยาว โดยดึงเกมให้หมดสมัยที่สองของทรัมป์ และตระเตรียมกำลังพลและเส้นทางอพยพของชาวจีนให้พร้อมกับสงครามนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นในครึ่งหลังของทศวรรษ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับผู้นำของสหรัฐและกระแสสังคมหลังยุคของทรัมป์เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่เกิดสงครามทางทหารระหว่างจีนและสหรัฐในครึ่งแรกของทศวรรษ แต่ความสัมพันธ์ของสองยักษ์ใหญ่จะแย่ลงเป็นลำดับ (Drifting apart) ทั้งในแง่ของการค้า การลงทุน เทคโนโลยี รวมถึงความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางทหารที่จะมีมากขึ้น
ในประเด็นที่สอง การถอยออกจากกระแสโลกาภิวัตน์ของสหรัฐและยุโรป ผ่านการเลือกผู้นำสุดโต่งอย่างทรัมป์ ขณะที่กระแสสังคมของยุโรปที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์มากขึ้น ทั้ง Brexit การกีดกันผู้อพยพ รวมถึงทำสงครามการค้ากับประเทศอื่นๆ จะทำให้ซีกโลกตะวันตกลดความสำคัญในเวทีโลกลงและหันมาเน้นความสำคัญในประเทศมากขึ้น
ในทางกลับกัน การผงาดของ 3 ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียเหนือ การรวมกลุ่มของอาเซียน และความร่วมมือของทวีปออสเตรเลีย จะทำให้เอเชียจะเริ่มเพิ่มความสำคัญใน 10 ปีข้างหน้า โดยผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มากที่สุดได้แก่จีน ที่จะผงาดขึ้นเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย
7.สิ่งแวดล้อม : มุ่งสู่ "โลกที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral world)"
ในปัจจุบัน อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยสูงกว่าเมื่อ 10,000 ปีก่อน (อารยธรรมของมนุษย์เริ่มเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก) ประมาณ 1 องศาเซลเซียส โดยสาเหตุหลักเกิดจากมนุษย์ หันมาใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาใช้ในการผลิตพลังงานมากขึ้น ทำให้เกิดปรากฎการณ์ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Effect)
1 องศาอาจดูไม่มาก แต่ก็ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจนเกาะอังกฤษถูกตัดขาดจากยุโรป และอลาสก้าถูกตัดขาดจากเอเซีย และนำไปสู่ภาวะโลกร้อนและกระทบต่อภูมิอากาศโลกให้ปั่นป่วน (Extreme weather) ในปัจจุบัน
ณ ปี 2030 หากมนุษย์ยังคงใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลด้วยระดับปัจจุบัน อุณหภูมิโลกจะขึ้นไปถึง 4 องศาฯ ซึ่งจะทำให้บ้านเรือนกว่า 600 ล้านหลัง รวมถึงเมืองใหญ่ๆ ที่อยู่ใกล้ทะเล เช่น เวนิส อัมสเตอร์ดัม ลอนดอน นิวยอร์ค รวมถึงกรุงเทพฯ จมใต้ทะเล
ผู้เขียนเชื่อว่าในครึ่งทศวรรษแรก โลกจะยังไม่คุมเข้มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจัง ทำให้อุณหภุมิอาจเพิ่มขึ้นอีก 0.5 องศาฯ ซึ่งจะทำให้ภูมิอากาศทั่วโลกปั่นป่วนมากกว่าปัจจุุบันจนในครึ่งทศวรรษหลัง จะมีการควบคุมอย่างจริงจัง พร้อมๆ กับรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะควบคุมการปล่อยคาร์บอนได้ในระดับหนึ่ง
ปัจจุบันกว่า 40 รัฐบาลทั่วโลกมีแนวโน้มออกนโยบายเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรงผ่านการเก็บภาษีเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยตรง หรือใช้ Cap-and-trade program โดยมีปริมาณการค้าคาร์บอนหรือ carbon trading แล้วไม่ต่่ำกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2017
ใน 10 ปีข้างหน้า นอกจากการใช้ระบบตลาดเพื่อควบคุมการปล่อยคาร์บอนแล้ว นโยบายรัฐบาลทั่วโลกจะให้การสนับสนุนแหล่งพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นแหล่งพลังงานมหาศาล โดยมีศักยภาพที่จะผลิตได้มากกว่าความต้องการมากกว่า 1,200 เท่า
