มีผลวันนี้! เอกชนไม่รักษาผู้ป่วยโควิด-19 เจอโทษ
คลินิก-รพ.เอกชน ไม่รับรักษาผู้ป่วยโควิด-19ที่ถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน เจอโทษจำคุก-ปรับ มีผลบังคับใช้วันนี้
จากการที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 มีนาคม 2563
โดยเป็นการกำหนดให้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินจากสถานพยาบาลตามมาตรา 36 พรบ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และสถานพยาบาล ต้องช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ระดมทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยาและการจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศ 2 ฉบับดังกล่าวมีผลให้สถานพยาบาลเอกชนทั้งโรงพยาบาลและคลินิกตามพรบ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ต้องดำเนินการให้การดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19ที่ถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขฯที่กำหนด หากไม่ดำเนินการจะมีความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรา36 พรบ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541(แก้ไขเพิ่มเติม)พ.ศ.2559 ที่กำหนดให้สถานพยาบาลต้องช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้พ้นจากอันตราย ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ่านข่าว-เปิด '3ปัจจัย' จะทำโควิด-19 แพร่ระบาดในไทย