ครม.ไฟเขียว ต่อสัมปทานBEMแลกค่าโง่
ครม.ไฟเขียว “บีอีเอ็ม” ต่อสัมปทานบริหารทางด่วน 3 สัญญารวม 15 ปี 8 เดือน แลกยุติข้อพิพาทรวม 17 คดี พร้อมอนุมัติศึกษาทางด่วนชั้น 2 ยาว 17 กม.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (18 ก.พ.) โดยระบุว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างสัญญาระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม) กรณียุติข้อพิพาททั้งหมดที่เกิดขึ้นรวม 17 คดี เพื่อแลกกับการแก้ไขสัญญาให้บีอีเอ็มเป็นผู้รับสัมปทานบริหารและจัดเก็บค่าผ่านทางทางด่วน 3 ฉบับ เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน โดยจะไปสิ้นสุดสัญญาพร้อมกันในวันที่ 31 ต.ค.2578
“17 คดีนี้ถ้าไม่ทำอะไร คดีมันก็จะยืดยาวกันไป ละเมื่อไหร่ที่รัฐฯ ไปสร้างทางแข่งขันก็จะเกิดปัญหาทะเลาะกันอีก กทพ.ก็กลุ้มใจมากนานแล้ว รวมทั้งก็ไปจ้าง ม.ธรรมศาสตร์ฯ ศึกษา ถ้ารอให้คดีตัดสินทั้งหมด จะเกิดมุลค่าข้อพิพาทที่ต้องจ่ายชดเชยกันสูงถึง 3 แสนล้านบาท วันนี้เมื่อสัญญาเก่าก็ยังไม่จบลง เรายังมีโอกาสที่จะเจรจาได้ ก็เป็นเวลาที่ดีที่เราจะเจรจาทั้งหมดให้ SET ZERO ในเรื่องนี้”
อย่างไรก็ดี หากประเด็นของการยุติข้อพิพาทไม่ถูกนำมาพิจารณาในวันนี้ สัญญาสัมปทานเดิมก็จะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 ก.พ.2563 ซึ่งจะส่งผลให้ กทพ.จะต้องเปิดประมูลเพื่อหาเอกชนเข้ามาบริหารใหม่ แม้ว่า กทพ.จะมีแนวคิดที่จะจ้างบีอีเอ็มรับบริหารไปก่อน ก่อนที่จะเจรจาสัญญาใหม่แล้วเสร็จ แต่ในแง่ของกฎหมายไม่สามารถทำได้ เนื่องจากกฎหมายร่วมทุนฉบับใหม่ กำหนดไว้ว่าการร่วมทุนรัฐและเอกชนต้องประมูลใหม่อย่างเดียว
นายวิษณุ ยังกล่าวอีกว่า เรื่องการก่อสร้างและปรับปรุงทางพิเศษชั้นที่ 2 (Double Deck) ที่ กทพ.ศึกษาว่าจะเป็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาการจราจร และทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ในการใช้ทาง โครงการนี้ถือเป็นปัญหาใหม่ กระทรวงคมนาคมจึงยังไม่มีการเสนอให่ไว้ในร่างสัญญาฉบับใหม่นี้ แต่เบื้องต้นทราบว่าจะมีการศึกษาสร้างทางให้ยาง 17 กิโลเมตร (กม.) และเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ซึ่งเอกชนไม่ติดปัญหา เพียงแต่ติดปัญหาเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเท่านั้น จึงให้เวลาเอกชนไปศึกษาและรอวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) อีก 2 ปี หากขณะนั้นพบว่าโครงการเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ไม่มีผลกระทบ ก็ให้กลับมาเสนอขอ ครม.เพื่ออนุมัติสร้าง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การทำสัญญาฉบับใหม่นี้ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ เพื่อลงนามสัญญาภายในวันที่ 28 ก.พ.นี้ เพื่อทำให้สัญญาต่อเนื่องกันทันที ส่วนเงื่อนไขของส่วนแบ่งรายได้ ยืนยันว่ายังคงในสัดส่วนเดิม คือ กทพ.ได้รับส่วนแบ่ง 60% และบีอีเอ็มได้ส่วนแบ่ง 40% นอกจากนี้ภายใต้สัญญาใหม่บีอีเอ็มยังมีสิทธิในการเจรจาต่อสัญญาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี แต่รัฐฯ ก็มีสิทธิในการพิจารณาไม่ต่อสัญญาก็ได้