นอกจากนั้น เราจะเห็นแนวนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม (Climate Action) มากขึ้น เช่น (1) สนับสนุนของที่ผลิตในประเทศ/ ในท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อลดการขนส่ง (2) นโยบายที่เกี่ยวข้องกับ Circular economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การตั้งเป้าสินค้าที่ผลิต/ใช้ จะต้องนำกลับมาผลิต/ใช้ใหม่ได้ 100% (renewable target) (3) กฎหมายสนับสนุนการค้าคาร์บอน เพื่อลดปริมาณภาคธุรกิจปล่อยก๊าซคาร์บอน (4) การห้ามผลิต/ห้ามใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาป และ (5) การเก็บค่าธรรมเนียมรถเข้าในเขตเมือง เป็นต้น
8.เทคโนโลยี โลกก้าวไกล การผลิต/ดำเนินชีวิตง่ายขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งมีมากขึ้น
ผู้ใดจะคาดคิดว่า เทคโนโลยีที่เพิ่งเป็นที่รู้จักไม่ถึง 20 ปีอย่างอินเทอร์เน็ต จะเป็นที่ใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยพลเมืองโลกกว่า 4.5 พันล้านคนสามารถเข้าถึง ณ ขณะนี้ (กว่า 60% ของประชากรโลก) และมีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อได้ถึง 3 หมื่นล้านเครื่องทั่วโลก ขณะที่มีจำนวนข้อมูลที่ถูกส่งถึงกว่า 57 Exabyte ทั่วโลกต่อเดือน (1 Exabyte = 1,000 Gigabyte)
ในอีก 10 ปีข้างหน้า อินเทอร์เน็ตจะเป็นสิ่งจำเป็น กว่า 90% ของคนบนโลกใบนี้จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ขณะที่จำนวนอุปกรณ์ และปริมาณข้อมูลที่ถูกส่งผ่าน จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 16 เท่าและ 77 เท่าตามลำดับ ซึ่งกลไกดังกล่าวถูกเรียกว่า Techechceleration หรือการเร่งตัวขึ้นของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต
แต่ความก้าวหน้า จะนำมาซึ่งวิกฤตและโอกาส โดยในประเด็นวิกฤต จะเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่หุ่นยนต์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและคิดได้ด้วยตนเอง (AI) จะเข้ามาทดแทนงานประจำของมนุษย์กว่า 50% ในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้งานที่มนุษย์จะสามารถทำอยู่ได้นั้น จะต้องอาศัยความรู้ความสามารถเฉพาะทางมากขึ้น ทำให้งานทั่วไปมีจำนวนลดลง รวมถึงทำให้รายได้ระหว่างผู้ที่ทำงานเฉพาะทาง และสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ กับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านั้นแตกต่างกันมาก
ในประเด็นของโอกาส Techechceleration จะทำให้เศรษฐกิจโลกผันไปเป็น Internet economy มากขึ้น โดยในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยเฉลี่ยมนุษย์จะมีปฏิสัมพันธ์กับเครื่องมือสื่อสารทุกๆ 18 วินาทีต่อครั้ง ต่างจาก 6.5 นาทีต่อครั้งในปัจจุบัน บริการใหม่ๆ จะเป็นที่นิยมในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น เลขาส่วนตัวบนมือถือ e-commerce การส่งของในวันเดียว เป็นต้น
ในขณะที่ภาคการผลิตก็จะก้าวหน้ามากขึ้นขณะที่ต้นทุนลดลง โดยบริการเช่น Crowd computing และ 3D Printing ทำให้บริษัทต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีระบบ Database ขนาดใหญ่ รวมถึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการผลิตสินค้าจำนวนน้อยชิ้น ในขณะที่บริการทางการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อย ก็จะผันไปสู่ Digital Banking รวมถึง Fintech มากขึ้น
นอกจากนั้น ใน 10 ปีข้างหน้า แนวโน้มของธุรกิจจะเป็น “ประสบการณ์นิยม” (Experiencerism) แทนที่จะเน้นวัตถุนิยม (Materialism) เช่นสมัยก่อน โดยมีประมาณการว่าสิ่งของมูลค่ากว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลกหรือ 80% ของสินค้าคงทน/กึ่งคงทนได้รับการใช้น้อยกว่า 20% ต่อเดือน ทำให้แนวโน้มที่ผู้คนจะซื้อสินค้าจะลดลง แต่จะใช้บริการเช่าเป็นครั้งคราวมากขึ้น อันจะนำไปสู่สังคมแบ่งปัน (Sharing Economy)
