ลูกจ้างกลุ่มเสี่ยงโควิด กักตัว 14 วัน สามารถใช้สิทธิลาป่วย-ลาพักร้อน

ลูกจ้างกลุ่มเสี่ยงโควิด กักตัว 14 วัน  สามารถใช้สิทธิลาป่วย-ลาพักร้อน

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทบระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในหลายประเทศทั่วโลก จากตัวเลขของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานระบุว่า ในช่วงที่โควิด – 19 ระบาด ส่งผลให้มีสถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราว 19 แห่ง

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ออกมาตราการ ขอความร่วมมือนายจ้าง ลูกจ้าง ให้ปฏิบัติตามแนวทาง มาตรการเฝ้าระวังการป้องกันการแพร่ระบาด โควิด -19 ได้แก่

1. นายจ้างให้ความรู้ คำแนะนำ เกี่ยวกับการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด – 19 ให้แก่ลูกจ้าง จัดหาสบู่ เจลล้างมือแอลกอฮอลล์ ภายในสถานประกอบกิจการ

2. นายจ้าง ที่มีลูกจ้างทำงานรวมกันเป็นจำนวนมาก ควรตรวจคัดกรองลูกจ้างทุกคนก่อนเข้าทำงาน กรณีที่พบลูกจ้างป่วยจำนวนมากให้พิจารณาหยุดการผลิตทั้งหมด หรือบางส่วนชั่วคราว เพื่อให้ลูกจ้างพักรักษาตัวและลดการแพร่เชื้อโรค

3.หากมีลูกจ้างเดินทางไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคโควิด – 19 เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยให้ลูกจ้างไปตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังตามระเบียบ ประกาศและมาตรการตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

4. นายจ้างตรวจพบว่าลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด – 19 ไม่ว่าจะได้รับการตรวจคัดกรองโรคที่โรงพยาบาลหรือไม่ก็ตาม หากผลการตรวจคัดกรองยืนยันว่า มีความเสี่ยง ติดเชื้อ ถูกแยกกัก หรือ กักกันตัว จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ให้นายจ้างแจ้งพนักงานตรวจแรงงานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

5. เมื่อลูกจ้างพบว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด – 19 ให้ไปรับการตรวจรักษาหรือรับการชันสูตรทางการแพทย์ และแจ้งให้นายจ้างทราบเพื่อแจ้งเจ้าหน้าพนักงานควบคุมโรคโดยเร็ว

6. หากลูกจ้างถูกเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกักตัวไว้ที่ศูนย์ควบคุมโรคระยะเวลา 14 วัน ให้ลูกจ้างปฏิบัติตามคำสั่ง คำแนะนำขอพนักงานเจ้าหน้าที่โดยเคร่งครัด

7. กรณีที่ลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด – 19 จำเป็นต้องไปรับการตรวจรักษาหรือรับการชันสูตรทางการแพทย์ ให้นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างใช้สิทธิลาป่วย หรือลาพักผ่อนประจำปี ตามกฏหมายหรือตามที่ตกลงกัน

158391112725

  • ให้ลูกจ้างใช้สิทธิลาป่วย 

อภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตอนแรกเราไม่คิดว่าโควิด – 19 จะเป็นที่แพร่ระบาดกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ขณะนั้นเราพยายามจะดูว่า สถานประกอบการมีการรับรู้การแพร่ระบาดของโรคนี้มากน้อยแค่ไหน ทางกรมฯ ได้ออกมาตรการโดยเน้นการเฝ้าระวัง การป้องกันการแพร่ระบาด ให้กับสถานประกอบการเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา โดยมีการสำรวจสถานประกอบการว่ามีลูกจ้างในสถานประกอบการ ที่มีการติดเชื้อหรือไม่ จากการสำรวจในพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่ 10 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2563 ในสถานประกอบการทั้งหมด 701 แห่ง ลูกจ้างราว 3.6 แสนคน ยังไม่พบว่ามีลูกจ้างติดเชื้อไวรัสโคโรน่า

