‘วาเลนไทน์ 2020’ กับเทรนด์ความสัมพันธ์ยุคใหม่ที่ไร้ชื่อเรียก
ชวนสำรวจเทรนด์ความสัมพันธ์รับ “วาเลนไทน์” พบวัยรุ่นยุคใหม่ปี 2020 มีมุมมองความสัมพันธ์แบบ “ไร้ชื่อเรียก”
ภาพความรักอบอวลไปทุกที่ ทั้งดอกกุหลาบแดง ช๊อคโกแลตบาร์ ลูกโป่งหัวใจสีชมพู ถือเป็นเรื่องดีๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะวันวาเลนไทน์เท่านั้น ในวันอื่นๆ ก็ย่อมเป็นเรื่องดีเช่นกัน เพราะการมีคนที่รักย่อมดีกว่ามีคนเกลียด แต่เทรนด์ความรักของคนหนุ่มสาวในปี 2020 นี้ ความยุ่งยาก คือ การระบุสถานะที่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ความสัมพันธ์เข้าข่าย มากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “วาเลนไทน์ในสไตล์วัยรุ่นไทย” พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.11 ระบุว่า มีแฟน รองลงมา ร้อยละ 43.55 ระบุว่า ไม่มีแฟน และร้อยละ 1.34 ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าใช่แฟนหรือเปล่า และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ วาเลนไทน์ในสไตล์วัยรุ่นไทย ปี 2558 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า มีแฟน มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ไม่มีแฟน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
- ถูกใจ แต่ไม่ผูกพัน
ความสัมพันธ์ที่คลุมเครือ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด ที่เห็นชัดๆ คือ คำศัพท์ Friends with Benefits หรือ F.W.B. จากบทความปี 2561 “Psychology CU” ของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายความสัมพันธ์ที่เรียกว่า Friends with benefits แปลว่า ความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่ง ที่เพื่อนทำหน้าที่ร่วมหลับนอนกับเพื่อน
ในสังคมอเมริกัน เมื่อปี 2009 Bisson และ Levine ได้ทำการศึกษาในนักศึกษามหาวิทยาลัย พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 60% ระบุว่า ในช่วงหนึ่งช่วงใดของชีวิตเคยมีความสัมพันธ์แบบ Friends with Benefits และเกือบ 40% กำลังอยู่ในความสัมพันธ์รูปแบบดังกล่าว จะเห็นได้ว่า รูปแบบความสัมพันธ์ “เพื่อนกินเพื่อน” เกิดขึ้นได้ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงชีวิตของวัยมหาวิทยาลัยและหลังจากเรียนจบ
ที่น่าสนใจ คือ ผลการศึกษาเมื่อปี 2013 ของ Owen, Fincham และ Manthos พบว่า 1 ใน 3 ของนักศึกษาชาวอเมริกันสามารถกลับมาเป็นเพื่อนกันได้หลังเคยมีสถานะเป็น Friends with Benefits และ 15% ระบุว่า มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นจนอาจนำไปสู่การพัฒนาเป็นคู่รักในระยะยาวได้ แต่ 30% ของผู้ที่มีความสัมพันพิเศษกับเพื่อน แม้จะยังคงสถานะเพื่อนได้ แต่มีความห่างเหินและไม่สนิทใจกันเหมือนก่อน อีกทั้ง 20% ยุติความสัมพันธ์กับเพื่อนที่เคยเป็น Friends with Benefits
ถึงผลการศึกษาจะมีตัวเลขการันตีการไปต่อของความสัมพันแบบ Friend with Benefits ว่ามีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก แต่ถึงอย่างนั้นจุดเริ่มต้นของความสัมพันในเชิงหลักจิตวิทยาก็มาจากการถูกใจ ชอบพอ แต่อยู่ในระยะที่ไม่ต้องการผูกพันถึงขั้นเป็นแฟนกัน
นอกจากคำศัพท์ Friends with Benefits แล้วยังมีคำว่า One Night Stand ที่อธิบายอาการถูกใจแต่ไม่อยากผูกพันอีกด้วย
- It’s Complicated Relationship
หนังพล็อตเดิมอย่างการ เจอกัน ทำความรู้จัก จีบกัน รักกัน เป็นแฟนกัน และตัดจบแบบ Happy ending นั้น ดูเหมือนจะเชยไปแล้วในยุค 2020 เพราะการเข้ามาของเทคโนโลยีและเทรนด์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้กลุ่มคนหนุ่มสาวมีความสัมพันธ์แบบแฟนน้อยลง พ่วงด้วยอัตราการจดทะเบียนสมรสน้อยลงตามกัน
จากผลสำรวจข้อมูลทะเบียนสมรสประชากรไทยปี 2550-2560 นั้นคนไทยจดทะเบียนลดลง 5.1% สวนทางกับอัตราการหย่าที่พุ่งสูงขึ้นทุกปี
ดังนั้นแล้วความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ของกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยไม่ให้ซ้ำรอยและจบลงด้วยการหย่าแบบยุคเก่า คือ การศึกษากันมากขึ้น ช่วงระยะของการทำความรู้จักจึงยาวนานกว่า ซับซ้อนขึ้น สถานะแบบไร้ชื่อจึงแพร่หลายขึ้น และเป็นที่มาของ It’s Complicated states บนเฟซบุ๊คที่เราใช้กัน
แต่ใช่ว่าความสัมพันธ์แบบ It’s Complicated states จะไม่มีปัญหา เพราะความสัมพันธ์มันยากเสมอหากความต้องการของคนสองคนไม่ตรงกัน การตกลงปลงใจของการเป็น “สถานะไร้ชื่อเรียก” คือการยอมรับทั้งสองฝ่าย
แต่ในปัจจุบันความยากคือการไม่แน่ใจในความรู้สึกของฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นความสัมพันธ์แบบไร้ชื่อก็สามารถทำร้ายความรู้สึกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เช่นกัน จนเกิดคำศัพท์ใหม่เพื่อระบุอาการช้ำใจจากสถานะไร้ชื่อตามมา..
Ghosting : การ ‘จบความสัมพันธ์’ โดยที่ไม่มีการบอกเลิกให้เสียใจ
Fleabagging : ปรากฏการณ์การเดท ที่คนคนหนึ่งเลือกเดทกับคนผิดคน หรือเรียกว่าเดทกับ ‘คนที่ไม่ใช่’ อยู่เรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
Cushioning : การเตรียมรับมือหรือมีแผนสำรองไว้ เผื่อคนที่กำลังคุยอยู่เท
Blue-stalling : ความสัมพันธ์ไร้ชื่อ
ใครที่กำลังอยู่ในสถานะ “คนคุย” ไม่ต้องน้ำตาตกใน อาจจะเข้าข่าย ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม เพราะเรื่องความสัมพันธ์ต้องใช้เวลาและความเข้าใจ ไม่ต้องคาดหวังผลลัพธ์แบบหนังสองชั่วโมงจบเรื่อง สำหรับบางคนอาจจะมีเรื่องราวต่อเป็นหลายซีรีส์
อ้างอิง metro