9. ทรัพยากร : มุ่งสู่ “รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle)”
จากคำทำนายที่ 7 ที่กล่าวว่าโลกในยุค 2030 จะเข้าสู่ภาวะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและอุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ ในอีก 5 ปีข้างหน้า สภาวะภูมิอากาศแปรปรวนจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ทางการทั่วโลกหันมาคุมเข้มการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
มาตรการดังกล่าว จะทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันทั่วโลกไปถึงจุดสูงสุด (Peak oil) ที่ประมาณ 105 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2025 จากปัจจุบันที่ประมาณ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่ (กว่า 20%) มาจากการคมนาคมขนส่ง ซึ่งการที่บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น เทสล่า Byd รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิม เช่น ฟอร์ด นิสสัน เบนซ์ พอร์ช หันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการผลิตแบตตารี่
ในปี 2025 กว่า 30% ของรถยนต์ที่ผลิตใหม่และจำหน่ายทั่วโลกจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากสมรรถนะที่ดีกว่า ประหยัดต้นทุนการดูแลรักษามากกว่า และปล่อยมลพิษน้อยกว่า และในปี 2030 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งอยู่บนท้องถนนทั่วโลกประมาณ 100 ล้านคัน จากจำนวนยานพาหนะทั้งหมดประมาณ 1.2 พันล้านคัน
ในส่วนของอาคารที่พักอาศัยและสถานที่ทำงานนั้น จะปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยขึ้นเพื่อให้บริโภคพลังงานน้อยลง (Smart building) เนื่องจากในปัจจุบัน กว่า 40% ของพลังงานและทรัพยากรทั่วโลก ถูกใช้ในอาคารสำนักงานและที่พักอาศัย ดังนั้น การปรับเปลี่ยนรูปแบบอาคารให้ประหยัดพลังงาน และใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำประปา และไฟฟ้า อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นจะเป็นแนวโน้มใน 10 ปีข้างหน้า
ในปัจจุบัน เพียง 10% ของอาคารในสหรัฐเป็น Smart building ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 30-40% ของอาคารในสหรัฐและกว่า 10% ของอาคารทั่วโลกในทศวรรษหน้า ทำให้มูลค่าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Smart building เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 จาก 6.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน
10.การทหาร : Military war ก้าวสู่ Proxy war การแข่งกันเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยี (Technological supremacy) การก่อการร้าย และการสั่งสมกำลังนิวเคลียร์
ดังที่กล่าวในคำทำนายที่ 6 ว่า ในสิบปีนับจากนี้ โอกาสของการเกิดสงคราม โดยเฉพาะระหว่างประเทศมหาอำนาจเบอร์หนึ่งอย่างสหรัฐ กับอันดับสองอย่างจีน ยังเป็นไปได้ยากเนื่องจากต้นทุนจะยังสูงกว่าประโยชน์แห่งสงคราม
แต่ประเด็นด้าน Security dilemma หรือการที่จีนกำลังเติบโต ทำให้สหรัฐมองด้วยสายตาไม่เป็นมิตรมากขึ้น และเริ่มหันมาเตรียมกองทัพให้พร้อมรบในสงครามขนาดใหญ่ (Large scale operation) ขนาดเดียวกับสงครามโลก รวมถึงพัฒนาอาวุธสมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง และหันมาโฟกัสเอเชียมากขึ้น ทั้งการซ้อมรบ การให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ประเทศในเอเชีย และขายอาวุธทันสมัยให้เอเชียมากขึ้น