กระทั้ง วันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้ออกมาตราการขอความร่วมมือนายจ้าง ลูกจ้าง ให้ปฏิบัติตามแนวทาง มาตรการเฝ้าระวังการป้องกันการแพร่ระบาด โควิด -19 ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาว่ากรณีถูกกักกัน 14 วัน ลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างหรือไม่ ในประเด็นนี้เรามองว่าลูกจ้างถือว่าเป็นผู้ป่วย สามารถใช้สิทธิลาป่วยได้ สิทธิในการลาป่วยของลูกจ้าง ในกฏหมายคุ้มครองแรงงานยอมรับอยู่แล้ว โดยได้รับค่าจ้าง

158374958055

“ทั้งนี้ สำหรับลูกจ้างมี 2 ประเภท คือ “ตรวจเจอเชื้อ” และ “มีความเสี่ยง” ในที่นี้เรามองว่า มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเขาถึงให้กักตัว คนที่ไม่มีอาการโดยตรงก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายแรง ขอให้ใช้สิทธิลาป่วยไว้ก่อน หรือ ใช้สิทธิลาพักร้อนที่ลูกจ้างมีอยู่ หรือ ถ้าเป็นกรณีสัมผัสกับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด – 19 จำเป็นต้องกักตัวเอง 14 วัน ไม่ให้ไปปะปนกับคนหมู่มาก อาจใช้สิทธิลากิจ แต่ก็เกิดปัญหาว่า บางสถานประกอบการ เขาไม่ได้กำหนดให้ลากิจได้ หรือบางสถานประกอบการให้ลากิจได้ แต่การลากิจบางแห่งกำหนดให้ได้รับค่าจ้างตามกฏหมายได้ 3 วัน

  • No Work No Pay

อภิญญา กล่าวต่อไปว่า เรามองว่าในปัจจุบันความเดือดร้อนไม่ว่าจะเป็นนายจ้างหรือลูกจ้าง เดือดร้อนด้วยกันทั้งคู่ หากมีการพูดคุยกันได้จะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ถามว่าจะพูดคุยกันอย่างไรในกรณีนี้ การจ้างแรงงานเป็นเรื่องของสัญญาต่างตอบแทน หมายความว่าเราต้องทำงาน ถึงจะได้รับค่าจ้างตอบแทนในการทำงาน เพราะฉะนั้น ในกรณีที่ต้องกักตัวเอง 14 วัน หากคุยกันได้ก็อยากจะให้คุยกัน

“หากเป็นกรณีที่นายจ้างจ่ายอยู่แล้วก็ไม่มีปัญหา นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้หยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay) หรือให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างตามหลักสัญญาต่างตอบแทน (No Work No Pay) ไม่ทำงาน นายจ้างก็ไม่จ่ายค่าจ้าง หรือให้หยุดงานโดยจ่ายค่าจ้างตามจำนวนที่ตกลงกับลูกจ้าง ตลอดระยะเวลาที่หยุดงานก็ได้ แต่หากลูกจ้างมีสิทธิในการลาป่วยอยู่ ก็ให้ใช้สิทธิในการลาป่วย หรือมีสิทธิในการลาพักร้อน ก็ใช้สิทธิลาพักร้อนก่อน”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน คนเริ่มตื่นตัวกันมาก เพราะการนำเสนอของสื่อหลายสื่อ ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ มีนโยบายเรื่องการจัดสัมนาหากไม่มีความจำเป็นจริงๆ ก็ขอให้เลื่อนออกไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง เพราะโรคนี้เริ่มต้นไม่มีอาการ เหมือนปกติทุกอย่าง ทั้งนี้ มาตรการของทั้งหน่วยงานเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ ไม่แตกต่างกัน เพราะอิงจากมาตรการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก

  • หยุดกิจการชั่วคราว 19 แห่ง

สำหรับลูกจ้าง สิ่งที่สอบถามเข้ามาเยอะ คือ ถูกกักตัวแล้วจะได้สิทธิอย่างไร ได้รับค่าจ้างหรือไม่ ขณะที่ความเดือดร้อนส่วนใหญ่จะเป็นทางฝั่งผู้ประกอบการ เนื่องจากประกอบการไม่ได้ ขาดวัตถุดิบ เพราะประเทศจีน คนทำงานเขาไม่มี ต้องปิดโรงงาน และสินค้าที่เราจะนำเข้ามา ก็ไม่มี ดังนั้น ผลกระทบจึงเป็นในส่วนของผู้ประกอบการ เมื่อเขาผลิตสินค้าไม่ได้ จึงต้องหยุดกิจการชั่วคราว

158374958087

“สถานประกอบการส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบ เพราะไม่สามารถมีวัตถุดิบที่นำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งถือเป็นผลกระทบที่ทำให้นายจ้างมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ต้องใช้สิทธิตามมาตรา 75 ส่วนใหญ่หยุดอาทิตย์ละ 1 วัน เดือนหนึ่งหยุด 4 วัน หรือบางแห่งอาจจะงดการทำงานล่วงเวลา โดยช่วงที่ผ่านมา พบว่า หยุดกิจการชั่วคราวไป 19 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบราว 1 หมื่นคน แต่หยุดยาวตอนนี้ยังไม่มี”

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป เนื่องจากได้รับผลกระทบทุกกิจการ โดยธุรกิจบริการ ถือว่ากระทบหนัก เพราะทัวร์ไม่เข้า โรงแรม รถขนส่ง ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่แค่ที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวจีน แต่ไปทางฝั่งยุโรปด้วย กลายเป็นเราก็ไม่ไปประเทศเขา เขาก็ไม่มาประเทศเรา

“หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่ อนาคตอาจจะมีการหยุดกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว เพราะผลกระทบยังไม่หยุด ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงรอเวลา แต่ดูสถานการณ์แนวโน้มประเทศจีนก็เริ่มทรงตัว ผู้ป่วยลดลง ถือเป็นแนวโน้มที่ดี เพราะประเทศจีนที่เป็นต้นเหตุการแพร่เชื้อ เริ่มมีการออกมาจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะเมืองอู่ฮั่น เริ่มมีการออกมาขายข้าวของ คนก็ออกมาจากเมืองมากขึ้น ส่งสัญญานที่ดีว่า ถ้าประเทศจีนดีขึ้น ประเทศอื่นๆ ก็น่าจะดีขึ้นด้วย” อธิบดีกรมฯ กล่าว

8 แนวทางปฏิบัติกรมฯ

นอกจากนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ยังได้ออกมาตรการ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ป้องกัน โควิด – 19 ภายในกรมฯ โดยมี 8 ข้อปฏิบัติ ได้แก่

1. สวมหน้ากากอนามัยขณะปฏิบัติงานหรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หากมีอาการป่วยให้ไปพบแพทย์

2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด รับประทานอาหารปรุงสุกตามหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

3. งดหรือเลื่อนเดินทางไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข

4. หากเดินทางกลับจากประเทศที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ ให้เข้ารับการตรวจคัดกรองจากสถานพยาบาลโดยเร็ว ในระยะเวลา 14 วัน นับจากวันที่กลับเข้าไทย ให้สังเกตุอาการและระมัดระวังตนเอง

5. กรณีที่เจ้าหน้าที่ของกรมฯ ถูกเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีคำสั่งให้กักตัวไว้ที่ศูนย์ควบคุมโรคเป็นระยะเวลา 14 วัน ให้ปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำดังกล่าว พร้อมกับรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยเร็ว

6. ตรวจคัดกรองเจ้าหน้าที่ ประชาชน หรือผู้ที่มาติดต่อราชการทุกคน ณ บริเวณก่อนเข้าสถานที่ทำงาน

7. ติดตั้งแอลกอฮอล์เจลล้างมือให้กับเจ้าหน้าที่ ประชาชน หรือผู้ที่มาติดต่อราชการไว้ล้างมือได้บ่อยครั้ง

8. ทำความสะอาดอุปกรณ์และบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อย เช่น โต๊ะทำงาน คอมพิวเตอร์ ที่จับประตู ห้องน้ำ ราวบันได ลิฟต์โดยสาร รถยนต์ส่วนกลาง เป็นต้น

158374958038