ในฝั่งของจีนเอง ก็เผยแผ่อิทธิพลเข้ามาในเอเชียมากขึ้น ทั้งผ่านโครงการ Maritime silk road ที่เป็นการพัฒนาประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก เมืองท่าในเอเชียใต้ แอฟริกา ตะวันออกกลาง รวมถึงยุโรป ผ่านการให้เงินกู้และความช่วยเหลือในการสร้างท่าเรือ และต่อสาย Fiber optic เพื่อเชื่อมต่ออินเตอร์เนทในโครงการ Digital Silk road ผ่านภาคเอกชนของจีนอย่าง Huawei นอกเหนือไปจากการที่จีนหันมาตั้งฐานทัพในทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกมากขึ้น
ทั้งหมดนี้ ทำให้ในอนาคต เอเชียจะ "เนื้อหอม" มากขึ้น และเสี่ยงที่จะเป็นพื้นที่ของ Proxy war ระหว่าง 2 มหาอำนาจเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่ความเสี่ยงของการเกิด "อุบัติเหตุ" ขึ้น โดยเฉพาะในคาบสมุทรไต้หวัน เกาหลี และทะเลจีนใต้
นอกจากนั้น สงครามขนาดเล็ก อันได้แก่ความขัดแย้งย่อย ๆ เช่น ระหว่างสหรัฐและพันธมิตรในตะวันออกกลาง (เช่น ซาอุฯ คูเวต และอิสราเอล) กับคู่แข่ง (เช่นอิหร่าน ลิเบีย และอื่น ๆ) จะยังมีอยู่ (ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงของการก่อการร้ายต่าง ๆ) แต่สงครามขนาดใหญ่ เช่น ระหว่าง จีนกับสหรัฐ น่าจะยังไม่เกิด แต่ทั้งสหรัฐและจีนจะสั่งสมกำลังอาวุธผ่านรูปแบบสงครามที่เปลี่ยนไปคือ สงครามเทคโนโลยี
ระบบ Splinternet หรือการแบ่งขั้วทางระบบ Internet จะรุนแรงขึ้น โดยสหรัฐและจีนจะแข่งกันมากขึ้นในด้านต่าง ๆ ของเทคโนโลยี เช่น ระบบ AI, ระบบโทรคมนาคม 5G, ระบบความปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการแข่งขันด้านการทหารในอวกาศ โดยจีนตั้งเป้าว่า ในปี 2030 จีนจะเป็นผู้นำด้าน AI แทนที่สหรัฐ ขณะที่ในปัจจุบัน จีนมีการจดสิทธิบัตร Quantum Computing มากกว่าสหรัฐแล้วถึง 2 เท่า (จีน 500: สหรัฐ 250) และจีนจะมีอำนาจแทนที่สหรัฐมากขึ้นในเอเชีย แอฟริกา และออสเตรเลียผ่านโครงการ Belt and Road Initiative หรือ BRI (ขณะนี้ครอบคลุม 60 ประเทศ และ 63% ของประชากรโลก) ซี่งจะทำให้จีนเผยแพร่ระบบอินเตอร์เนทของจีนมากขึ้น ทำให้จีนมีข้อมูลมหาศาลเพื่อให้ระบบ AI สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้มากขึ้น
ในทางกลับกัน กลยุทธของสหรัฐคือการใช้กฎระเบียบ (Regulation) ที่เข้มงวดขึ้นกับธุรกิจด้าน IT รวมทั้งเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรคว่ำบาตรธุรกิจ IT ของจีนด้วยการกล่าวหาว่ามีความเสี่ยงด้านการโจรกรรมข้อมูลทางไซเบอร์
นโยบายจีนที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี ตลาดที่ยังไม่อิ่มตัว และนโยบายเชิงรุกในต่างประเทศ จะทำให้จีนเป็นผู้ชนะในสงครามเทคโนโลยีในอนาคต แต่สำหรับการรบแบบปกติ (Conventional) แล้ว สหรัฐยังคงมีแต้มต่อเหนือกว่า ทั้งจากเทคโนโลยีด้านการทหารที่ล้ำหน้า และจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่มากกว่า (กว่า 1 หมื่นหัวรบ) ทำให้สหรัฐยังคงเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งด้านแสงยานุภาพทางการทหาร
อย่างไรก็ตาม ในสิบปีข้างหน้า จะเป็นทศวรรษแห่งการสั่งสมหัวรบนิวเคลียร์มากขึ้นเช่นเดียวกับช่วงทศวรรษ 70-80 ที่เป็นยุคสงครามเย็น นอกจากการใช้จ่ายด้านการทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเช่นกัน โดยเฉพาะมหาอำนาจอันดับรอง ๆ อย่างรัสเซีย และจีน ขณะที่ชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะตะวันออกกลาง และแอฟริกาอาจหันมาสั่งสมอาวุธเคมี ชีวภาพ รวมถึงโดรนที่มีอำนาจทำลายล้างสูงมากขึ้น
เศรษฐกิจแบบ New normal นโยบายการเงินหมดประสิทธิภาพ นโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำแทนการมุ่งเน้นประสิทธิภาพเศรษฐกิจ สังคมสูงวัยในเมือง การผงาดของโลกตะวันออก โลกที่เป็นกลางทางคาร์บอน เทคโนฯ ที่นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ รถยนต์ไฟฟ้า และ Splinternet คือ 10 คำทำนายของโลกในทศวรรษหน้า
ผู้อ่านทุกท่าน เตรียมพร้อมแล้วหรือยัง
[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]